บทบาทของประเทศไทยในกรณีวิกฤติเมียนมา ในฐานะ "เพื่อนผู้หวังดี" หรือ "คนกลางไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน" น่าจะกำลังถูกท้าทายไม่น้อย
หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย Retno Marsudi เดินสายบินเข้ากรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้พบปะกับ "รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลรัฐประหาร" U Wunna Maung Lwin และคุณดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศไทย โดยนายกฯ ประยุทธ์ก็อธิบายแบบกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียดว่า
ท่านไม่ได้รับรอง (รัฐประหาร) อะไรทั้งสิ้น แค่รับฟังปัญหาการเมืองของเขา และเรื่องภายในของเขาก็ต้องแก้เอง
ข่าวเรื่องนี้มีการรายงานอย่างนี้
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเข้าพบวานนี้ว่า
ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ขอเยี่ยมคารวะในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเขาขอก็ต้องพบเขา ไม่ได้หมายความว่าตนจะไปรับรองอะไรทั้งสิ้น จึงอยากให้เข้าใจ ซึ่งวานนี้มีการพบปะกัน 2 ประเทศ เริ่มจากอินโดนีเซียและต่อด้วยเมียนมา
พล.อ.ประยุทธ์ยังเปิดเผยด้วยว่า มีการพูดคุยเรื่องพัฒนาการทางการเมืองในประเทศและสถานการณ์ในประเทศของเมียนมา และยังได้แสดงความห่วงใยในนามของประเทศไทย ในฐานะประเทศที่มีชายแดนติดกันและมีประชาชนไปมาหาสู่ จึงมีปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน แรงงานต่างด้าว รวมถึงปัญหาโควิด-19 ด้วย .
พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า การเมืองภายในประเทศเมียนมาเป็นเรื่องของเขา ตนก็เป็นกำลังใจให้เมียนมา พร้อมถามว่าจะเดินหน้าประเทศให้เป็นประชาธิปไตยให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งปัญหาของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยจะต้องไปตอบรับหรือไม่ตอบรับ
ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาก็เล่าให้ฟัง ซึ่งตนก็รับฟังในนามประเทศไทยและในนามอาเซียนด้วยที่มีอยู่หลายประเทศด้วยกัน ซึ่งมติอาเซียนก็ออกมาแล้วต่อเรื่องนี้ โดยประเทศบรูไน แต่วันนี้จะทำอย่างไรให้เกิดความสำเร็จแบบวิน-วินไปด้วยกันทั้งหมด ซึ่งหมายถึงประชาชนและประเทศชาติ
เมื่อถามถึงกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ไทยและอินโดนีเซียจะเป็นตัวกลางในการพูดคุยปัญหาในเมียนมา เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ท่าทีของประเทศไทยคือต่างคนต่างแก้ปัญหาไป ซึ่งมีอาเซียนเป็นตัวกลางอยู่แล้ว แค่รับฟังเขา เราเป็นตัวแทนใครไม่ได้ แต่ในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดกับเขา จะทำอย่างไรให้งานของเรากับเขา สองประเทศวิน-วินทั้งเศรษฐกิจ ประชาชน ส่วนเรื่องการเมืองของเมียนมาก็เป็นเรื่องของเขา อย่าเอามาพันกัน ส่วนที่สื่อต่างประเทศเขียนในลักษณะนี้ ก็ขอให้สื่อไทยช่วยอธิบายด้วย
ตีความได้จากคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ประยุทธ์ว่า ท่านเพียง "รับฟัง" แต่ไม่ได้เสนอทางแก้ไขอะไรไป ต้องรอให้อาเซียนตกลงกันว่าจะมีการปรึกษาหารือกันอย่างไรต่อไป
หรืออะไรทำนองนั้น
จะว่าไปแล้วท่าทีของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ค่อนข้างจะไม่มีอะไรชัดเจนเท่ากับอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์...และบรูไนที่เป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนในปีนี้
รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศนี้พูดตรงกันว่า รัฐบาลทหารต้องปล่อยตัวอองซาน ซูจี และ "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย" จะต้องเข้าร่วมกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกให้ประเทศด้วยกัน
อินโดนีเซียพูดไกลกว่าเพื่อนในอาเซียน ด้วยการยกเนื้อหาของ Asean Charter หรือกฎบัตรอาเซียนที่มีการระบุถึงความสำคัญของประเทศสมาชิกที่ต้องเคารพในหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และนิติรัฐ
อีกทั้งยังเน้นว่า เหตุการณ์ในเมียนมาวันนี้ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของเมียนมาเท่านั้น "แต่ยังมีผลกระทบต่อภูมิภาคด้วย"
นั่นแปลว่าจะใช้หลักการเดิมๆ ที่ว่า "จะไม่แทรกแซงหรือก้าวก่ายกิจการภายในของแต่ละประเทศ" ไม่ได้อีกต่อไป
เพราะเป็นเรื่องที่กระทบคนอื่นๆ ในย่านนี้ด้วย
ที่นายกฯ ไทยบอกว่าจะต้องหาทางออกแบบ "win-win" คือทุกฝ่ายจะต้องได้ประโยชน์ ไม่มีใครเป็นผู้ถูกกระทำ และจะต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนชาวเมียนมาคือเป้าหมายที่ถูกต้อง
เพียงแต่ว่ารัฐบาลไทยเรายังไม่ได้บอกว่า แล้วในทางปฏิบัติมีทางออกอะไรบ้าง
การทูตที่จะได้ผลนั้นต้องไม่ใช่เพียงแค่ภาษาไพเราะน่าฟังเท่านั้น แต่ยังต้องมีข้อเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมด้วย!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |