คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษของยูเอ็นประจำเมียนมาระบุ การปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมาเมื่อวันพุธมีคนเสียชีวิต 38 คน เป็นวันนองเลือดที่สุดนับแต่เกิดรัฐประหาร เรียกร้องยูเอ็นใช้ยาแรงกับพวกผู้นำทหาร พ้อตัวแทนรัฐบาลทหารลั่นชินแล้วกับแซงก์ชันและการถูกโดดเดี่ยว มีเพื่อนไม่กี่ประเทศก็อยู่ได้
"แค่วันนี้วันเดียว มีคนตาย 38 คน" ทูตพิเศษชาวสวิสขององค์การสหประชาชาติประจำเมียนมา กล่าวกับนักข่าวเมื่อวันพุธที่ 3 มีนาคม และทำให้จำนวนรวมผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเมียนมานับแต่รัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีมากกว่า 50 คนแล้ว
ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์กล่าวว่า เหตุการณ์วันนี้ถือเป็นวันนองเลือดที่สุดนับแต่รัฐประหาร แต่เธอไม่ได้ให้รายละเอียดที่มาของตัวเลขดังกล่าว เธอยังเรียกร้องให้ยูเอ็นใช้ "มาตรการรุนแรงมากๆ" กับพวกนายพล เพราะในการสนทนากับพวกผู้นำทหารเมียนมา พวกเขาไม่นำพาคำขู่คว่ำบาตรเลย
ทูตผู้นี้ขยายความว่า ในการสนทนากับโซ วิน ผู้นำทหารหมายเลข 2 ของเมียนมา เธอได้เตือนเขาไปว่ากองทัพเมียนมาน่าจะเผชิญมาตรการที่รุนแรงจากบางประเทศและการถูกโดดเดี่ยวเพื่อตอบโต้การก่อรัฐประหาร
"คำตอบก็คือ 'พวกเราชินกับการแซงก์ชันแล้ว และเราก็อยู่รอดมาได้'" ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ บอกกับนักข่าวที่นิวยอร์ก "เมื่อดิฉันเตือนว่าพวกเขาจะถูกโดดเดี่ยว คำตอบก็คือ 'เราต้องเรียนรู้ที่จะเดินไปพร้อมกับเพื่อนแค่ไม่กี่ราย'"
รัฐบาลตะวันตกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ, อังกฤษ, แคนาดา และสหภาพยุโรป ได้ใช้หรือกำลังพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบเจาะจงเพื่อกดดันกองทัพและพันธมิตรทางธุรกิจของพวกเขา
เดือนที่แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเคยแสดงความกังวลต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินของพวกผู้นำทหาร แต่ที่ประชุมไม่สามารถผ่านแถลงการณ์ประณามได้ เพราะจีนและรัสเซีย ที่เป็นสมาชิกถาวร คัดค้านโดยมองว่าเป็นเรื่องของกิจการภายในของเมียนมา นักการทูตกล่าวกันว่าการดำเนินการใดๆ ของคณะมนตรีฯ ที่เกินเลยกว่าแถลงการณ์นั้น ไม่น่าเป็นไปได้
ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ กล่าวถึงจีนและรัสเซียด้วยว่า เธอหวังว่าสองประเทศนี้จะตระหนักได้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่กิจการภายใน แต่กระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคนี้
โซ วิน บอกกับทูตผู้นี้ว่า "หลังจาก 1 ปี พวกเขาอยากจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง" แต่ทูตยูเอ็นรายนี้ให้ทัศนะว่า ชัดเจนว่าตอนนี้พวกนายทหารใช้กลยุทธ์สอบสวนคนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) แล้วจับเข้าคุก "สุดท้ายแล้ว เอ็นแอลดีจะถูกห้ามแล้วจากนั้นพวกเขาจะจัดเลือกตั้งใหม่ ที่พวกเขาจะชนะแล้วก็ได้ครองอำนาจต่อไป"
"วันนี้เรามีคนหนุ่มสาวที่อยู่อย่างมีเสรีภาพมานาน 10 ปี พวกเขามีโซเชียลมีเดีย และพวกเขามีการจัดองค์กรที่ดีและเด็ดเดี่ยวมาก" ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ กล่าว "พวกเขาไม่ต้องการกลับไปอยู่ในระบอบเผด็จการและถูกโดดเดี่ยวอีกต่อไป".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |