การเคลื่อนไหวของ กลุ่ม 3 นิ้ว กำลังเดินเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากแนวร่วมในนาม “REDEM” (Restart Democracy) บุกไปหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ถนนวิภาวดีรังสิต บ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา
ภาพที่ปรากฏชัดคือ เมื่อผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากันบริเวณแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มวลชนส่วนหนึ่งได้ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน จนเกิดการปะทะกันและบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย
ศูนย์เอราวัณสรุปข้อมูลผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ว่า มีการนำส่งโรงพยาบาลจำนวน 33 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 23 ราย และประชาชน 10 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิต คือ ร.ต.อ.วิวัฒน์ สินเสริฐ สังกัด สน.ธรรมศาลา จากสาเหตุหัวใจล้มเหลว
จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดการม็อบที่เคลื่อนไหวในรูปแบบไร้แกนนำ ทำให้ควบคุมมวลชนไม่ได้ แม้ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งจะบอกให้สลายการชุมนุมแล้ว แต่บางส่วนก็ยังปะทะกับเจ้าหน้าที่ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า "แนวโน้มคงปะทะอีกรอบ ผมเอาไม่อยู่แล้ว แกนนำก็ไม่มีเลย ไม่รู้ใครเป็นใคร" นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องหาในความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ก็ยังเห็นตรงกัน ได้โพสต์เสนอแนะให้เลิกชุมนุมก่อน
ขณะเดียวกัน ได้เกิดเหตุวางเพลิง พระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน กทม. เมื่อคืนวันที่ 28 มี.ค. เวลาประมาณ 03.20 น.
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แถลงการกุม นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ the bottom blues อายุ 31 ปี นักร้องชื่อดังและแกนนำกลุ่มราษฎร ตามหมายจับที่ 429/2564 ลงวันที่ 2 มี.ค.64 ข้อหา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คดีก่อเหตุวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม
วันเดียวกัน นายไชยอมร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวยอมรับว่า การกระทำการเผาพระบรมในครั้งนี้ เป็นฝีมือของผม และผมขอรับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเคลื่อนไหว หรือการเรียกร้องใดๆ ผมยอมรับว่าเป็นความคิดที่โง่เขลาและทำให้ตนเองต้องตกอยู่ในอันตราย แต่ความหมายที่ซ่อนอยู่ในการเผาครั้งนี้มีอยู่มากมาย เป็นสัญลักษณ์ง่ายๆ ที่หวังว่าทุกคนเข้าใจและจะมองเห็นมัน หวังว่าจะได้พบกันใหม่?? ขอให้ทุกคนสู้ต่อไปIII"
ต่อมาเจ้าหน้าที่นำตัว นายไชยอมร ฝากขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี หลังศาลยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว
ส่วนผู้ต้องสงสัยอีก 2 คน ศาลไม่ออกหมายจับให้ เนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุว่าได้ร่วมกับนายไชยอมรกระทำการดังกล่าว
การเผาพระบรมฉายาลักษณ์กลางเมืองหลวงเช่นนี้ถือเป็นการท้าทายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย และทำร้ายความรู้สึกพสกนิกรชาวไทยที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง
ในช่วงที่ผ่านมากลุ่ม 3 นิ้วเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หากนำเสนอเชิงวิชาการก็เป็นประเด็นที่สามารถพูดคุยกันกับฝ่ายที่เห็นต่างได้ แต่เมื่อมีการแสดงออกในลักษณะก้าวร้าว หยาบคาย เหยียดหยาม ลบหลู่พระเกียรติพระมหากษัตริย์ ทำให้มวลชนเริ่มถอยห่างออกไปเรื่อยๆ
ช่วงปีใหม่มีการหารือในหมู่แกนนำว่าจะมีการปรับขบวนและยุทธวิธีการเคลื่อนไหวให้เป็นระบบมากขึ้น แต่แล้วการชุมนุมในปี 2564 ก็ยังไร้ระบบ ไร้การจัดการ สะเปะสะปะเหมือนเดิม
โดยเฉพาะการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ยิ่งจะทำให้มวลชนถอยห่างออกไปอีก แม้แต่ ส.ส.ฝ่ายค้าน กลุ่มก๊วนเดียวกันที่เคยยื่นมือมาประกันตัว คราวนี้เงียบกริบ
แต่บางคนกลับยังเชื่อว่าเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่แหลมคม ส่งผลสะเทือนมากมาย จะปลุกให้คนที่เหลืออยู่ลุกขึ้นสู้ต่อไป เหมือนไฟลามทุ่ง
เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำ ให้ทุกคนเป็นแกนนำเอง จะสามารถกดดันเจ้าหน้าที่และรัฐบาลได้ และจะทำให้รัฐจัดการกับผู้ชุมนุมได้ยากขึ้น
วิธีคิดแบบนี้คือการวิเคราะห์สถานการณ์แบบ อัตวิสัย เข้าข้างตัวเอง ไม่เข้าใจบริบทสังคมไทย ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล
เหมือนกับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ยกกรณีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ไปเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวต่อต้านกษัตริย์ในประเทศสเปน โดยโพสต์ข้อความ หัวข้อ จากสเปนถึงไทย : เผารูป แต่งเพลง วาดการ์ตูนล้อกษัตริย์ “การทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ผิดกฎหมายหรือไม่? กรณีลักษณะนี้ในประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไร? และพูดใน Clubhouse ด้วย
โดย นายปิยบุตร กล่าวว่า การแสดงออกลักษณะที่แอมมี่ทำ ไม่เข้าองค์ประกอบตามความผิดมาตรา 112 เพราะไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ไปได้ไกลที่สุดคือทำให้เสียทรัพย์
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะเคยมีคดีกลุ่มวัยรุ่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ศาลยกฟ้องความผิดในมาตรา 112 แต่ลงโทษในความผิดฐานซ่องโจร และวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น แต่อย่าลืมว่าข้อเท็จจริงแต่ละคดีไม่เหมือนกัน หากบางคดีมีการแสดงออกถึงการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบันอย่างชัดเจน ศาลอาจจะลงโทษมาตรา 112 ด้วยก็ได้ และหากมีการวางเพลิงทรัพย์บางประเภท ตาม ป.อาญา มาตรา 218 มีโทษสูงสุดประหารชีวิต
ที่สำคัญการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะกลายเป็นการก่ออาชญากรรม มากกว่าคดีทางการเมือง
เมื่อแกนนำผู้ชุมนุมและผู้บงการยังวิเคราะห์สังคมแบบอัตวิสัย ประเมินการเคลื่อนไหวแบบไม่ยึดโยงสังคม ก็ยิ่งทำลายความชอบธรรมของการเคลื่อนไหวลงไปเรื่อยๆ
บรรดาแกนนำที่ติดคุกอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ประกันตัว เนื่องจากศาลเห็นว่า หากปล่อยตัวไปอาจจะไปก่อเหตุทำผิดซ้ำอีก และยังเป็นการท้าทายกฎหมาย ส่วนแกนนำที่ยังเคลื่อนไหวอยู่หากทำผิดซ้ำอีก ก็คงจะทยอยเข้าคุกตามกันไป
ที่ต้องประเมินต่อไปว่าฝ่ายรัฐบาลจะจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างไร โดยธรรมชาติแล้วหากม็อบมีพลังกดดันต่อรองกับฝ่ายอำนาจรัฐได้ ก็จะมีการเปิดโต๊ะเจรจา ซื้อเวลากันไป
แต่เมื่อม็อบ 3 นิ้วสูญเสียความชอบธรรมลง รัฐบาลคงไม่เสียเวลามาเจรจาด้วย ปล่อยให้การเคลื่อนไหวสุดโต่งไปเรื่อยๆ เข้าทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ถือกฎหมายอยู่ในมือ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป ท่ามกลางเสียงหนุนของประชาชนที่เบื่อหน่ายการเคลื่อนไหวแบบหลุดโลก
ขณะที่กระแสการชุมนุมกำลังระส่ำระสาย การเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำท่าจะเกิดปัญหาสะดุดกลางคัน
โดย นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้ว่า ส่วนตัวจะเป็นหนึ่งเสียงที่ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เพราะเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีเจตนาจะแตะหมวด 1 และ 2 ที่ ส.ว.ห้ามแก้ไข และมั่นใจว่าจะมี ส.ว.เกิน 84 เสียง ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เช่นเดียวกับตน
“ส.ว.หลายคนเห็นตรงกันว่า ควรโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ส่วนจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดชุมนุมใหญ่ของม็อบราษฎรตามมาหรือไม่นั้น อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด บ้านเมืองจะขึ้นอยู่กับม็อบไม่ได้ ถ้าไปยอมตามม็อบกดดัน แล้วถ้าผมขนม็อบมาบ้าง ต้องทำตามผมหรือไม่" นายกิตติศักดิ์ กล่าว
เช่นเดียวกับ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวว่า ดูแนวโน้มการโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 แล้ว น่าจะมีเสียง ส.ว.เห็นชอบไม่ถึง 84 เสียงค่อนข้างแน่ โดยเห็นสัญญาณชัดเจนมาตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญวาระ 2 ทั้งเรื่องจำนวนเสียงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ว.เสนอไปให้ใช้เสียงที่ประชุมรัฐสภา 2 ใน 3 และกรณีการขอให้เพิ่มข้อความ ห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แก้ไข 38 มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ปรากฏว่า สิ่งที่ ส.ว.เสนอไปแพ้โหวตทั้งหมด ทำให้ ส.ว.เห็นตรงกันว่า จะไม่โหวตผ่านวาระ 3
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีการโหวตวาระ 3 ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติ คำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ซึ่งแนวโน้มมี 2 แนวทาง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับทำไม่ได้ จะทำให้รัฐสภาไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้ หรืออีกแนวทาง สามารถทำได้ ต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ทั้งนี้ กระแสการเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหลายฝ่ายเห็นว่า รธน.ปี 60 สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สืบทอดอำนาจ จึงเชื่อว่าหากตั้ง ส.ส.ร.ร่าง รธน.ใหม่ จะคลี่คลายความขัดแย้งได้
แต่หากกระบวนการแก้ไข รธน.ครั้งนี้สะดุดที่ศาล รธน. หรือถูกคว่ำในวาระ 3 ก็จะเกิดผลสะเทือนทางการเมือง และเกิดวิกฤติทางการเมืองมากกว่าเดิม หลายฝ่ายประเมินว่าประชาชนจะออกมารวมกลุ่มชุมนุมประท้วงมากขึ้น
ที่สำคัญ หากถูกคว่ำในวาระ 3 อย่างที่ ส.ว.บางคนประกาศไว้ ก็จะถูกมองว่าได้รับสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้ประโยชน์โดยตรงจาก รธน.ฉบับปี 60
และต้องจับตาพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคภูมิใจไทย ที่มีจุดยืนแก้ไข รธน.มาโดยตลอด จะแสดงจุดยืนอย่างไร จะกล้าถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะถือว่าถูกหักหลังนั่นเอง
ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นเงื่อนไขหนุนเสริมการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ว่าจะเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |