‘พรเพชร’หนุน ‘กม.’เทียบเก้าอี้ เชื่อบริหารง่าย


เพิ่มเพื่อน    

 “วิษณุ” ย้ำกฎหมายเทียบตำแหน่ง ขรก.-ทหาร ต้องใช้ตำแหน่งไม่ใช่ยศ “พรเพชร” แจงประโยชน์เพื่อบริหารจัดการ ลั่นไม่เกี่ยวกับฮุบเก้าอี้องค์กรอิสระ เพราะสรรหาเกือบหมดแล้ว

เมื่อวันศุกร์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติการเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน ที่มีสาระสำคัญกำหนดให้ข้าราชการทหารระดับพลตรีมีสถานะเทียบเคียงกับตำแหน่งอธิบดี เพื่อให้มีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระได้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้องค์กรอิสระมีแต่ทหาร ว่าถ้าเช่นนี้อย่าไปเลือกทหาร เรื่องนี้มันอยู่ที่คณะกรรมการสรรหา ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เขามีสิทธิ์เท่านั้นเอง  หากเราจะให้ความเป็นธรรมกับทหาร ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ 
“การจะให้ พล.ต.เทียบเท่ากับอธิบดี ผมมองว่ามันเลยความเป็นธรรม และจากการหารือกับอดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) 5-6 คน เห็นตรงกันว่าการเทียบเคียงต้องใช้ตำแหน่ง ไม่ใช่ยศ” นายวิษณุย้ำ
    ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี สนช.เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเปรียบเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน ซึ่งจะเป็นร่างที่เสนอคู่ขนานกับร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งยังไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เท่าที่ทราบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวกับการเทียบตำแหน่งทหารเข้ากับข้าราชการพลเรือน ซึ่งในอดีต ก.พ.เคยเทียบให้ แต่เทียบกับทุกตำแหน่ง แต่ขณะนี้ไม่รู้ว่า ก.พ.ยังมีอำนาจเทียบหรือไม่ ซึ่งการเทียบก็เพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งเห็นด้วยที่ต้องมีการเทียบตำแหน่งข้าราชการทุกตำแหน่ง เพื่อสะดวกแก่การบริหารจัดการ
    เมื่อถามถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างกฎหมายนี้เจาะจงเฉพาะทหาร นายพรเพชรกล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ว่าควรเทียบให้หมดทุกอย่าง ทั้งนี้ ไม่รู้ว่าเกิดจากการที่บุคคลที่จะเข้าไปสรรหาเป็นองค์กรอิสระ มีการกำหนดตำแหน่งอธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี เป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะสรรหา ซึ่งคราวนี้อธิบดีเป็นตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนระดับหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งทหารไม่มีอธิบดี มีแต่เจ้ากรมและแม่ทัพภาค 
นายพรเพชรอธิบายต่อว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยชี้แจงในการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าหัวหน้าส่วนราชการระดับอธิบดี หมายถึงข้าราชการพลเรือน และในคำชี้แจงของ กรธ.ยังระบุด้วยว่า ที่กรรมการสรรหาเคยตีความว่าหัวหน้าส่วนราชการต้องเป็นส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลนั้น ในขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ.เคยพูดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคล ต่อมาได้มีหนังสือมาถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งได้สอบถามไปว่า คำว่าหัวหน้าส่วนราชการไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคล ผู้ว่าราชการจังหวัดเทียบเท่าอธิบดี เอกอัครราชทูตก็เป็นหัวหน้าส่วนราชการ และเทียบกับระดับอธิบดี กรธ.ตอบมาแค่นี้โดยไม่ได้พูดถึงข้าราชการฝ่ายอื่นเลย เมื่อข้าราชการฝ่ายอื่นมาสมัครก็ตกคุณสมบัติไป
    “ขณะนี้เรียนตามตรงว่าองค์กรอิสระสรรหาไปหมดแล้ว เหลือผู้ตรวจการแผ่นดินกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่ง กสม.ไม่มีคุณสมบัติของอธิบดี ส่วนผู้ตรวจฯ วันนี้ก็ไม่มีคุณสมบัติของอธิบดีเช่นกัน เพราะว่าคุณสมบัติของผู้ตรวจฯ ทุกครั้งจะเป็นภาครัฐ อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการ จะเห็นว่าอดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้พิพากษามาเป็น แต่วันนี้เป็นการสรรหาใหม่ เพราะคนที่เสนอเดิมไม่ได้รับความเห็นชอบ ดังนั้น ถ้าบอกว่าเพื่อประโยชน์ในการสรรหาองค์กรอิสระ วันนี้องค์กรอิสระก็สรรหาไปเกือบหมดแล้ว จะเขียนกฎหมายเพื่อการนี้โดยเฉพาะก็คงไม่ใช่” นายพรเพชรกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"