'สิงห์ เอสเตท'ขยายพอร์ตเสริมแกร่งเร่งโตก้าวกระโดดสามเท่าตัว


เพิ่มเพื่อน    

 

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักหลายภาคส่วน ทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบปัญหาจากการดำเนินธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีหลายบริษัทที่มองเห็นโอกาสการลงทุน รวมถึงยังต้องการขยายธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตและแนวโน้มที่ดีในอนาคต โดยล่าสุดในวงการอสังหาริมทรัพย์ก็มีความเคลื่อนไหวจาก บมจ. สิงห์ เอสเตท (S) บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำลังเดินหน้าแผนเชิงกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ เพื่อเติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ โดยเตรียมรุกเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ อีกด้วย  

 

เป้าหมายเติบโตสามเท่าตัว 

              นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท (S)  เปิดเผยว่า สำหรับในปี 2564 นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่กำลังเข้าสู่เฟสต่อไปของการพัฒนาธุรกิจของสิงห์ เอสเตท โดยจะเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและธุรกิจสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่จะมาต่อยอดและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำพาบริษัทก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในธุรกิจแถวหน้าของประเทศไทยที่ผนึกกำลังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทมองว่าธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง จะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด และสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างแน่นอน 

              นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท (S) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น มีเป้าเพิ่มรายได้ขึ้น 3 เท่าตัว หรือให้กลายเป็นประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปี พร้อมกับสร้างธุรกิจให้มีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 65,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ไปเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 80,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ขณะเดียวกัน ก็ตั้งเป้าเพิ่มอัตราผลกำไรในการทำธุรกิจด้วย 

              ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่หลากหลายโครงการในประเทศไทย และการเดินหน้าบูรณาการธุรกิจต่างๆ ของสิงห์ เอสเตท ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยผนึกกำลังธุรกิจในเครือ ได้แก่ 1.ธุรกิจโรงแรม 2.ธุรกิจที่พักอาศัย 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม และ 4. นิคมอุตสาหกรรม การผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจให้บริการด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่อง บริษัทมองว่าจะสร้างความได้เปรียบเชิงธุรกิจให้กับบริษัทได้อย่างมาก และเพิ่มความสามารถในการคว้าโอกาสทางธุรกิจขนาดใหญ่ที่กำลังจะมีเข้ามาทางหนึ่งด้วย  

              ส่วนเป้าหมายเบื้องต้นของการขยายธุรกิจใหม่นั้น คือการมาเติมเต็ม ต่อยอด และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจทั้งหมดในภาพรวมของสิงห์ เอสเตท โดยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่เล็งนั้น จะต้องเป็นธุรกิจที่มาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจของสิงห์เอสเตทได้ โดยเป้าหมายนอกเหนือจากการสร้างการเติบโตของธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว เป้าหมายสำคัญคือการทำให้ธุรกิจสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ มีความมั่นคงจากการผสมผสานของธุรกิจที่มีวงจรทางธุรกิจ และมีความเสี่ยงแตกต่างกัน 

 

จับตาโควิดพร้อมเพิ่มศักยภาพโรงแรม 

              นางฐิติมา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่กระทบเรื่องกำลังซื้อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการที่ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วย แม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะค่อนข้างดูดีกว่าในอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ต้องถือว่าภาพรวมทั้งหมด ยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องรอบคอบและระมัดระวัง  ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวคิดและวิธีใหม่ๆ ระดับโลก เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตของบริษัทฯ เพราะเล็งเห็นว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ โดยบริษัทฯ มีโรงแรมและรีสอร์ต 39 แห่ง ใน 5 ประเทศ ซึ่งมีห้องพักรวมกัน 4,647 ห้อง  สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 24% ของรายได้ทั้งหมด 

              การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งยืนยันการตัดสินใจที่ถูกต้องของบริษัทฯ ในการวางโครงสร้างธุรกิจเป็น 4 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกันเพื่อจะทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี ได้อย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากจะคาดเดาทั้งในประเทศและทั่วโลก 

 

ขยายพอร์ตเสริมแกร่งก้าวกระโดด         

              ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ของบริษัท ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกรวม 140,000 ตารางเมตร สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 15% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2563 และโครงการที่พักอาศัย 23 โครงการ ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบ และคอนโดมิเนียม เช่น แบรนด์สันติบุรี The ESSE และแบรนด์อื่นๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 57% ของรายได้ทั้งหมด ส่งผลให้ในปี 2563 ที่ผ่านมา 3 กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เอสเตท คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 96% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ  

              “เราหวังว่าจากนี้กลุ่มธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มและต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นแกนหลักมาแต่เดิม และจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ได้อย่างมากมาย บริษัทกำลังเดินหน้าจัดทัพธุรกิจใหม่ เพราะมองเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพของธุรกิจก้าวต่อไปด้วย 4 กลุ่มธุรกิจ จากเดิมที่มี 3 กลุ่มธุรกิจคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย ธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม” 

              ส่วนการเงินของบริษัทจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำอยู่ที่ 0.96 เท่า ประกอบกับการมีเครดิตดี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีก 25,000 ล้านบาท ทำให้เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะเดินหน้ากลุ่มธุรกิจที่ 4  

โดยบริษัทยังมีเป้าหมายที่จะแสวงหาความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งความสามารถในการแข่งขัน และช่วยขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น 

อสังหาฯปรับตัวสร้างการเติบโต 

              นายโอภาส ถิรปัญญาเลิศ  ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด กล่าวว่า ไม่แปลกใจข่าวที่สิงห์เอสเตทประกาศรุกธุรกิจอื่นๆ เพิ่ม ทั้งนิคมอุตสาหกรรม  ผลิตกระแสไฟฟ้า ให้บริการทางวิศวกรรมและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพราะในยุคปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคเร็วมาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจริงๆ ก็เป็นธุรกิจที่มีวงจรของมัน คือ สลับระหว่างแนวราบและแนวสูงเช่น ช่วงคอนโดมิเนียมขายดีหลายปีก็จะเป็นแนวราบที่ตลาดเงียบ พอตลาดแนวราบกลับมาบูม คอนโดมิเนียมก็จะซึม เป็นวงจรแบบนี้มาตลอด แต่ถ้ามีปัจจัยลบอย่างอื่นมากระทบเช่นโควิด-19 รอบนี้ ตลาดก็อาจจะซึมลงทั้งหมดได้  

              ดังนั้น การแบ่งพอร์ตฟอลลิโอไปในธุรกิจอื่นจึงเป็นทางออกที่ถูกต้องของทุกบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ยิ่งถ้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยิ่งต้องทำ เพื่อรักษา Growth ของบริษัทและผลประกอบการไม่ให้พึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง จึงเห็นหลายๆรายมีธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ไม่ว่าจะเป็น แสนสิริ  QH  PF และอื่นๆ หลายบริษัท ก็ขยายมาทำบริษัทเอเจนท์ดูแลทั้งการขาย การปล่อยเช่าอสังหาฯ เช่น ANAN  AP หรือหลายบริษัทขยายไปด้านดูแลจัดการนิติบุคคลจนโด่งดังเช่น LPN แสนสิริ รวมไปถึงงานแม่บ้าน งานบริหารงานด้านวิศวกรรมเลย เช่น ORIGIN  เป็นต้น   

              แน่นอนว่าการเข้ามาขยายธุรกิจของสิงห์ก็เป็นที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพียงแต่รอบนี้ อาจมีธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและผลิตกระแสไฟฟ้าที่น่าสนใจ เพราะในยุคต่อจากนี้ธุรกิจทั้งสองดังกล่าวน่าสนใจและกำลังโตอย่างมาก โดยเฉพาะผลิตกระไฟฟ้าที่มีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดค่อนข้างมาก แต่ด้วยหน้าตักและคอนเน็คชั่นของทางสิงห์เอง เชื่อว่าจะมีความสามารถในการสร้างรายได้จากด้านนี้จนมาเป็นรายได้ที่มีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้   

              แต่อย่าลืมว่าการที่สิงห์เอสเตทกล้าประกาศว่าจะเพิ่มรายได้ให้เป็น 3 เท่าตัว ภายใน 3 ปี ข้างหน้าแปลว่า  สิงห์เอสเตทเตรียมแผนการลงทุนที่น่าจะสามารถ  “ก่อให้เกิดรายได้โดยทันที”  ไว้แล้ว  ซึ่งนั่นแปลว่า ในเร็วๆนี้อาจจะได้เห็นการประกาศเข้าซื้อกิจการหรือเข้าร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจอื่นที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้อยู่แล้วและสามารถใช้พลังการ SYNERGY กับทางสิงห์เอสเตทได้เลยเพื่อให้รับรู้รายได้โดยเร็ว  และมั่นใจว่าในแผนธุรกิจของสิงห์ยังไม่จบเท่านี้ ยังมีจิ๊กซอว์ตัวอื่นที่จะมาต่อยอดต่อจากนี้ได้อีก  สิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้ นอกจากติดตามข่าวว่าจะไปร่วมกับใคร ก้ต้องจับตามองราคาหุ้นบนกระดานให้ดีด้วยว่าจะมีความเคลื่อนไหวอะไรต่อหรือไม่! 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"