ศบค.ชุดเล็กชงชุดใหญ่คลายล็อก 3 เฟส เริ่ม 1 เม.ย. ปรับลดโซนสีคุมโควิด ไฟเขียวเดินทาง-จัดกิจกรรมสงกรานต์ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึงแค่ 31 พ.ค. คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเคาะ "วัคซีนพาสปอร์ต" ลดวันกักตัวต่างชาติเหลือ 7-10 วัน "อนุทิน" ถก "บิ๊กตู่" แอสตราฯ พร้อมฉีดแล้ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ผู้มีติดเชื้อรายใหม่ 71 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 48 ราย แบ่งเป็นมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 41 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 7 ราย และเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 23 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 26,441 ราย หายป่วยสะสม 25,777 ราย อยู่ระหว่างรักษา 579 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 85 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก 117,437,928 ราย เสียชีวิตสะสม 2,605,094 ราย
สำหรับการจัดสอบรายวิชาของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564 ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งกำหนดการสอบ GAT/PAT มีผู้เข้าสอบ 257,274 คน ใน 77 จังหวัด สนามสอบ 209 แห่ง วิชาสามัญ 175,003 คน และโอเน็ต 387,139 คนนั้น ต้องมีมาตรการเข้มงวดไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด เช่น ห้องสอบแต่ละแห่งมีนักเรียนเข้าสอบไม่เกิน 30 คน และปฏิบัติตามมาตรการหลักของกระทรวงสาธารณสุข
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีการหารือกันในเรื่องของการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะภาคสังคมและเศรษฐกิจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำให้ ศบค.ชุดเล็กตระเตรียมเพื่อจะเสนอมาตรการผ่อนคลายให้มากขึ้นในวันที่ 15 มี.ค. โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการกำหนดมาตรการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก วันที่ 1 เม.ย. เราจะนับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งประเทศ และ ศบค.จะเสนอแผนมาตรการผ่อนคลายให้สอดคล้องกับการฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้นแล้ว และจะมีการพิจารณาปรับพื้นที่ ปรับสี และจะมีการหารือถึงชาวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามา ว่าจะมีการผ่อนคลายในเรื่องกระบวนการเข้าสู่ราชอาณาจักร การกำหนดมาตรการกักตัว ขณะที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) อาจจะมีการเสนอให้มีถึงวันที่ 31 พ.ค. แต่ยังคงพระราชบัญญัติโรคติดต่อไว้ที่อาจจะนำเสนอให้ใช้ในระยะที่สอง คือ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป
โดยวันเดียวกัน คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีการประชุมเรื่องการนำเสนอความก้าวหน้าในการให้บริการการฉีดวัคซีนที่มีการกระจายไปในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับก่อน และจากนี้จะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาที่จะต้องมีการวางแผนกระจายควบคู่กันไปด้วย ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงการกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศในสถานการณ์ที่เขารับวัคซีนมาจากประเทศเขามาแล้ว การจะเดินทางเข้ามาไทยต้องมีกระบวนการอย่างไร ต้องกักตัวกี่วัน ถ้าได้รับวัคซีนแล้วการดูแลอาจต้องแตกต่างกับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่สอดคล้องกับคนไทยในประเทศได้รับวัคซีนมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น จะทำให้การกักตัวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศในระยะต่อไปอาจมีการผ่อนปรนมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ระยะที่สาม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้จะนำเสนอ ศบค.ในวันที่ 15 มี.ค.
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีการหารือกันถึงวัคซีนพาสปอร์ต ซึ่งในอนาคตเมื่อมีการเปิดประเทศ และมีการเดินทางระหว่างประเทศ จะต้องมีวัคซีนพาสปอร์ต เป็นการแสดงตัวตนเพื่อให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ตามมาตรการที่แต่ละประเทศกำหนด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าต้องรอวัคซีนพาสปอร์ตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกที่จะออกโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างไรก็ดี ขณะนี้เราสามารถที่จะกำหนดประกาศนียบัตรที่เป็นการประกาศว่าผู้ฉีดได้รับวัคซีนถูกต้องตามมาตรฐาน WHO เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทาง กต.ได้คิดกระบวนการนี้ และเริ่มที่จะเสนอเพื่อให้สามารถทำได้ทันที จนเมื่อมีวัคซีนพาสปอร์ตมาตรฐานโลกแล้วเราก็ปรับเปลี่ยนประกาศนียบัตรนี้ให้ตรงตามมาตรฐานโลก
ส่วนที่สำคัญที่นายกฯ ได้เน้นย้ำคือเรื่องการกระจายวัคซีน และแผนต่างๆ ในการกระจายวัคซีน ต้องสอดคล้องกับแผนผ่อนคลายที่จะเกิดขึ้นด้วยการทำอย่างมีประสิทธิภาพและความร่วมมือจากประชาชนด้วย โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยว และนอกจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ด่านหน้าแล้ว การกระจายวัคซีนจะต้องไปถึง ตม. ศุลกากร ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ พลเรือนที่ถือว่าเป็นบุคคลเสี่ยงที่ทำงานอยู่ในสถานกักกันและทำงานในพื้นที่เสี่ยงหรือทำกิจกรรมเสี่ยง ทั้งนี้ ขอย้ำว่าวัคซีนเป็นอาวุธที่ช่วยลดอัตราป่วย ลดอัตราตาย แต่ยังไม่สามารถมีหลักฐานยืนยันได้ว่าจะลดการแพร่กระจายเชื้อ ดังนั้นยังจำเป็นต้องรักษาสุขอนามัยส่วนตัวตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
พญ.อภิสมัยกล่าวถึงมาตรการผ่อนคลายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ว่า ศบค.ได้เสนอกระทรวงวัฒนธรรมที่อาจจะมีการคิดรูปแบบการจัดงานสงกรานต์อย่างไร เพื่อเป็นการปรับวิถีชีวิตใหม่ให้เราทุกคนสามารถคงประเพณีของไทยไว้ได้ด้วย และมีการจัดการมาตรการที่สอดคล้องกับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้ด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการคลายล็อกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า เปิดในเรื่องการสัญจรการเดินทางในทุกพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีมาตรการรองรับว่าจะป้องกันโควิด-19 ได้อย่างไร ส่วนกิจกรรมต่างๆ ทาง ศบค.กำลังหารือ เพราะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง แต่สิ่งสำคัญที่สุดเป้าหมายสุดท้ายคือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ขึ้นมาอีก เพราะเป็นการเคลื่อนที่ของประชาชนจำนวนมากในช่วงสงกรานต์ ซึ่งอยากให้ช่วงสงกรานต์เศรษฐกิจเดินหน้า ทั้งเรื่องการค้าขาย การท่องเที่ยว โรงแรมต่างๆ ฟื้นฟูสร้างรายได้ที่หายไปช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ทันเวลา และจะมีความชัดเจนก่อนสงกรานต์แน่
นายกฯ ยังกล่าวถึงเรื่องการนำเข้าวัคซีนว่า ช่วงเช้าได้เรียกผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนหรือกลุ่มต่างๆ ที่จะนำวัคซีนเข้ามาในประเทศ ต้องเป็นวัคซีนที่มีการรับรอง และต้องสามารถชี้แจงได้ว่าวัคซีนได้มาได้อย่างไร จำนวนเท่าไหร่ มีการพูดคุยเจรจาถึงไหนอย่างไร เพราะหากเปิดให้นำเข้าโดยอิสระจะควบคุมกันลำบาก เนื่องจากปัจจุบันมีวัคซีนหลายตัวที่ยังไม่ผ่านการรับรอง จึงต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจน รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นใคร เอื้อประโยชน์ให้ใคร
ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ว่าที่ประชุมมีมติใน 2-3 เรื่องหลักคือ 1.เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับคนที่ได้วัคซีนครบถ้วน จะได้ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิดจากโรงพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากจะเดินทางไปต่างประเทศ สามารถนำใบรับรองมาขอสมุดเล่มเหลือง หรือวัคซีนพาสปอร์ต ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเอกสารหรือรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีค่าธรรมเนียมการออกเอกสารอย่างละ 50 บาท ส่วนการนำไปใช้เดินทางจริง ยังต้องรอข้อตกลงระหว่างประเทศก่อน
2.การลดวันกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ เห็นชอบใน 3 รูปแบบ คือ 1) คนต่างชาติมีใบรับรองฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 14 วัน แต่ไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทาง มีเอกสารรับรองปลอดโควิด-19 จำนวน 72 ชั่วโมง ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน 2) คนไทยมีเอกสารรับรองฉีดวัคซีน แต่ไม่มีเอกสารปลอดโควิด-19 ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน และ 3) คนต่างชาติไม่มีใบรับรองฉีดวัคซีนโควิด แต่มีเอกสารรับรองปลอดโควิด-19 ให้ลดกักตัวเหลือ 10 วัน แต่ยังยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาให้คงการกักตัว 14 วันตามเดิมไม่รวมคนที่เดินทางมาจากอังกฤษและบราซิลที่พบเชื้อกลายพันธุ์เช่นกัน
ด้านข้อตกลงเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตขององค์การอนามัยโลก นายอนุทินกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกอยู่ระหว่างหารือ ซึ่งเราทำเสร็จก่อน อาจเป็นตัวอย่างไปขยายผล อันไหนพร้อมก็ทำก่อน ซึ่งอายุของวัคซีนพาสปอร์ต โดยหลักการมีอายุประมาณ 1 ปี แต่ถ้ามีข้อมูลว่าวัคซีนครอบคลุมน้อยกว่า 1 ปี ก็ปรับลดลง สำหรับมาตรการดังกล่าวจะเริ่ม เม.ย.นี้ ส่วนช่วงเดือน ต.ค.นี้ หากฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม ร้อยละ 70 บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเป้าหมายที่อาจป่วยรุนแรง รวมถึงกลุ่มทำงานด้านท่องเที่ยวครบตามกำหนด อาจผ่อนคลายมากขึ้นโดยไม่ต้องมีการกักตัว โดยจะเสนอต่อ ศบค.ใหญ่พิจารณาต่อไป และ 3.การปรับรูปแบบสถานกักกัน และผ่อนคลายกิจกรรมให้มากขึ้น
นายอนุทินเปิดเผยว่า มีการตรวจรับมอบวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทแอสตราเซเนกาที่นำมาส่งให้กับกรมควบคุมโรค เพื่อส่งต่อให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรองรุ่นการผลิต หากตรวจเสร็จสามารถฉีดให้กับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยวันที่ 9 มี.ค. เตรียมหารือนายกฯ ว่าวัคซีนพร้อมแล้ว และจะมีการสำรวจความสมัครใจของคณะรัฐมนตรีว่ามีท่านใดสมัครใจรับวัคซีน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |