“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจคนกรุง พบ 66% อยากได้ว่าผู้ว่าฯ ไร้สังกัด ผงะ! “พปชร.-ปชป.” แทบรั้งบ๊วยที่คน กทม.อยากเลือก “ชัชชาติ-จักรทิพย์” ยังแรง “องอาจ” เผยพรรคมี 3-4 ตัวเลือก เปิดออกมาคนรู้จักแน่
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 1” โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง ซึ่งเมื่อถามถึงที่มาของผู้ว่าฯ กทม.ที่ประชาชนอยากได้ พบว่า ส่วนใหญ่ 66% ระบุว่าผู้ว่าฯ กทม. อิสระ, 17.11% ระบุว่าสังกัดพรรคการเมือง, 14.30% ระบุว่า อย่างไรก็ได้ และ 2.59% ระบุว่าที่สังกัดกลุ่มการเมือง
เมื่อถามถึงปัญหาที่ประชาชนอยากให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เร่งแก้ไขมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ 66.01% ระบุว่าปัญหาการจราจร, 35.29% ระบุว่าปัญหาค่าครองชีพ/ปากท้อง, 33.84% ระบุว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง น้ำเสีย, 31.18% ระบุว่าปัญหาน้ำท่วม, 24.18% ระบุว่าปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ, 20.15% ระบุว่าปัญหาเรื่องขยะและความสะอาด, 20% ระบุว่าปัญหาถนน/ทางเท้า ชำรุด, 9.20% ระบุว่าปัญหาหาบเร่ แผงลอย, 8.67% ระบุว่าปัญหาการศึกษา, 8.14% ระบุว่าปัญหาสุขภาพ/สาธารณสุข, 5.63% ระบุว่าปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชน และ 0.46% ระบุอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาไฟริมทางไม่เพียงพอ และปัญหาคนเร่ร่อน
และเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.พบว่า 29.96% ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ, 22.43% ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, 15.51% ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา, 7.68% ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, 4.49% ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย, 4.26% น.ส.รสนา โตสิตระกูล และผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในสัดส่วนที่เท่ากัน, 3.35% ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, 3.27% ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), 2.66% ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), 1.75% ระบุว่าเป็นนายสกลธี ภัททิยกุล, 0.23% ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และ 0.15% ระบุว่าไปลงคะแนนไม่เลือกใคร
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนของ กทม. ว่าเดิมจะมี 3 ส่วนคือ ผู้ว่าฯ กทม., สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) แต่เลือกตั้งครั้งนี้จะมีเฉพาะผู้ว่าฯ กทม. กับ ส.ก.เท่านั้น เหตุสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ออกกฎหมายไม่ให้เลือกตั้ง ส.ข. จนกว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.ให้สอดคล้องการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ตอนนี้จึงต้องเว้นวรรคไป จึงอยากเรียกร้องนายกฯ ทบทวนให้มีการเลือกตั้ง ส.ข.เหมือนเดิม หรือให้ ครม.เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ให้เลือกตั้ง ส.ข.ได้ เพราะ ส.ข.ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด
นายองอาจกล่าวอีกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ถ้าดูจากไทม์ไลน์น่าจะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งพรรคได้เตรียมพร้อมทั้งนโยบายบริหาร กทม. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการรับฟังความคิดเห็นรูปแบบต่างๆ โดยตัวผู้ว่าฯ กทม. พรรคได้ทาบทามผู้ที่มีความสนใจ มีความรู้ ความสามารถเหมาะสม รวมถึงมีคนสนใจมาสมัครแล้ว เหลือ 3-4 คน เมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะประกาศตัว โดย 3-4 คนนี้เป็นคนที่สังคมรู้จักในหลายแง่มุม ถ้าเอ่ยชื่อมา ประชาชนก็มั่นใจได้ เพราะพรรคไม่ได้เลือกคนดีเด่นดังเพียงอย่างเดียว แต่คน กทม.ต้องมั่นใจว่าทำงานได้ดีในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วน ส.ก.ก็ได้พิจารณาผู้สนใจสมัครแล้ว ซึ่งพรรคมี ส.ก.เดิม พร้อมลงสมัคร 20 คน แต่สภา กทม. มี 50 เขต 50 ส.ก. ก็ต้องสรรหาผู้สมัครเพิ่มเติม เน้นคนหนุ่มสาวที่สนใจทำงานระดับท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้เรียบร้อยไปแล้วกว่า 80%
มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เผยว่า ในสัปดาห์นี้ พรรคจะประชุมเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนตำแหน่งประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ในสัดส่วนของพรรค 10 ที่นั่ง เนื่องจากขณะนี้ได้ทำงานมาเกือบ 2 ปี หรือครึ่งเทอมของอายุสภาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ และพรรคมีบุคลากรที่มีความเหมาะสมเป็น ส.ส.หลายสมัย และยังไม่ได้นั่งเก้าอี้ประธาน กมธ.อีกหลายคน จึงถึงเวลาที่ต้องสลับเก้าอี้ โดยการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะไม่ปรับทั้ง 10 ตำแหน่ง แต่จะประเมินจากผลงานเป็นหลัก เนื่องจากช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์การทำงานที่สำคัญว่า กมธ.ชุดไหนทำหน้าที่ได้ดี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |