พลังงานสีเขียว เทรนด์ไฟฟ้าเปลี่ยนโลก


เพิ่มเพื่อน    

 

พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกสามารถพัฒนาต่อไปได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เทคโนโลยีกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด การใช้งานไม่ว่าจะเพื่อปัจจัยใดก็ต้องอาศัยไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งนั้น หลายปีที่ผ่านมาโลกได้เริ่มเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อก เข้าสู่ยุคดิจิทัลมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่เรียกได้ว่าจะเป็น 100% ของทุกกิจกรรมอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่พลังงานไฟฟ้าจะยิ่งเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นในตอนนี้ ไปจนถึงอนาคตที่หากทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนไปมากกว่านี้  เทคโนโลยีมีการพัฒนาเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของมนุษย์ไปมากขึ้น ไฟฟ้าน่าจะเป็นพลังงานหลักที่คนเราต้องการพอๆ กับอากาศ หรือน้ำเลยก็ได้

และในยุคที่มนุษย์แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มากขึ้น ดีขึ้น และยิ่งใหญ่ขึ้น แต่ก็ทำควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากได้รับบทเรียนจากอดีตที่มุ่งแต่พัฒนาอย่างเดียวแบบไม่ดูแลรักษา ซึ่งเป้าหมายในอนาคตของหลายๆ ประเทศคือการควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาทางธรรมชาติ ที่ส่งผลกระทบมายังมนุษย์ หรือปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้นและส่งผลไปยังธรรมชาติ แม้แต่การพัฒนาของพลังงานไฟฟ้าที่ผ่านมาก็เริ่มต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย

เทรนด์การทำงานนี้เป็นเหมือนการดิสรัปชั่นด้านพลังงานอย่างหนึ่งที่จากเดิมใช้พลังงานฟอสซิลมาผลิตไฟฟ้า แต่ต้องหันมาเริ่มใช้พลังงานทดแทนเข้ามาให้มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์สำคัญที่ทำให้องค์กรพลังงานทั่วโลกจะต้องเร่งปรับตัว และใช้โอกาสนี้ผลักดันตัวเองให้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำของกลุ่มพลังงานรูปแบบใหม่นี้ให้ได้ รวมถึงยังเกิดแผนดำเนินงานมากมายที่เป็นการร่วมมือกันระดับโลกให้เกิดการบรรลุเป้าหมายนี้อย่างชัดเจนขึ้น

หนึ่งในนั้นคือแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นความร่วมมือของหลายประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งทุกประเทศนั้นทยอยออกแผนออกมารองรับการทำงานในส่วนนี้บ้างแล้ว และมีเป้าหมายที่จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือดูดก๊าซเรือนกระจกกลับคืนทั้ง 100% ในไม่กี่สิบปีข้างหน้า ซึ่งเป็นความหวังที่จะทำให้ประชากรในโลกสามารถอยู่รวมกับธรรมชาติไปได้อีกนาน แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปมากมายเพียงใดก็ตาม และแผนที่กำลังเป็นที่พูดถึงนั้นคือ “คาร์บอน นิวทรัล”

ประเทศไทยที่เข้าร่วมและผันแปรตามกระแสของโลกมาโดยตลอด ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อชื่อเสียงในเวทีโลกว่ามีแผนการทำงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน และเห็นความสำคัญของธรรมชาติในโลกเป็นหลัก แต่เมื่อมาดูความพร้อมและความเป็นไปได้ว่าทำได้ได้มากน้อยเพียงใด จึงต้องมาพูดคุยกับผู้ที่ทำงานและมีบทบาทสำคัญในด้านนี้จริงๆ ซึ่งก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีความเข้าใจในวงการพลังงานไฟฟ้าอย่างเข้มข้น และยังเป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศที่รัฐบาลจะใช้เป็นช่องทางในการจัดการและบริหารไฟฟ้าของประเทศ

การพูดคุยครั้งนี้ ได้หัวเรือใหญ่อย่าง นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) มาร่วมให้ข้อมูล แม้เพิ่งจะขึ้นมารับตำแหน่งผู้ว่าการได้ไม่นาน แต่ก็มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบงานไฟฟ้าเป็นอย่างดี รวมถึงยังมีการศึกษาเพื่อตอบสนองเทรนด์ของโลกอยู่เสมอ

 

เทรนด์พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน?

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทรนด์ได้มีการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น แม้ยังคงมีก๊าซธรรมชาติเพื่อรักษาการมีเสถียรภาพอยู่ แต่แสงอาทิตย์กับลมก็จะถูกหยิบยกมาพูดถึงโดยตลอด และมีการผลักดันให้เพิ่มสัดส่วนการผลิตจากพลังงานทดแทนให้มากขึ้น กฟผ.ตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก เพราะเราดูแลเรื่องการผลิตไฟฟ้ามาตลอด 50 ปี แต่ก็ด้วยเชื้อเพลิงซอสซิล ถ้าสุดท้ายแล้วในอนาคตจะเป็นพลังงานทดแทน สิ่งที่ยังกังวลอยู่ก็คือกระบวนการกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่

ซึ่งเรามีความหวังว่าอยากให้เกิดขึ้นอย่างมาก หากในอนาคตแบตเตอรี่สามารถมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสามารถรักษาระบบได้ ก็อยากให้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไปเลย โดยมองภายใน 20 ปี อาจจะเป็นอย่างนั้น  ต้นทุนของการผลิตจะสามารถเทียบเท่าพลังงานจากฟอสซิลได้ เพราะประเทศไทยที่ปัจจุบันนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่มาผลิตไฟฟ้าอยู่นั้น เราไม่ได้อะไรเลย เป็นการใช้แล้วหมดไป และไม่มีการนำไปต่อยอดกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ไม่เหมือนการขุดเจาะเองในประเทศ แต่ปัจจุบันยังต้องเป็นแบบนี้ไปก่อน เพราะต้องรอต้นทุนต่ำมากๆ ถึงจะสามารถชนได้

บทบาทของ กฟผ.ที่อาจถูกลดลง?

ในอดีต กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอยู่คนเดียว และหลังๆ  นโยบายภาครัฐได้อนุญาตให้เพิ่มผู้ผลิตเข้ามา แต่เราก็ยังเป็นผู้รับซื้อและส่งอยู่เหมือนเดิม ทำให้กำลังการผลิตของ กฟผ.ลดลงไปอยู่ที่ 30% จากการผลิตทั้งหมด ปัจจุบันก็เริ่มชินแล้ว เพราะมองจากอดีต กฟผ.ก็ถูกลดบทบาทลงมาเรื่อยๆ แม้จะมีกำลังการผลิตเท่าเดิม แต่ความต้องการมากขึ้น ก็ต้องไปใช้ไฟจากภาคเอกชนที่มีโควตาการผลิตมากขึ้น แม้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่นั้น จะกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เป็นของ กฟผ.ทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้

ยิ่งเทรนด์การผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป เน้นไปทางพลังงานทดแทนมากขึ้น ในอนาคต กฟผ.เองก็อาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งเล็กๆ ที่มีไว้เพื่อดูแลความมั่นคงของพลังงานโดยรวมอย่างเดียวก็เป็นได้ หน้าที่การผลิตไฟฟ้าก็อาจจะเป็นของเอกชนทั้งหมด แต่ กฟผ.ก็ไม่นิ่งเฉยทำการศึกษาเทรนด์การลงทุนพลังงานรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ

 

ประเทศไทยกับคาร์บอนนิวทรัล?

ปัจจุบันที่เราได้ยินบ่อยๆ ตอนนี้คือการขับเคลื่อคาร์บอนนิวทรัลในโลก ที่พูดง่ายๆ คือใครที่ผลิตไฟฟ้าและทำให้คาร์บอนเพิ่มมากขึ้นนั้น จะต้องมีการรักษาหรือดูดกลับไปตามสัดส่วนที่ปล่อยออกมา จึงเป็นเรื่องใหญ่ของหลายประเทศ เพราะคำว่าคาร์บอนนิวทรัลที่เกิดขึ้นนั้นในบางประเทศ ก็มีการจำกัดสิทธิ์ต่างๆ ของการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เมื่อหากไม่ได้มาจากประเทศที่ไม่ทำคาร์บอนนิวทรัลนี้ ก็อาจจะไม่รับสินค้า  หรือทำให้ราคาสินค้าเราต่ำลง โดยใส่ภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นการกีดกันการค้าอีกช่องทางหนึ่ง

ในต่างประเทศแถบเอเชียมีการประกาศแล้วใน 20-30 ปี  มีเป้าหมายจะทำคาร์บอนนิวทรัล 100% แต่ก็ต้องมาดูว่าประเทศนั้นมีโรงไฟฟ้าพลังงานอื่นๆ ที่มารองรับโดยเฉพาะนิวเคลียร์ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าประเทศไทย เพราะไทยเองนั้นที่ตอนนี้ยังไม่สามารถกำหนดแผนที่ชัดเจนได้ ก็เพราะยังพึ่งพาเชื้อเพลิงอยู่ไม่กี่อย่าง และหากต้องตัดก๊าซธรรมชาติไปแล้วอาศัยแค่แสงอาทิตย์เป็นหลัก ก็ต้องมาดูการพัฒนาแบตเตอรี่อย่างเดียวแล้วว่าจะตอบสนองได้ดีเพียงใด ซึ่งก็ไม่รู้ต้องรออีกกี่ปี 

และหากจะเน้นที่พลังงานทดแทนและเร่งให้มีการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ก็อยากให้ดูตัวอย่างที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่เก่งในเรื่องของการพัฒนาแบตเตอรี่ และมีการใช้พลังงานทดแทนเยอะมากๆ ไม่ว่าจะผลิตได้จากที่ไหนเท่าไหร่ก็จะทำเข้าระบบไปใช้ก่อนเสมอ แต่ในเวลากลางวันนั้นเองก็ยังต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซเดินเครื่องเพื่อสำรองไฟฟ้าไว้อยู่ ซึ่งทั้งประเทศมีสำรองไฟฟ้ากว่า 170%

ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 50% ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนเยอะๆ ในเยอรมันนั้น ต้นทุนค่าไฟฟ้าในประเทศอยู่ที่ 12 บาทต่อนหน่วย ซึ่งประชาชนจะก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพง จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ประเทศเราควรจะเปลี่ยนไปแบบเขาเลยไหม หรือจะรอก่อน 

เป้าหมาย กฟผ.กับเทรนด์โลก?

จริงๆ เรามีความเห็นด้วยเสมอหากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานนั้นก้าวกระโดดจนสามารถทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้นถูกเทียบเท่ากับพลังงานฟอสซิล ซึ่ง กฟผ.ก็ยังอยากผลักดันโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ ที่องค์กรสามารถทำได้เช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่เขื่อนกักเก็บน้ำของ กฟผ. ที่ปัจจุบันแม้จะมีแผนงานแล้ว แต่ก็ยังมีระยะเวลาการดำเนินงานที่ช้าอยู่ โดยกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์นั้น วางเป้าหมายไว้ที่ 20 ปี จะช้าไป จริงๆ ถ้าเทรนด์นี้กำลังมีระยะเวลา 5 ปีก็ควรจะทำให้เสร็จแล้ว 

เพื่อใช้เป็นโครงการตัวอย่างในการเดินหน้าเรื่องนี้ เพราะการพัฒนาเรื่องพลังงานทดแทนนั้นก็มีเรื่องดี ที่ว่าในปัจจุบันรวมถึงอนาคตต่อไปนั้น พลังงานทดแทนจะถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการลงทุน เอกชนในหลายๆ ธุรกิจหากต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย อาจจะมองนอกเหนือจากความเสถียรของไฟฟ้า แต่มองไปยังไฟฟ้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งในรูปแบบองค์กรของ กฟผ.เองก็มีแนวคิดที่อยากจะดำเนินธุรกิจแบบโกกรีน หรือดูแลสิ่งแวดล้อม 100% แต่ก็ยังต้องพิจารณาจากหลายๆ ด้าน ทั้งต้นทุน หรือนโยบายของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

แผนการดำเนินงานของ กฟผ.ต่อไป

ถ้าพูดถึงโครงการพลังงานทดแทนของ กฟผ. หลักๆ ก็คือโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แต่ทุกวันนี้จะจ่ายน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะไม่สามารถนำไปนับเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าได้อย่างคงที่ ต่อมาก็จะมีโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล แต่ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เต็มที่ เนื่องจากยังเกิดการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ อยู่ ในเคสของโรงไฟฟ้าเก่าที่กำลังจะหมดอายุ ส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่มีการปรับปรุง เนื่องจากอุปกรณ์หลายๆ อย่างก็ไม่สามารถใช้งานต่อได้ หากเปลี่ยนโรงไฟฟ้าใหม่จะง่ายกว่า ถูกกว่า และได้เทคโนโลยีที่อัพเดตกว่าด้วย

การทำงานส่วนใหญ่จะเป็นไปตามการกำหนดของแผนพีดีพี ซึ่ง กฟผ.มีหน้าที่ทำตามกำหนด โดยในอนาคตจะมีการศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะใหม่ ทดแทนยูนิตที่ 2, โรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่พระนครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกงที่กำลังสร้างอยู่ เป็นการโรงใหม่ในพื้นที่เดิม ถ้าโครงการที่จะต้องสร้างใหม่นอกเหนือจากนี้ก็คือโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ก็ยังมีประเด็นอยู่ว่าจะได้สร้างหรือไม่  รวมถึงการพัฒนาสายส่ง ก็ทำเพิ่มอยู่ตามปกติ ทั้งปรับปรุงสายเดิม และเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น รวมถึงทำให้รองรับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี)

กฟผ.กับนโยบายส่งเสริมอีอีซี?

การดำเนินงานทั้งหมดของ กฟผ. เป็นไปตามพีดีพี ซึ่งปัจจุบันยืนยันว่ากำลังการผลิตไฟฟ้านั้นเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่าการเติบโตของพื้นที่อีอีซีไม่ได้รวดเร็วเหนือความคาดหมาย แต่หากว่าในอนาคตจะต้องมีการเพิ่มกำลังผลิต ก็จะมีหน่วยงานอย่างสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เข้าไปศึกษาความต้องการใช้ในพื้นที่ และมีคำนวณจากดีมานด์ทุกกลุ่มทั้งประเทศ โดยดูจากความต้องการใช้แบ่งเป็นภาคส่วน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น กฟผ.ก็ยืนยันว่าจะจัดการดูแลรักษาเสถียรภาพของพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"