5 มี.ค.64 - เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มี.ค. ที่่ผ่านมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เปิดห้องสนทนาในแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse) ให้ประชาชนร่วมสอบถามแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อ “จากสเปนถึงไทย : เผารูป แต่งเพลง วาดการ์ตูนล้อกษัตริย์” สืบเนื่องจากกรณีเผาพระบรมฉายาลักษณ์โดยศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แอมมี่ The Bottom Blues
นายปิยบุตร กล่าวช่วงหนึ่งว่า “อยากฝากด้วยความปรารถนาดีไปยังผู้มีอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่พนักงานสอบสวน ตำรวจ อัยการ ศาล รัฐบาล หรือใครก็ตามที่มีอำนาจอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังว่ากรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อยากให้คิดทบทวนให้ถี่ถ้วน เพราะการใช้ ม.112 กับกรณีของคุณแอมมี่ ผมกังวลใจจริงๆ ว่ายิ่งใช้หนัก ยิ่งใช้แรง ยิ่งใช้มาก จะทำให้เรื่องราวลุกลามบานปลายไปยิ่งกว่าเดิม การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามบุคคลที่คิดต่างจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง กลไกรัฐเอาไปใช้ สอง คนอยู่ใต้กฎหมายพร้อมที่จะเชื่อฟังหรือกลัว จึงยอมปฏิบัติตาม หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปหรือไม่มีทั้งสองอย่าง การใช้กฎหมายปิดปากก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อก่อน การใช้ 112 อาจทำให้คนกลัว แต่ ณ วันนี้ เยาวชนจำนวนมากรวมทั้งคุณแอมมี่ ไม่มีทีท่ากลัวหรือกังวลกับการโดนคดี 112 แล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า การใช้ 112 ไม่สำเร็จตามที่รัฐต้องการ ตรงกันข้าม จะยิ่งเป็นชนวนที่ทำให้คนต่อต้านมากขึ้น ดังที่เริ่มเกิดเป็นกระแสแฮชแท็ก มีการเผา แล้วถ่ายรูปมาลงในทวิตเตอร์กัน”
เมื่อมีผู้เข้าร่วม clubhouse ตั้งคำถามถึงข้อหาจากกรณีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ว่าเหตุใดจึงมีปฏิกิริยาที่รุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ปิยบุตร ชี้ว่าในความเห็นของตน การแสดงออกลักษณะที่แอมมี่ทำ ไม่เข้าองค์ประกอบตามความผิดมาตรา 112 เพราะไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ไปได้ไกลที่สุดคือทำให้เสียทรัพย์ หากพิจารณาร่วมกับแนวทางคำพิพากษากรณี 6 วัยรุ่นที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อปี 2561 ก็มีลักษณะคล้ายกัน คือศาลพิพากษาให้มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แม้จำเลยจะรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม ก็คาดเดาไม่ได้ว่าศาลจะว่าอย่างไรกันแน่
นายปิยบุตร เสริมว่าการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงเวลาหนึ่งอาจเป็นยาแรงที่ทำให้คนไม่กล้าแสดงออก ทำให้คนกลัว แต่เมื่อยุคสมัยและสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป เมื่อประชาชนมีความคิดเห็นก้าวหน้ามากขึ้นทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ คนก็เริ่มไม่กังวลกับมาตรา 112 ปรากฏการณ์ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าถ้าวันนั้นมาถึง ไม่ว่าจะใช้กฎหมายมาตราไหนก็ไม่สำเร็จ ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ขอให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณให้รอบคอบและความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง การบังคับใช้มาตรา 112 ระยะหลังเกิดจากการให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ว่าจะกลับมาใช้ จึงมีการตั้งข้อหาย้อนหลัง การกระทำหลายกรณีเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ก่อนหน้านี้ตั้งข้อหามาตรา 116 ตั้งข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตั้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี่แต่รู้สึกว่ายังเอาไม่อยู่ ยังชุมนุม ยังพูดไม่เลิก ก็เลยเอา 112 มาใช้ เพราะโทษหนัก ทั้งที่หลายเรื่องไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 เลย แต่ก็เหมือนเดิม ตำรวจก็เขียนๆ สำนวน สั่งฟ้อง ก็เอา 4 คนแรกก่อน ไม่ได้ประกันตัว แล้วประเมินสถานการณ์ไป
“นี่คือการเอากฎหมายมาปิดปาก เอากระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือ ทีนี้พอยิ่งใช้แล้วคนไม่กลัว จะยิ่งเสื่อม พูดกันตรงไปตรงมา มาตรา 112 หากใช้มากขึ้น ก็ยิ่งย้อนแย้ง เราโฆษณาไปทั่วโลก ว่าสถาบันฯ ของไทยเป็นที่เคารพนับถือ เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ แต่ทำไมมีคนโดนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เยอะขนาดนี้ ดังนั้น การนำ 112 มาใช้มากๆ ไม่เพียงแต่เป็นการนำกฎหมายมาปิดปากเท่านั้น แต่ยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งอันตราย และอาจกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย” ปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า “ผมคิดว่าเราเป็นเพื่อนมนุษย์ เราเป็นเพื่อนร่วมชาติกัน จำเป็นที่จะต้องอยู่อาศัยด้วยกันในแผ่นดินนี้ต่อไป การจะอยู่ด้วยกันได้ก็จำเป็นต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ในสังคมประชาธิปไตยต้องมีความอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกัน อย่าใช้วิธีการล่าแม่มด อย่าพาดหัวข่าวให้คนเกลียดชังกัน ฝากถึงทั้งคนที่มีอำนาจรัฐ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ไม่สบายใจกับการกระทำ เราต้องพยายามสร้างสังคมที่มีวุฒิภาวะ ยอมรับการแสดงออกซึ่งกันและกัน มีเมตตาต่อกัน เราจะได้อยู่ร่วมกันฉันเพื่อนร่วมชาติ”
เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวด้วยว่า การทำลายรูปหนึ่งรูปไม่ได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของสถาบันฯ ถ้าหากใครก็ตามบอกว่าการเผารูปหนึ่งรูปทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลง กระทบต่อความมั่นคงของสถาบัน คิดแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้มองได้ว่าสถาบันฯ อยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคงอย่างนั้นหรือ เพียงเผารูป ก็ทำให้สถาบันสั่นคลอนแล้วอย่างนั้นหรือ
“แต่แน่นอนว่ากรณีแอมมี่เผาพระบรมฉายาลักษณ์อาจจะกระทบกับจิตใจของคนที่รักสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่บ้าง ก็ต้องอดทน มีเมตตา และให้อภัยต่อกัน การใช้กฎหมายปิดปาก เอาไปขังคุก ตามล่าแม่มด ไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมกลับมาเปลี่ยนความคิดที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ได้ หากต้องการให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อสถาบันฯ การเอาเขาไปขัง ไม่มีทางทำให้เขาเปลี่ยนได้ มีแต่ต้องพูดคุยกันเท่านั้น ซึ่งก็รวมถึงฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ ด้วย จำเป็นต้องคุยกับคนที่คิดต่าง เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน” เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |