คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯร่วมมือเชฟรอน ฝึกสุนัขK9 ดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อโควิด ไม่แสดงอาการ  แม่นยำ80-100%


เพิ่มเพื่อน    

 


3 มี.ค.64-  ณ ศูนย์ฝึกสุนัข ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โชว์การฝึกใช้สุนัขดมกลิ่นในการตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19 ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ โครงการวิจัยสุนัขดมกลิ่นเพื่อตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19  (K9 Dogs Sniff COVID-19) พันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) จำนวน 6 ตัว  เพื่อพัฒนาทักษะของสุนัขดมกลิ่นให้สามารถตรวจสอบและจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19   ทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการออกจากกลุ่มคนปกติ  และสร้างต้นแบบการฝึกสุนัขดมกลิ่นเพื่องานทางการแพทย์

ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยสุนัขดมกลิ่นเพื่อตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19  (K9 Dogs Sniff COVID-19) ให้ข้อมูลว่า ในทางการแพทย์ ได้มีการใช้สุนัขดมกลิ่นเพื่อตรวจหาโรคมาแล้วหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคมาลาเรีย โรคลมหลับ โรคไมเกรน อาการชัก รวมถึงโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสอยู่แล้ว 


สำหรับการใช้สุนัขดมกลิ่นในการตรวจหาผู้ป่วยโควิด-19 นั้นมีการใช้จริงภายในสนามบินต่างประเทศมาแล้วหลายแห่ง อาทิ ฟินแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย ซึ่งงานวิจัยยืนยันว่าการใช้สุนัขดมกลิ่นจำแนกผู้ป่วยโควิด-19 มีความแม่นยำสูงถึง 80-100% นั่นเป็นเพราะว่าสุนัขนั้นมีเซลล์ประสาทรับรู้กลิ่นมากกว่า 300 ล้านเซลล์ มากกว่ามนุษย์ถึง 50 เท่า จึงสามารถบ่งบอกชนิดสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds, VOCs) ที่เกิดจากการเผาผลาญเซลล์ที่ผิดปกติของผู้ป่วยได้  

หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่อว่า ดังนั้นจุดประสงค์ของโครงการนี้ คือการฝึกสุนัขดมกลิ่นผู้ป่วยโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ ที่แตกต่างจากการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย เพราะเมื่อผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีไข้ ก็จะสามารถเดินผ่านไปได้ แต่สำหรับสุนัขจะสำรวจดมกลิ่นเหงื่อได้ดี เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ในเหงื่อจะมีสารที่แตกต่างจากคนปกติ จึงลดโอกาสการเล็ดรอดของผู้ป่วยโควิด 9 ที่ไม่มีไข้ จากการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 และมีการเก็บตัวอย่างเหงื่อในเดือนพฤศจิกายน แบ่งเป็น การดมเหงื่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิดแล้ว 30  คน และเหงื่อของคนปกติไม่ติดเชื้อ  24 คน  แต่ระยะแรกจะให้สุนัขจำกลิ่นเหงื่อใต้รักแร้ที่ดูดซับโดยแท่งสำลี และกลิ่นเหงื่อจากถุงเท้าของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และคนปกติที่ได้รับการยืนยันผลตรวจโดย RT-PCR แล้ว ซึ่งจะมีทีมแพทย์และสัตวแพทย์ดูแลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ถึงแม้ว่าในเหงื่อจะไม่มีเชื้อไวรัส ทางคณะผู้วิจัยก็ได้ทำการฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาในเหงื่อด้วยวิธีตามเกณฑ์มาตรฐานสากล 

“จากผลทดสอบจากสุนัข 6 ตัว ในการค้นหาตัวอย่างผลบวก โดยความไว(ค่าวัดผลที่ดมผลบวกถูกต้อง)  96-98% ความจำเพาะ(ค่าวัดผลที่ดมผลลบถูกต้อง)  82.2% ความแม่นยำ 94.8% หมายความว่าโอกาสผิดพลาดมีเพียง 5.2% เมื่อเทียบกับความไวของชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐานโดยคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  คือ ความไวของแอนติบอดี้ 85% และแอนติเจน 90%  ในส่วนของความจำเพาะของทั้งสองชนิดอยู่ที่ประมาณ 98% และเมื่อเทียบกับสุนัขที่ประเทศเยอรมันนี ความไวอยู่ที่ 82.6% ความจำเพาะ 96.4% และมีความแม่นยำใกล้เคียงของไทยอยู่ที่ 94%” หัวหน้าโครงการ กล่าว 
 
หัวหน้าโครงการฯ กล่าวย้ำอีกว่า การนำสุนัขมาฝึกในการดมกลิ่นก็ได้ผ่านคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ในการรับรองว่าสุนัขจะไม่ติดเชื้อโควิด-19 และไม่มีผลทางด้านลบต่อสวัสดิภาพของสุนัข โดยจะได้รับการฝึกเพื่องานในโครงการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง แต่หากจะขยายในพื้นที่ใหญ่ขึ้นอาจจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

พญ.ปัทมา ต.วรพาณิช คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า ในกรณีการนำไปใช้ในพื้นที่สนามบินที่มีผู้คนจำนวนมาก แล้วจะให้สุนัขไปดมคนเดินผ่านโดยตรงนั้น ความสำเร็จอาจจะน้อย เพราะมีปัจจัยกวนของกลิ่นเหงื่อและกลิ่นอื่นๆ จึงต้องมีการแบ่งเป็น  2 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงสูง ควรใช้การตรวจ RT-PCR ในกลุ่มนี้จะไม่นำสุนัขไปดม ในส่วนอีกกลุ่มที่อาจจะมีความเสี่ยง ซึ่งจะต้องใช้การคัดกรองอุณหภูมิด้วย ก็อาจจะนำสุนัขไปช่วยเสริมการคัดกรอง เพราะสุนัขจะได้รับกลิ่นของผู้ป่วย ที่ไม่แสดงอาการ และจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บตัวอย่างเหงื่อ ด้วยการให้ผู้ที่คัดกรองเช็ดเหงื่อเอง เพื่อคัดกรองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น 

พญ.ปัทมา ต.วรพาณิช

กิ่งกาน แก้วฝั้น

ด้านนางสาวกิ่งกาน แก้วฝั้น ผู้จัดการโครงการ บริษัท พี คิว เอ แอสโซซิเอท จำกัด กล่าวว่า สำหรับการฝึกสุนัขดมกลิ่นผู้ป่วยโควิด-19 เป็นพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) เพราะหน้าตาเป็นมิตร เข้ากับคนง่าย อีกทั้งยังเป็นสุนัขหน้ายาว ที่มีประสาทสัมผัสที่ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ เฉลี่ยอายุประมาณ 7 เดือน ที่มีความพร้อมทั้งสุขภาพ และร่างกาย ที่ยังไม่ผ่านการฝึกใดๆ ซึ่งในการฝึกครั้งแรกจะใช้โดยทางครูฝึกจากตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จะเป็นผู้ช่วยฝึกอบรมการบังคับสุนัข โดยใช้ระยะเวลาจนถึงปัจจุบันรวม 6 เดือน แบ่งการฝึกตามโมเดลเดียวกับการฝึกดมหาสารเสพติดและคำสั่งทั่วไป สำหรับการฝึกดมผู้ป่วยติดเชื้อโควิด  ทำใน 3 เดือนหลังจะมีการได้ใช้เทคนิค การสลับตัวอย่างกลิ่นเหงื่อ และเทคนิคความแม่นยำ โดยใช้อุปกรณ์วงเวียนทดสอบ 6 ขาใส่กลิ่นเหงื่อในกระป๋องและหมุน โดยภายในนั้นจะบรรจุเหงื่อของทั้งผู้ป่วยโควิด-19 และคนปกติ เมื่อสุนัขได้กลิ่นผู้ติดเชื้อโควิด จะนั่งลงทันที    ในส่วนการทำงานจากการประเมินของสุนัขแต่ละตัวจะใช้เวลาตัวละประมาณ 3 นาที ไม่เกิน 5 นาที   ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการดมหาสารเสพติด

 

 

อาทิตย์ กริธพิพรรธ


นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ในการสนับสนุนการวิจัยเพื่อเป็นชุดความรู้ ที่อาจจะได้นำไปใช้จริงในการตรวจคัดกรองผู้เดินทางในพื้นที่สาธารณะและในสนามบิน เพื่อใช้ร่วมกับการตรวจวัดอุณหภูมิ ให้มีความแม่นยำการคัดกรองสูงขึ้น ทั้งนี้จะมีการนำสุนัขไปทดสอบใช้ดมกลิ่นเพื่อคัดกรองพนักงานของเชฟรอนที่จะเดินทางไปปฎิบัติงานนอกชายฝั่ง ณ จุดคัดกรองที่จังหวัดสงขลาต่อไป และ มุ่งหวังว่าจะได้นำผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ ให้เกิดประโยชน์แก่วงวิชาการทั่วโลก สร้างต้นแบบการฝึกสุนัขดมกลิ่นเพื่อใช้งานทางการแพทย์ชุดแรกในประเทศไทย พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่น ในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ณ จุดคัดกรองโรคในพื้นที่สาธารณะ อันจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ RT-PCR ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงนำไปใช้งานตรวจวิเคราะห์โรคต่าง ๆ ในมนุษย์ต่อไป

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"