หลานชายอดีตเลขาฯ ยูเอ็น ‘อู ถั่น’ กับวิกฤติพม่าวันนี้


เพิ่มเพื่อน    

    ถั่น มินอู (Thant Myint-U) เป็นนักประวัติศาสตร์ นักเขียน และเป็นหลานชายของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ  "อู ถั่น"

            เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และอดีตที่ปรึกษาพิเศษของประธานาธิบดีเมียนมาเรื่องกระบวนการสันติภาพ

            เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมียนมาอย่างน้อย 5 เล่ม

            ล่าสุดคือ Where China Meets India: Burma and  the New Crossroads

            และ The Hidden History of Burma

            วันนี้ถ้าให้เขาเขียนเรื่องเมียนมาหลังรัฐประหารวันที่  1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คงจะต้องเปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับอนาคตของประเทศของเขาไม่น้อย

            เพราะหลายเรื่องหลายราวที่เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือความคาดหวัง แม้กับผู้เชี่ยวชาญบ้านเมืองของตัวเองอย่างเขา

            จากคำให้สัมภาษณ์นิตยสาร Foreign Policy มีหลายแนววิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญที่น่าสนใจ ตอนหนึ่งเขาบอกไว้ว่า

            "ผู้นำทหารพม่าตกใจไม่น้อยกับปฏิกิริยาต่อต้านจากประชาชนที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จำนวนคนที่ออกมารวมตัวกันกลางถนน แต่เพราะวิธีการประท้วงครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมาทุกครั้ง...."

            ถั่น มินอูชี้ว่า การประท้วงรอบนี้ไม่ได้จัดตั้งโดยอองซาน ซูจี หรือพรรค NLD ของเขาเหมือนในอดีต

            แต่เป็นการประสานโดยเครือข่ายของนักเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี เช่น Bridgefy ซึ่งเป็นแอปการสื่อสารที่ใช้ Bluetooth แทนที่จะต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว

            กองทัพอ้างการที่ยึดอำนาจนั้น ทำตามกรอบของรัฐธรรมนูญและเป็นเรื่องชั่วคราว

            "แม้ว่าผู้นำกองทัพจะตั้งใจไม่ใช้วิธีการรุนแรงมากนักในการจัดการกลุ่มผู้ประท้วง แต่ก็อาจไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรกับกิจกรรมที่เรียกว่า 'อารยะขัดขืน' (Civil  Disobedience Movement: CDM)...."

            สำหรับฝ่าย CDM นั้น หากจะมีการถอยบ้างก็เป็นการถอยไปตั้งหลัก หรือเป็นการถอยแบบมียุทธวิธีเท่านั้น

            "เป็นเรื่องยากที่รัฐบาล (ทหาร) จะสามารถกระชับอำนาจเพื่อสามารถปกครองประเทศให้ได้ตามที่ตนต้องการในเร็ววัน..."

            ถามว่าเขาคิดว่าทหารมียุทธศาสตร์อย่างไรในเรื่องนี้

            ถั่น มินอูตอบได้น่าสนใจว่า

            "ผมจะแปลกใจหากกองทัพมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ผมไม่เชื่อว่าการยึดอำนาจครั้งนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และผมก็ไม่เชื่อว่ามีการวางแผนล่วงหน้ามาหลายเดือนก่อนจะตัดสินใจก่อรัฐประหาร..."

            เขาเชื่อว่าบรรดานายพลมีความไม่พอใจต่ออองซาน ซูจีและพรรค NLD มาระดับหนึ่งแล้ว

            "และพลเอกมิน อ่อง หล่ายอาจคาดว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอาจส่งผลดีต่อตัวเขาเองบ้าง...พรรค USDP ของกองทัพต้องได้ที่นั่งเกิน 25% ของจำนวนที่นั่งในสภาจากการเลือกตั้ง เพราะกองทัพมีโควตาที่นั่งของตัวเองในสภา 25% อยู่แล้ว...แต่เหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น"

            ด้วยเหตุนี้กองทัพจึงกระโดดลงมาเล่นเกมที่พรรค  USDP กล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง กองทัพยืนยันให้มีการสอบสวนเรื่องการโกงเลือกตั้ง แต่พรรค NLD ปฏิเสธ ความตึงเครียดจึงเพิ่มขึ้น นำไปสู่การยื่นคำขาดจากทางทหาร...และเมื่อการต่อรองเจรจาล้มเหลว จึงนำไปสู่การรัฐประหาร

            ถามว่ากองทัพจะทำอะไรต่อไป?

            ถั่น มินอูตอบว่า

            "นายพลทั้งหลายคงจะมุ่งไปสามเรื่อง หนึ่ง-ขยายข้อกล่าวหาต่อ NLD เพิ่มจากเรื่องทุจริตเลือกตั้ง เช่นคอร์รัปชันระดับสูงและการสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ สอง- ปล่อยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนใหญ่ และข้อเสนอหยุดยิงครั้งใหม่กับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางกลุ่มทันที..."

            แต่เขาไม่เชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะเกิดผลอะไรในทางปฏิบัติ

            อีกทางหนึ่งที่นายทหารอาจจะทำคือ พยายามปลุกกระแสคลั่งชาติในส่วนของชาวพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของเมียนมา

            "แต่แม้ในกลุ่มที่มีความรู้สึกชาตินิยมสูงก็มิได้มีความเลื่อมใสศรัทธาในกองทัพเท่าไหร่...ดังนั้น มาตรการทั้งหลายที่ว่ามานี้ก็อาจไม่มีผลในการช่วยกองทัพได้เลย..."

            (พรุ่งนี้: มีความเป็นไปได้ไหมที่ทหารบางกลุ่มจะแตกแถวมาอยู่ข้างผู้ประท้วง?).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"