ข้อหา‘อั้งยี่-ซ่องโจร’ ตร.จัดหนักโตโต้พร้อมพวก18คน/‘รุ้ง’หนาวลุ้นประกันคดี


เพิ่มเพื่อน    

 "ผบช.น." แจงจับ "โตโต้-การ์ดวีโว่" หวั่นก่อเหตุรุนแรง ยันความผิดซึ่งหน้ามีอำนาจคุมตัว ถามมากินข้าวทำไมพกหนังสติ๊ก ระเบิดควัน ท่อเก็บแก๊สน้ำตา คุมตัวไป ตชด.ภาค 1 แจ้งข้อหาหนัก อั้งยี่-ซ่องโจร "เดินทะลุฟ้า" กร่อย ปักหลักอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย "รุ้ง" ชิ่งไม่ไปร่วมม็อบ อ้าง 8 มี.ค.ขึ้นศาลคดีชุมนุมธรรมศาสตร์ หวั่นไม่ได้ประกันต้องนอนคุก "โพล" หนุนรัฐบาล-ม็อบถอยคนละก้าวแก้ปัญหาบ้านเมือง

    ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) วันที่ 7 มี.ค. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แถลงถึงกรณีการจับกุมตัวนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่มวีโว่ว่าการจับกุมชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นความผิดซึ่งหน้า โดยก่อนหน้าที่จะมีการนัดชุมนุมกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนทราบว่ากลุ่มของนายโตโต้จะนัดรวมตัวกันที่บริเวณลานจอดรถชั้น 5 โรงภาพยนต์เมเจอร์ รัชโยธิน ซึ่งทางการข่าวพบกลุ่มดังกล่าวอาจจะมีการสร้างความรุนแรง ทางตำรวจจึงเข้าควบคุมตัวนายโตโต้กับพวก และตรวจค้น พบหนังสติ๊ก 15 อัน, หัวนอต 50 ตัว, ลูกแก้ว 200 ลูก, ระเบิดควัน 30 ลูก, ถุงน้ำปลาร้า 30 ถุง, หมวกกันกระแทก 13 ใบ, เสื้อเกราะ 10 ตัว, ท่อเก็บแก๊สน้ำตา 1 อัน,  โล่ 1 อัน, ค้อนเหล็ก 1 อัน
    พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ขณะจับกุมกลุ่มรีเดมก็กำลังเคลื่อนขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวมาที่ศาลอาญา เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องเข้าจับกุม เกรงกลุ่มนี้จะก่อเหตุความรุนแรงและความวุ่นวายในที่ชุมนุมจึงจับกุม โดยการที่ทางกลุ่มของนายโตโต้อ้างว่าไปกินข้าวเท่านั้น ขอถามว่าไปกินข้าวต้องพกไปขนาดนั้นหรือ
    "ระหว่างที่ตำรวจกำลังดำเนินการควบคุมผู้ต้องหาทั้งหมด ก็ได้มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาชิงตัวผู้ต้องหา มีความผิดขัดขวางการทำงานของตำรวจ ทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวน 7 นาย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 6 นาย รถควบคุมผู้ต้องหาเสียหายทั้งหมด 9 คัน การกระทำดังกล่าวถือมีความผิดขัดขวางร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ และทรัพย์สินของทางราชการได้หายไปอีกหลายรายการ เบื้องต้นตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 18 ราย และมีหลบหนีบางส่วน ภายหลังได้มีการเข้ามอบตัว 27 คน แต่ทางตำรวจอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบ" พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าว
    ถามว่า การชิงตัวผู้ต้องหาไม่ใช่ครั้งแรก เหตุใดมาตรการรักษาความปลอดภัยถึงหละหลวม ผบช.น.กล่าวว่า การจับกุมจะเป็นสถานที่ใกล้เคียงกับการชุมนุม เราได้มีการพิจารณาว่าสมควรจับหรือไม่สมควรจับ ที่ผ่านมาหลายครั้งมีลักษณะนี้ เราเลี่ยงมาหลายครั้ง ไม่จับ เพราะกลัวจะมีปัญหา พอจับกุมจะมีกลุ่มมวลชนเข้ามาล้อม จากนั้นก็จะมีการกระทบกระทั่งมีปัญหาตำรวจใช้ความรุนแรง เหตุการณ์วันที่ 28 ก.พ.ที่ ร.1 มีความรุนแรง ครั้งนี้จึงต้องเข้าจับกุม พยายามเอาออกเร็วที่สุด ระหว่างนั้นนอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังเดินมา ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ ตำรวจพยายามป้องกัน ชุดจับกุมมีการปะทะ ตำรวจบาดเจ็บถูกยิงด้วยลูกเหล็ก ถูกขว้างปา มีการขัดขวางเจ้าหน้าที่ และพยายามละมุนละม่อมที่สุด
    "แนวทางการสืบสวนเราทราบว่านายโตโต้จะเข้าร่วมการชุมนุม ถึงแม้จะโพสต์ว่าไม่เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ ถ้าไม่ไปร่วมจะเอาของกลางที่ตรวจพบทั้งระเบิดควัน หนังสติ๊ก วิทยุสื่อสารไปทำไม หรือพกไปกินข้าว ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์จับกุมไม่มีหมาย เจ้าหน้าที่สามารถทำได้ เพราะเป็นความผิดซึ่งหน้า หลังจากเกิดเหตุมีคนมาแสดงตนว่ากลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกช่วยเหลือออกจากห้องควบคุม 27 คน เป็นเหตุการณ์เกิดหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ เจ้าหน้าที่จึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ทราบว่าคนที่เขาอ้างว่าหลุดจากการควบคุมใช่เขาหรือไม่ ระหว่างการจับกุมตำรวจมีการถ่ายรูปขั้นตอนปฏิบัติ หลังพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นบุคคลเดียวกันก็จะดำเนินการต่อ" ผบช.น.กล่าว
แจ้ง 4 ข้อหาหนัก 'โตโต้'
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลงข่าวหัวหน้าชุดควบคุมฝูงชนของ ตชด.เข้าพบ ผบช.น. รายงานว่าเมื่อคืนหลังเหตุการณ์การชุมนุมสงบลง ในระหว่างที่ถอนกำลังควบคุมฝูงชนของ ตชด.และตำรวจภาค 6 ออกจากบริเวณศาลอาญา ขับรถมุ่งหน้าลงอุโมงค์ข้ามแยกรัชโยธิน ปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลไม่ทราบกลุ่มใช้อาวุธปืนยิงใส่ขบวนรถของตำรวจควบคุมฝูงชนที่วิ่งตามกันมากว่า 6 คัน โดยกระสุนทะลุกระจกหลัง เฉียดใบหน้าตำรวจที่นั่งอยู่ด้านหลัง นอกจากนี้ยังพบมีการขว้างปาก้อนหินและยิงนอตใส่รถของ ตชด.ด้วย ซึ่งเมื่อช่วง 09.00 น. วันที่ 7 มี.ค. ตชด.ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุที่ สน.พหลโยธินไว้แล้ว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายโตโต้พร้อมพวกรวม 18 คน ได้ถูกควบคุมตัวไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 โดยมีแพทย์เข้าตรวจร่างกายทีมการ์ดวีโว่และประชาชนที่ถูกจับกุมจำนวน 18 ราย เพื่อตรวจสอบว่ามีการบาดเจ็บจากการจับกุมหรือไม่ พบว่าในจำนวนผู้ถูกจับกุมมีเยาวชนอายุ 17 ปี จำนวน 2 คน และยังมีศัลยแพทย์ 1 คนจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งถูกจับกุมมาด้วย
    มีรายงานว่า เมื่อเวลา 00.50 น. กรณีของเยาวชน 2 ราย หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จและตรวจร่างกายแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้านก่อน และจะนัดหมายที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อปฏิบัติตามขั้นตอนตรวจสอบการจับกุมกรณีเยาวชนต่อไป
    เวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำเอกสารบันทึกการจับกุมมาให้ผู้ถูกจับกุมตรวจสอบ โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 18 คน ใน 4 ข้อกล่าวหา รวมทั้งเยาวชน 2 ราย ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ 210 ฐานเป็นอั้งยี่และเป็นซ่องโจร
    วันเดียวกัน เวลา 09.04 น. กลุ่มเดินทะลุฟ้าคืนอํานาจประชาชน นำโดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ได้เริ่มตั้งขบวนเดิน 15 กิโลเมตรสุดท้ายในกรุงเทพมหานคร จากแยก ม.เกษตรฯ มุ่งหน้าไปพักกลางวันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนที่จะไปจบเส้นทางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเวลา 13.00 น. กลุ่มเดินทะลุฟ้าออกจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลา 15.20 น.
    จากนั้นมวลชนได้ติดตั้งเวทีเครื่องเสียงและปิดถนนฝั่งแมคโดนัลด์ทันที ทำให้การจราจรติดขัด เจ้าหน้าที่ต้องเข้าเจรจากับแกนนำเพื่อให้เปิดเส้นทางการจราจร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้แกนนำทราบต้องนำรถเวทีเครื่องขยายเสียงออกจากพื้นที่ทันทีและห้ามตั้งเวที ถ้าไม่ออกจากพื้นที่การจราจรเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าผลักดัน ใช้การเจรจาประมาณ 10 นาที แต่ไม่เป็นผล
    พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผกก.สน.สำราญราษฎร์ ได้ประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบว่าการชุมนุมได้กระทำผิดกฎหมายเนื่องจากมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การชุมนุมที่ก่อให้เกิดการมั่วสุมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีผลก่อให้เกิดการสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อไวรัสแพร่ระบาด หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และขอให้ทำการยุติการชุมนุมในเวลานี้ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจตะโกนด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ส่วนเวทียังมีการสลับสับเปลี่ยนการปราศรัยเรียกร้องปล่อยเพื่อนเรา  เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และยกเลิก ม.112  
'รุ้ง'ผวาคุก!งดไปชุมนุม
    เวลา 18.00 น. กิจกรรมของกลุ่มเดินทะลุฟ้ายังคงเป็นการเปิดให้แนวมวลชนขึ้นปราศรัยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการบริหารประเทศที่ล้มเหลวตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา การใช้กฎหมายปิดปากประชาชน โดยเฉพาะ ม.112 แกนนำบนเวทีดำเนิน โดยนายธัชพงศ์ แกดำ ได้พยายามเชิญชวนให้มวลชนเข้ามานั่งรวมกันบริเวณด้านหน้าเวที  
    "ที่แห่งนี้คือที่ถกประเด็นที่กำลังมีปัญหา ไม่ใช่พื้นที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือไม่ใช่เป็นพื้นที่ของแกนนำ แต่เป็นพื้นที่ของทุกคน เราเป็นเจ้าของร่วมกัน ถึงแม้นายกฯ จะยังไม่ลาออก เราก็ฟังกันเอง ไม่ออกก็ตาม ถ้ามีประชาชนมารวมตัวกันมากๆ อยู่ไม่ได้ก็ต้องไปในที่สุด" นายธัชพงศ์ระบุ
    จากนั้นได้มีการแสดงดนตรีสับเปลี่ยนโดยวงโฮปแฟมิลี่ เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้มวลชนที่มาร่วมนั่งฟังประมาณ 500 คน
    ในเวลา 18.30 น. กิจกรรมของม็อบเดินทะลุฟ้ายังคงดำเนินไปเรื่อยๆ และมีมวลชนทยอยเข้าพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมของกลุ่มแฟมิลี่ปลดแอก ที่มีนักกิจกรรมข้ามเพศร่วมแสดงกิจกรรมประกอบเสียงเพลงสีดาลุยไฟ เพื่อแสดงออกต่อต้านการถูกกดขี่ทางเพศ และกลุ่มพนักงานบริการปลดแอกได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อยื่นให้กับรัฐบาลแก้กฎหมาย ให้การค้าประเวณีถูกกฎหมาย ขณะเดียวกันมีการตั้งโต๊ะเพื่อเขียนจดหมายถึงเพื่อนของเรา #ปล่อยเพื่อนเรา

    ที่ สน.สำราญราษฎร์ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนกรณีการจัดการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2564 ทำกิจกรรม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” มีการล้อมผ้าแดงรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีการรื้อกระถางต้นไม้
    น.ส.ปนัสยากล่าวว่า คดีนี้มีเพื่อนผู้ชุมนุมถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว 5-6 คน ตนเป็นคนสุดท้ายที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากเพิ่งได้รับหมายเรียกเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ตนติดธุระ จึงเลื่อนมาเป็นวันนี้ ส่วนข้อหานั้น เบื้องต้นคาดว่าเป็นข้อหาเดียวกับเพื่อนๆ คือความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ความสะอาด รวมถึงน่าจะถูกเรียกค่าเสียหายจากการรื้อกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ฯ รวมมูลค่ากว่า 5.9 ล้านบาท
    "ความเสียหาย 5.9 ล้านบาทนั้นมากเกินไป เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็เคยถูกเรียกค่าเสียหายจากการรื้อกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในการชุมนุมก่อนหน้านี้มาแล้ว แต่ครั้งก่อนนั้นมูลค่าความเสียหายเพียง 200,000 บาทเท่านั้น จึงไม่รู้ว่าครั้งนี้รวมความเสียหายของรั้วเหล็กรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยหรือไม่" น.ส.ปนัสยากล่าว
    แกนนำราษฎรกล่าวว่า ในการชุมนุมของกลุ่มเดินทะลุฟ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตนไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากในวันที่ 8 มี.ค. เป็นวันนัดส่งฟ้องแกนนำและแนวร่วมผู้ชุมนุมรวม 18 คน จากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563 และไม่รู้ว่าจะได้รับการประกันตัวหรือไม่
    "ขอใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และวันที่ 8 มี.ค.ก็เข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอน และหวังว่าจะได้รับการประกันตัว เพราะอยู่ในช่วงเรียนหนังสือ และกำลังจะสอบในเดือนหน้าแล้ว ก็กังวลว่าจะไม่ได้รับการประกันตัว แต่หากไม่ได้ประกันก็เตรียมใจมาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ต้องเจอในเส้นทางการต่อสู้ และก็เคยเข้าเรือนจำมาแล้ว หากต้องเข้าไปอีกก็อยู่ได้ เพราะมีพี่น้องร่วมอุดมการณ์ต่อสู้อยู่ข้างนอก" แกนนำราษฎรรายนี้ระบุ
    รายงานแจ้งว่า ในวันจันทร์ที่ 8 ก.พ. พนักงานอัยการคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้นัดส่งฟ้อง 18 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร กรณีการชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ทั้งนี้มีบางคนยังมีความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 116 ด้วย โดยทั้ง 18 คน ประกอบด้วย 1.น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง 2.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ 3.นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ 4.นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ 5.นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ 6.นายชูเกียรติ แสงวงศ์ 7.นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอมป์ 8.นายณัทพัช อัคฮาด 9.นายธนชัย เอื้อฤาชา 10.นายธนพ อัมพะวัติ 11.นายธานี สะสม 12.นายภัทรพงศ์ น้อยผาง 13.นายสิทธิทัศน์ จินดารัตน์ 14.น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก 15.นายอดิศักดิ์ สมบัติคำ 16.นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง 17.นายณัฐชนน ไพโรจน์ และและนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่
    ด้านนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจัดการกับพวกก่อกวนสร้างความวุ่นวายโดยไม่มีเหตุผลให้เด็ดขาดสักที คงจะปล่อยให้คนเพียงไม่กี่คนทำความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่วนมากไม่ได้ ก็ขอฝากไปยังผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณาการประกันตัวด้วย หากยังปล่อยแบบนี้ คนในสังคมเขาก็จะได้รับผลกระทบจากการกระทำชั่วๆ ซึ่งตนว่าไม่เป็นธรรมต่อสังคม
    “ผมขอเตือนว่าการอยู่ในคุกมันไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะฉะนั้นหยุดพฤติกรรมคึกคะนอง ท้าทายกฎหมายเสียที เพราะพวกคุณไม่สามารถเอาชนะกฎหมายได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแป ถ้าอยู่ในประเทศนี้แล้วมันอึดอัดใจมาก ก็หนีไปอยู่ประเทศอื่นซะ เพราะคนส่วนมากเขาอยู่กันด้วยความสงบสุข และก็คงโล่งใจที่คนแบบนี้หายไปจากสังคมได้เสียที” นายสิระกล่าว
ชี้รบ.-ม็อบพบกันครึ่งทาง
    เช่นเดียวกับ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่ฝากผ่าน PM PODCAST ให้รักสามัคคี ไม่แตกแยก เคารพกฎหมาย ป้องความขัดแย้ง ตนมองว่ายิ่งสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังประสบกับปัญหาโควิด-19 จึงจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขณะนี้ยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ควรเห็นแก่ประเทศชาติ ประชาชน ไม่ควรเล่นการเมืองมากเกินไปจนบ้านเมืองบอบช้ำเสียหาย ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะประเทศชาติเป็นของพวกเราทุกคน ที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาให้เจริญรุ่งเรือง
    นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงการชุมนุมว่า ขอร้องให้ชุมนุมอย่างสงบ อย่าเผาทำลายทรัพย์สินของราชการ เพราะผิดกฎหมายและมีโทษที่หนักกว่าปกติ รวมทั้งยังเป็นทรัพย์สินที่มาจากภาษีประชาชน หากถูกทำลายหลายคนคงจะเกิดความเสียใจ
    "ในส่วนของผู้ต้องขังทางการเมืองและแกนนำม็อบที่กระทำผิด อาจจะต้องมีการย้ายเรือนจำไปที่อื่นบ้าง เนื่องจากมีจำนวนมากขึ้น จึงต้องระบายและลดความแออัด" รมว.ยุติธรรมกล่าว
    สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่สนใจติดตามข่าวการเมือง จำนวน 1,147 คน ระหว่างวันที่ 1-5 มี.ค.2564 พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 55.33 เห็นว่าการเคลื่อนไหวชุมนุมแตกต่างจากสมัยก่อน รองลงมาร้อยละ 50.61 พบมีเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นแกนนำ ซึ่งร้อยละ 49.04 ระบุว่าเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย        
    เมื่อถามว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไรกับท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อการชุมนุม พบส่วนใหญ่ร้อยละ 51.41 ระบุเน้นการสกัดกั้นการชุมนุม/จับกุมแกนนำ, ร้อยละ 50.35 มองว่ามีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ/ใช้มาตรการที่รุนแรง, ร้อยละ 48.94 ระบุพยายามควบคุมสถานการณ์, ร้อยละ 46.92 ไม่รับฟัง/ไม่ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และร้อยละ 41.11 ต้องการรักษาความสงบของบ้านเมือง
    ถามว่าคิดว่าจุดกึ่งกลางระหว่างการชุมนุมกับรัฐบาลคืออะไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.07 ระบุทุกฝ่ายต้องยอมรับความเห็นต่าง ถอยคนละก้าว, ร้อยละ13.67 ระบุรัฐบาลต้องเปิดใจ รับฟังข้อเรียกร้อง สนใจไม่ละเลย เพื่อทบทวนการทำงาน, ร้อยละ 10.79 นายกฯ ต้องลาออก/แก้ไขรัฐธรรมนูญ/ยุบสภา    
    "ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ประชาชนจะไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาลที่ออกมาตอบโต้เช่นกัน การควบคุมสถานการณ์ที่เน้นการจับกุม การสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และการฉีดน้ำแรงดันสูง หลายฝ่ายมองว่าเป็นการกระทำที่รุนแรง ไม่ว่าสถานการณ์การชุมนุมและท่าทีของรัฐบาลจะเป็นไปในทิศทางเช่นไร สุดท้ายแล้วก็ควรเร่งหาทางออกที่เป็นจุดกึ่งกลางสำหรับเรื่องนี้ให้ได้โดยเร็ว" สวนดุสิตโพลระบุ
    ส่วนสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง การเมือง อย่าสุมไฟ ม็อบ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,473 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-7 มี.ค.2564 พบว่า ร้อยละ 99.8 ระบุนักการเมืองมุ่งแต่แย่งตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ดีต่อสถานการณ์บ้านเมืองความขัดแย้งในหมู่ประชาชนตอนนี้ ในขณะที่ร้อยละ 99.2 ผิดหวังนักการเมือง แย่งตำแหน่งรัฐมนตรี มุ่งถอนทุนคืน มากกว่าทำงานเพื่อแก้ความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน และร้อยละ 98.7 เสื่อมศรัทธาต่อนักการเมือง แย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกัน ในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันนี้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"