กลายเป็นแอปยอดฮิตในช่วงที่ผ่านมาจริงๆ สำหรับ Clubhouse เป็นแอปพลิเคชันสำหรับการสนทนาด้วยเสียงที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้ โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างห้องสนทนา แล้วตั้งหัวข้อต่างๆ ที่ต้องการจะพูดคุย เพื่อให้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันเข้ามาฟังหรือร่วมพูดคุยด้วย ภายในห้องจะมีพิธีกร (Moderator) ที่สามารถอนุญาตให้ผู้ฟังมาเป็นผู้พูด (speaker) ร่วมสนทนาได้นั่นเอง
ในเรื่องนี้เอง ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด กูรูด้านการประชาสัมพันธ์ ให้ความเห็นว่าคลับเฮาส์เป็นเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์การสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาดได้ในยุคปัจจุบันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด แม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว แต่ยังไม่อาจมั่นใจได้ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ประชาชนจึงจำเป็นต้องรักษาระยะห่างทางสังคมและหลีกเลี่ยงการพบปะกันโดยตรง โดยเหตุผลที่แบรนด์ควรใช้คลับเฮาส์ก็มีอยู่หลายข้อด้วยกัน
อย่างแรกเลยคือเอาไว้ใช้สร้างความสัมพันธ์และชุมชนของตัวเองได้ การจำกัดการเข้าใช้งานทำให้คลับเฮาส์มีคุณค่ามากขึ้น แบรนด์จึงสามารถสร้างชุมชนของตัวเองด้วยการตั้งหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ ผลลัพธ์ที่ได้คือ จะทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ การใช้คลับเฮาส์เป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ที่สามารถนำมาทดแทนการจัดงานสัมมนา การจัดการประชุมระดับใหญ่ ที่มีห้องสัมมนาย่อยหลากหลายหัวข้อและผู้บรรยาย เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเลือกเข้าฟังในหัวข้อที่ตนสนใจได้ โดยคลับเฮาส์และการสัมมนามีบรรยากาศคล้ายกัน คือ เป็นการฟังสดแบบเรียลไทม์และไม่สามารถฟังย้อนหลังได้
อย่างต่อมาเลยคือ สร้างความชัดเจนให้กับแบรนด์ แน่นอนว่าการใช้คลับเฮาส์เป็นโอกาสของแบรนด์ในการแสดงตัวตนและจุดยืนของแบรนด์ ไม่ว่าจะด้วยการตั้งประเด็นสนทนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ หรือแม้แต่การเข้าร่วมห้องสนทนาของผู้อื่นแล้วใช้โอกาสนั้นในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และแสดงถึงตัวตนของแบรนด์ ขณะนี้มีผู้บริหารหลายองค์กรและนักสื่อสารการตลาดได้เข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น แต่ประเด็นด้านการเมืองที่กำลังมาแรงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่นักการสื่อสารการตลาดพึงระมัดระวัง
ขณะเดียวกัน ยังสามารถควบคุมคีย์แมสเสจ (key message) ในการสื่อสารได้ ขณะนี้มีสื่อและองค์กรหลายแห่งเริ่มนำมาใช้ในการจัดกิจกรรม เพราะพิธีกรของห้องสนทนาแต่ละห้องมีอำนาจในการกำหนดว่าผู้ฟังหรือผู้เข้าร่วมห้องสนทนาคนไหนสามารถพูดได้ สามารถปิดเสียงคนที่กำลังพูดอยู่ได้ จึงสามารถควบคุมสถานการณ์และทิศทางการสนทนาได้ง่ายกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทักษะปฏิภาณไหวพริบของพิธีกรด้วยที่จะทำให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น จากประสบการณ์ของคนที่เข้าใช้พบว่าคุณภาพเสียงมีความชัดเจน มีเสียงก้องและเสียงรบกวนน้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่น จึงเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือในการฟังเสียงผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง เพราะการสนทนาในคลับเฮาส์ต่างจากพอดแคสต์ตรงที่เป็นการสื่อสารสองทางระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังแบบเรียลไทม์ มีการถามตอบ แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ทันที แบรนด์จึงสามารถสำรวจความคิดเห็นที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์ได้โดยตรง ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริโภค ที่นำไปใช้ในการปรับแผนหรือวางกลยุทธ์การตลาด
ข้อสุดท้ายต้องเรียกว่าเป็น Audio is Power เสียงทรงพลัง ไม่ต้องแต่งตัวแต่งหน้า และไม่ต้องเดินทาง เสียงเป็นสิ่งที่ทรงพลัง ก็สามารถใช้เสียงเพื่อสร้างหรือส่งเสริมแบรนด์ได้เลย โดยไม่ต้องเห็นรูปร่างหน้าตา ไม่ต้องแต่งหน้าทำผม แต่ควรฝึกการพูดและการใช้เสียงให้มีพลังดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้ฟังเห็นภาพได้ชัดเจน เป็นการสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้นในใจกลุ่มเป้าหมาย
คงไม่มีใครตอบได้ว่าคลับเฮาส์จะได้รับความนิยมไปอีกนานแค่ไหน แต่ในยุคของวิถีชีวิตแบบใหม่และการเว้นระยะห่างทางสังคมในปัจจุบันนี้ แบรนด์ไม่ควรปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไป และควรนำข้อดีของช่องทางการสื่อสารต่างๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์กับผู้บริโภค และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์อีกด้วย.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |