เห็นผลประกอบการปีงบประมาณ 63 ของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ที่มีรายได้ 45,879 ล้านบาท และมีรายจ่าย 45,304 ล้านบาท หักกลบลบหนี้มีกำไรสุทธิ 593 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะดีขึ้นจากปีก่อนหน้า (ปีงบ 62) อยู่ราวๆ 16% แต่สาเหตุหลักมาจากการคุมค่าใช้จ่ายมากกว่า การสร้างผลกำไรในเชิงธุรกิจ
ดังนั้น ต้องยอมรับว่าสถานะของ ยสท.ในเวลานี้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ เมื่อเทียบกับอดีต ยสท. หรือโรงงานยาสูบเดิม ที่เคยมีผลประกอบการกำไรปีละกว่า 8.8 พันล้านบาท (ปี 59) แต่หลังจากปี 2560 ที่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ที่ได้กำหนดอัตราภาษีบุหรี่เป็น 2 อัตรา โดยบุหรี่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท เสียภาษีร้อยละ 20 ส่วนบุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาท เสียภาษีร้อยละ 40 ส่งผลให้บุหรี่ไทยมีราคาสูงขึ้นและขายได้น้อยลง แต่บุหรี่ต่างประเทศราคาถูกลงและขายได้มากขึ้น
และนี่กลายเป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อ ยสท.ในปัจจุบัน โดยในปีงบล่าสุด ยอดจำหน่ายบุหรี่ของ ยสท.ในปี 2563 เท่ากับ 17,473 ล้านมวน ลดลง 6.3% จากปี 2562ที่ระดับ 18,645 ล้านมวน โดยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 58% ในปี 2562 เหลือ 55% ในปี 2563 เห็นได้ชัดว่า ยสท.กำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับบริษัทจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง จากกำหนดนโยบายภาษีที่ผิดพลาด
ซึ่งเดิมทีโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่ออกมาตอนปี 2560 นั้น วัตถุประสงค์หลักคือลดการเข้าถึงของประชาชนกรณีสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ผลที่ออกมาโครงสร้างดังกล่าวไปเอื้อให้ผู้ผลิตบุหรี่จากต่างประเทศลดราคาลง และเมื่อราคาลดลงก็ทำให้มีคนเข้าถึงสินค้าบุหรี่ได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย ซึ่งก็ขัดกับหลักการเดิมที่ต้องการจะลดจำนวนผู้สูบลง
ปัญหาตอนนี้ก็คือ ผู้บริโภคบางส่วนยังหันไปสูบยาเส้นและบุหรี่เถื่อนที่มีราคาถูกว่าหลายเท่าตัว โดยปริมาณการบริโภคยาเส้นมวนเองในประเทศไทยในช่วงหลังจากปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่พุ่งเกือบเท่าตัว และบุหรี่เถื่อนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่นับรวมการลักลอบนำเข้าและค้าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่กลายเป็นทางเลือกของนักสูบ
เบื้องต้นมีการประเมินกันว่า หากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไปประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ขณะที่หากนับตั้งแต่ปี 2560-2563 รัฐมีรายได้นำส่งแผ่นดินลดลงมากกว่า 10,000-21,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งการที่ ยสท.เสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่บุหรี่ต่างประเทศกระทบต่อผลประกอบการของ ยสท. ทำให้ไม่สามารถนำส่งรายได้เข้าสู่คลังมาเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งหากไม่มีการปรับแก้ ยสท.ก็คงจะกลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่อ่อนแอ และรัฐต้องเอาภาษีเข้ามาอุ้ม ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ในการพัฒนาประเทศ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องทบทวนโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอว่า ภาครัฐต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ โดยอาจจะยึดเกณฑ์กำหนดราคาขายปลีกแนะนำเป็นการเฉพาะกรณียาสูบไม่ปะปนกับสินค้าอื่น และใช้อัตราเดียว มีกลไกตรวจสอบข้อมูลราคาขายปลีกแนะนำ และกำหนดภาษีตามปริมาณคิดจากราคาขั้นต่ำของบุหรี่ต่อซองเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นอีกแนวทางที่น่ามาปรับใช้
ด้าน นายวศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การที่กรมสรรพสามิตออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 โดยไม่มีการบัญญัติให้คงราคาเดิมหรืออย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าราคาเดิมไว้ก่อนบังคับใช้ ส่งผลให้ราคาบุหรี่นำเข้าสามารถลดราคาได้ จึงสมควรให้มีการย้อนหลังกลับไปกำหนดห้ามลดราคาและใช้ราคาบุหรี่เดิมก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ซึ่งสอดคล้องไปกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยลงร่วมลงนามไว้.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |