อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ คือ “การพัฒนากฎหมายภาครัฐ” ที่ขณะนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้มีความทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ด้วย
ทั้งนี้ อีกการพัฒนากฎหมายสำคัญที่รัฐกำลังปรับปรุงคือ “หลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ” ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม มีมติเห็นชอบ 2 ข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) คือ การทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 และวันที่ 6 กันยายน 2548 ที่มีมติรับทราบและเห็นชอบการพัฒนากฎหมายตามนโยบายรัฐบาล ตามที่คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมายเสนอ
ซึ่งรวมถึงแนวทางการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ โดยมอบหมายให้ สคก.รับผิดชอบพัฒนาหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐให้เหมาะสมแก่กาลสมัย และไม่ต้องนำเสนอหลักสูตรให้ ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีก แต่ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม.เพื่อทราบเป็นระยะ ทั้งนี้ผู้ซึ่งจะผ่านการฝึกอบรมต้องมีผลงานวิชาการส่วนบุคคลเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต้นสังกัด เผยแพร่ต่อสาธารณะในเว็บไซต์ของ สคก.ด้วย
นอกจากนี้ ให้ สคก.พัฒนาวิธีการฝึกอบรมและพัฒนานักกฎหมายภาครัฐให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และอาจมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐจัดการฝึกอบรมนักกฎหมายภาครัฐในสังกัดของตนเองตามหลักสูตรที่ สคก.กำหนด โดยผู้ผ่านการฝึกอบรมต้องได้รับการอนุมัติให้ผ่านการฝึกอบรมจาก สคก.ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพการฝึกอบรมด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นในการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ประกอบด้วย การอบรมนักกฎหมายภาครัฐตามหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 6 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 15 ปีแล้ว เนื้อหาของหลักสูตรและวิธีการจัดการฝึกอบรมและพัฒนานักกฎหมายภาครัฐไม่สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะหลักการพัฒนากฎหมายให้ดีขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
รวมทั้งต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนตามหลัก Open Government และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน
และรัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายแต่ละฉบับทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากเนื้อหาของหลักสูตรที่ต้องพัฒนาแล้ว วิธีการจัดการฝึกอบรมและพัฒนาต้องปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นด้วย โดยเฉพาะการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการฝึกอบรมและพัฒนา เนื่องจากที่ผ่านมาการอบรมที่ได้รับอนุมัติหลักการจาก ครม.เป็นการจัดการฝึกอบรมในรูปแบบเดิม ซึ่งมีข้อจำกัดด้านจำนวนคนและงบประมาณ ทำให้มีนักกฎหมายภาครัฐจำนวนมากที่มีระยะเวลารับราชการยาวนานยังไม่ได้รับการฝึกอบรมและพัฒนา
“ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงเนื้อหาของหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและหลักการดังกล่าว รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาล”
ทั้งนี้ เพื่อให้นักกฎหมายภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง และจะทำให้ประเทศไทยมีนักกฎหมายระดับประเทศเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคตด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |