ปิด'อ่าวมาหยา' เปิดฉากฟื้นฟูใต้ทะเล


เพิ่มเพื่อน    

 

อ่าวมาหยาปิด 4 เดือน เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติทั้งใต้ทะเลและบนบก

    นับเป็นครั้งแรก ที่อ่าวมาหยา แหล่งท่องเที่ยวสวยติดอันดับโลกในเขตอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ จะต้องปิด 4เดือน เพื่อให้ธรรมชาติได้พักและฟื้นตัวจากการถูกใช้งานอย่างหนัก หลังจาก 10 ปีที่ผ่านมาอ่าวมาหยาต้องรองรับนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปชื่นชมและเล่นน้ำในอ่าวแห่งนี้ 3,000- 4,000 คนต่อวัน  นับว่าเกินขีดความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่ ทำลายปะการัง สัตว์น้ำ  ระบบนิเวศ อีกทั้งการเหยียบย่ำทรายบริเวณชายหาด เรือท่องเที่ยวหลายร้อยลำจอดเกยหน้าหาดก่อปัญหาทรายทรุด  

นักท่องเที่ยวเหยียบย่ำอ่าวมาหยาไม่ต่ำกว่า 3-4 พันคนต่อวัน 


    กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศฟื้นฟูอ่าวมาหยา เรียกง่ายๆ ว่า "ปิด"อ่าวมาหยาและอ่าวโล๊ะซามะด้านหลัง  เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย.2561  ยอมวางผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินมหาศาลจากกิจกรรมท่องเที่ยว เลือกรักษาธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลก่อนสายเกินไป โดยในช่วงเวลาปิดอ่าวมาหยา ห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นอ่าวทั้งด้านหน้าและด้านหลังเด็ดขาด อนุญาติให้ผู้ประกอบการนำเรือเข้ามาลอยลำนอกบริเวณแนวทุ่นไข่ปลาที่กั้นเขตห้ามเข้าไว้ นักท่องเที่ยวชมอ่าวมาหยาจากบนเรือในทะเลเท่านั้น เมื่อก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือแห่งใหม่และทางเดินบริเวณอ่าวโล๊ะซามะที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง อช.พยายามเร่งให้เสร็จภายในปีนี้ จะปิดไม่ให้เรือวิ่งเข้าออกอ่าวมาหยาถาวร พร้อมทำระบบ E-ticket เพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหลือเพียง 2,000 คนต่อวันด้วย  

 

นำพ่อแม่พันธุ์ของปะการังมาจากเกาะยูงมาฟื้นฟูอ่าวมาหยา


    ขณะที่ การฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรมบริเวณอ่าวมาหยา ได้เริ่มขึ้นแล้วในโครงการติดตามและฟื้นฟูปะการังในพื้นที่บริเวณอุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนและการปลูกปะการังด้วยวิธี Coral Propagation บริเวณอ่าวมาหยา   นับเป็นโครงการนำร่องฟื้นฟูอ่าวมาหยา ซึ่งบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ปะการังแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเริ่มลงมือปลูกปะการังเพื่อช่วยธรรมชาติฟื้นฟู โดยนำพ่อแม่พันธุ์ของปะการังมาจากเกาะยูงไปสดๆร้อนๆ เมื่อวันที่  17 พ.ค.ที่ผ่านมา
    ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มก.  ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวว่า แผนปฏิรูปประเทศจะลดความเสียหายของปะการังให้ได้ร้อยละ 50 จากร้อยละ 77 ภายใน 5 ปี ขณะนี้เหลือเวลาอีก 3 ปีเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการ สำหรับอุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี มีการนำร่องฟื้นฟูด้วยการรักษาแนวปะการังเกาะยูง ห่างจากอ่าวมาหยาแค่ 10 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่มีแนวปะการังเสื่อมโทรมมากจากกิจกรรมท่องเที่ยว    นำมาสู่ อช.ประกาศปิดเกาะยูง เพื่ออนุรักษ์ปะการัง กำหนดเป็นเขตหวงห้าม ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมท่องเที่ยวทุกรูปแบบเมื่อปี 2559 ให้ธรรมชาติฟื้นตัวเองและปลูกปะการังด้วยวิธี Reef Propagation อีกทาง จากการติดตามสถานภาพพบปะการังน้ำตื้นฟื้นตัวชัดเจน  เดิมพบน้อยกว่า 5% ปัจจุบันสมบูรณ์ดีมาก บางพื้นที่หนาแน่นมากกว่า 80%  กลายเป็นแนวปะการังที่สวยที่สุดอีกแห่งในไทย โดยสิงห์ เอสเตท สนับสนุนเรือตรวจการณ์เจ้าหน้าที่ และทุ่นจอดเรือ  30 ทุ่น 

สภาพแนวปะการังเกาะยูงสมบูรณ์หลังปิดเกาะ ขยายผลที่มาหยา 


    " เมื่อปิดเกาะยูง พบปะการังฟื้นตัวโดยสามารถเห็นได้ด้วยตาภายใน 2 ปี เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จได้อย่างดี  นำมาสู่ความมั่นใจขยายผลที่อ่าวมาหยา ถ้าไม่มีการวิจัยที่เกาะยูง อุทยานฯ ก็ไม่กล้าลงมติปิดอ่าวมาหยา การปฏิรูปทะเลไทยเริ่มต้นขึ้น  ปะการังน้ำตื้นสำคัญสุดเป็นดัชนีบ่งบอกความสมบูรณ์ของทะเล ปี 60 มีนักท่องเที่ยว 2 ล้านกว่าคนเข้ามาท่องเที่ยวหมู่เกาะพีพี เฉพาะอ่าวมาหยามีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 3,800 คนต่อวัน มีเรือวิ่งเข้าวิ่งออกเหนือแนวปะการังกว่า 200 ลำต่อวัน เป็นเรือเร็ว บรรทุกคน 30-40 คน  ตะกอนทรายฟุ้งกระจายตกทับปะการังตายหมด ปลูกยังไงก็ไม่ฟื้น ถ้าไม่ห้ามเรือเข้ามาในอ่าว  มีปัญหาทรายยุบตัว เพราะโดนเรือปั่นออก  ถ้าไม่มีเรือในมาหยาตลอดไปจะช่วยให้เราฟื้นฟูแนวปะการังน้ำตื้นในอ่าวมาหยาให้กลับคืนมาอีกครั้ง ไม่ใช่เจอแต่ซากปะการังตายเหี้ยนกับทราย นี่คือ การฟื้นฟูความทรงจำของคนไทยที่สูญเสียไป เพราะเงินสำคัญกว่าสมบัติชาติ  "   ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวถึงการฟื้นฟูอ่าวที่ดังที่สุดในโลก 

แนวปะการังเกาะยูง หมู่เกาะพีพี ฟื้นตัว 


    นอกจากเขตสงวนห้ามเที่ยวเกาะยูง ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ตามแผนปฏิรูปทะเลไทย อุทยานฯ ทางทะเล 17 แห่งที่มีแนวปะการังต้องเสนอพื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ปะการัง กำหนดเป็นเขตหวงห้ามเหมือนเกาะยูง   ปัจจุบันเกาะรอก อุทยานฯ หมู่เกาะลันตา และเกาะละวะ อุทยานฯ พังงา อยู่ระหว่างกำหนดเป็นเขตหวงห้ามไม่ให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวใดๆ   ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 60 มีนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานแห่งชาติ 5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 4.8 ล้านคน มาเที่ยวอุทยานฯ ทางทะเล  เฉพาะสิมิลัน พีพี อ่าวพังงา 3 อุทยานฯ นี้มีนักท่องเที่ยว 4.5 ล้าน เกิดผลกระทบจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  อนาคตต้องควบคุมคน
    4,800 ตารางเมตรในอ่าวมาหยาเป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูปะการังน้ำตื้น ผศ.ดร.ธรณ์ เผยว่า จะใช้วิธีการเดียวกับพื้นที่เกาะยูงที่ใช้ภาพถ่ายทางอากาศโดยโดรนรวบรวมข้อมูลทุก 4 เดือน  แล้วนำภาพถ่ายมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบการเจริญเติบโต  พร้อมทั้งศึกษาประกอบทางพื้น อย่างเกาะยูงแนวปะการังเพิ่มเป็น 1,480 ตร.ม. เดิม 1,300 ตร.ม. สำหรับที่อ่าวมาหยาปีนี้จะก้าวไปอีกขั้น สิงห์ เอสเตท สนับสนุน จัดทำภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนแนวดิ่ง เพื่อนำมาคำนวนพื้นที่ปะการัง  พร้อมทั้งจัดทำแผนที่ปะการัง จะฟื้นฟูหรือปลูกเพิ่มในพื้นที่ไหน 

ปลูกปะการังด้วยวิธี Coral Propagation บริเวณอ่าวมาหยา

  
    วิธีการปลูกปะการัง นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคนเดิมบอกว่าใช้วิธี   Coral Propagation เตรียมกิ่งพันธุ์ปะการังจากแปลงอนุบาลลอยน้ำบริเวณอ่าวโละบาเกาทุกๆ กลางเดือน พ.ค.-ส.ค. แล้วนำมาปลูกติดกับหินปะการังที่ตายตามธรรมชาติ แล้วนำกลับไปแปลงอนุบาล ก่อนย้ายจากแปลงไปยังพื้นที่ปลูกอ่าวมาหยาในทุกๆ ต้นเดือนตลอด 4 เดือนที่ปิดอ่าว รวมปะการังที่ย้ายปลูก 500 กิ่ง มีการติดตามผลจากภาพโดรนทุกเดือนช่วงปลูก จากนั้นจะติดตามทุกๆ 4 เดือน ต่อเนื่องรวมเวลา1 ปี   ทั้งนี้ การฟื้นฟูปะการังวิธีนี้จะนำไปประยุกต์ใช้ที่มัลดีฟด้วยผ่านโครงการ'Two Island One Ocean' ที่จะจัดทำต่อไป

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 


    สำหรับทรัพยากรบนบก กรมอุทยานฯ จะร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แก้ไขปัญหาการพังทลายของเน้นทรายชายหาด อนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าชายหาก คัดเลือกชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ เช่น รักทะเล เตยทะเล สวาด คันทรง ปลูกยึดหน้าดิน ป้องกันการพังทลบาย ผศ.ดร..ธรณ์ ให้ข้อมูลในท้ายว่า ป่าชายหาดในอ่าวมาหยาเคยสมบูรณ์มากที่สุดของพื้นที่อันดามัน ต้องดูแลให้ฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาคเอกชน ภาครัฐ นักวิชาการสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของอ่าวมาหยาอย่างจริงจัง รวมถึงบริษัทสิงห์ เอสเตท สนับสนุนพื้นที่และงบประมาณสร้างศูนย์เรียนรู้ทางทะเลเพื่อให้ทุกคนศึกษาเรียนรู้เรื่องราวสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลได้ตลอดไป 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"