นายพลและผู้ประท้วงเมียนมา รุ่นนี้ต่างจากเดิมอย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

       "ถั่น มินอู" หลานชายของ "อู ถั่น" อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักเขียน เคยทำงานในสหประชาชาติเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ

            เมื่อวานผมเขียนถึงความเห็นของเขาเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาวันนี้

            เขามองว่านายพลทั้งหลายที่ก่อการรัฐประหาร ดูเหมือนจะเจอกับหนทางตีบตันหลายด้าน

            มีคำถามในบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร Foreign Policy  ว่ามีความเป็นไปได้เพียงใด ที่จะมีกลุ่มทหารที่ต่อต้านบรรดานายพลเหล่านี้แยกตัวออกมาอยู่ข้างผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

            ถั่น มินอูวิเคราะห์ว่า

            "ไม่มีอะไรในประวัติศาสตร์ยุคนี้ของเมียนมา ที่จะทำให้คิดว่าจะมีกลุ่มทหารที่แตกแถวออกมาอย่างมีนัยสำคัญ  อย่าลืมว่านี่คือกองทัพที่ได้ทำสงครามมาต่อเนื่องกว่า 75 ปีในศึกต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธทั้งหลายอย่างดุเดือดกว่าแห่งใด ๆ ในโลกนี้..."

            เขาบอกว่า กองทัพได้รับการฝึกสอนที่จะไม่ลังเลในการใช้กำลังและอาวุธร้ายแรงต่อผู้ประท้วงพลเรือนมาก่อนแล้ว แม้กับพระภิกษุก็ทำมาแล้ว

            "ทหารได้รับการบอกเล่าตั้งแต่อายุ 17 ว่ากองทัพคือผู้ปกป้องคุ้มครองประเทศแต่เพียงกลุ่มเดียว กองทัพเคยประสบความไม่พอใจภายในบ้างบางครั้ง แต่ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะมีการแยกตัวออกอย่างเปิดเผย ตำรวจบางคนอาจจะย้ายข้าง แต่กองทัพได้ทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าตำรวจไม่ได้มีความสำคัญอะไรเท่าไหร่..."

            ถ้าอย่างนั้นรัฐประหารครั้งนี้แปลว่าการทดลองกับประชาธิปไตยในเมียนมาล้มเหลวแล้วใช่ไหม?

            หรือเพราะคนเมียนมามีประสบการณ์ประชาธิปไตยมาแล้ว จึงเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่จะปราบปรามให้หายไปได้?

            เมื่อปี 2010 นายพลรุ่นนั้นเกษียณอายุ พวกเขาตัดสินใจว่าการเกษียณของพวกเขาจะทิ้งมรดกของระบบการเมืองแบบผสมผสาน 'ไฮบริด' ซึ่งหมายถึงระบบที่กองทัพจะแบ่งสันอำนาจกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

            แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ดีๆ ก็คิดขึ้นมา เพราะมันเป็นแผนการที่พวกเขาได้เตรียมการเอาไว้แล้วเกือบ 20 ปี

            รัฐบาลเต็ง เส่งที่ปกครองประเทศจากปี 2011 ถึง  2015 สามารถผลักดันให้เกิดเสรีภาพทางการเมืองอย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน และนั่นทำให้คลายมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก

            พอถึงปี 2016 อองซาน ซูจีก็แชร์อำนาจการเมืองกับนายพลรุ่นใหม่

            และก็เกิดความตึงเครียดตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว

            มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยเสียเลยทีเดียว แต่มันก็เป็นรูปแบบการเมืองแบบใหม่ที่เมื่อผสมกับการเติบใหญ่ของเศรษฐกิจ ก็มีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมเมียนมาไปในอีกรูปแบบหนึ่ง

            ส่วนที่สังคมเมียนมาที่กำลังปรับเปลี่ยนเช่นนี้ จะสามารถต่อต้านการปกครองของผู้รวบอำนาจได้หรือไม่  เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้

            อีกคำถามหนึ่งคือ ผู้ประท้วงรุ่นนี้แตกต่างไปจากรุ่นก่อนๆ อย่างไร?

            ถั่น มินอูตอบว่า

            "ผู้ออกมาประท้วงหลายล้านคนกลางถนน เพราะพวกเขาและเธอลงคะแนนให้อองซาน ซูจี พวกเขาเชื่อว่าเธอเป็นผู้นำที่มีความชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียวในประเทศนี้

            ผู้ประท้วงอีกส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้มีความศรัทธาเชื่อมั่นในตัวอองซาน ซูจี หรือพรรค NLD แต่มีความเกลียดกลัวกองทัพที่มีอำนาจครอบงำสังคมเมียนมามาช้านาน

            พวกเขามีความกลัวว่าชีวิตของพวกเขาและชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่จะถูกทำลายล้างโดยการปกครองของทหารที่โหดร้ายและเล่นพรรคเล่นพวก..."

            เขาบอกว่าผู้ประท้วงรุ่นนี้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และมีความคุ้นชินกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

            พวกเขาต้องประท้วงเพราะหากสังคมกลับไปสู่แบบเดิม พวกเขาจะสูญเสียทุกอย่างในชีวิต

            "ยุทธวิธีของผู้ประท้วงครั้งนี้ดูไปแล้วได้ผลไม่น้อย แต่ถ้าถามว่าพวกเขามียุทธศาสตร์ของความเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดก็ยังไม่ชัดเจนนัก

            สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ วาระแห่งชาติที่มีความก้าวหน้าและฝ่าข้ามเส้นแบ่งเชื้อชาติ แก้ปัญหาการเหยียดหยามเผ่าพันธุ์อื่น หาทางออกจากความด้อยพัฒนาและความเหลื่อมล้ำ...และสามารถจะดึงให้สังคมมาเป็นเนื้อเดียวกัน"

            เป็นแนววิเคราะห์ที่น่าสนใจสำหรับเราที่อยู่ข้างนอก และติดตามข่าวสารด้วยความพยายามจะเข้าใจและแยกข่าวลือข่าวปล่อยออกจากข่าวจริง!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"