18 พ.ค. 61 - จากกรณีที่ แพทย์ด้านศัลยกรรมในประเทศไทยออกโรงค้าน พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2559 ที่ให้สถานพยาบาล ต้องขออนุญาตโฆษณา ตรวจอนุมัติก่อน เพื่อป้องกัน โฆษณาโอ้อวดเกินจริงของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยคัดค้านการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไข และค่าใช้จ่ายในการโฆษณา ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พร้อมเสนอให้ สบส. กำกับดูแลสถานพยาบาลที่มีดารานักแสดงและเน็ตไอดอล เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาด้วย เพราะถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลโน้มน้าวใจผู้บริโภค แต่กฎหมายยังไม่ครอบคลุมนั้น
นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน มีความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว “ประเทศไทย มีชื่อเสียงและเป็นศูนย์กลางศัลยกรรมความงามของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ที่เชี่ยวชาญเรื่องศัลยกรรม คือ ประเทศไทย และประเทศเกาหลี โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญการ ให้บริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสูง ตลอดจนมีความพร้อมด้านสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ส่งผลให้ตลาดศัลยกรรมในประเทศไทย มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 20% ต่อปีไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ข้อมูลจาก สมาคมศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยนานาชาติได้เปิดเผยรายงานศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยระดับโลก สำหรับปี 2559 พบว่าการทำศัลยกรรมเสริมสวยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับประเทศไทยติดอันดับที่ 21 โดยมีการทำศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยกว่า 1.12 แสนครั้ง โดยทำศัลยกรรม เปลือกตามากที่สุดรองลงมาคือ เสริมหน้าอก และเสริมจมูก
นายแพทย์ชลธิศ กล่าวต่อว่าสำหรับประเทศไทยนั้น มีความตื่นตัวด้านศัลยกรรมตกแต่งมานาน รวมทั้งมีพัฒนาการด้านการแพทย์ก่อนหน้าประเทศเกาหลีมากถึง 30 ปี จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตั้งแต่การผ่าตัดแปลงเพศ การทำตา การเสริมจมูกดึงหน้า และมีศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุดในโลก แต่ที่ศัลยกรรมตกแต่งในประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหนเพราะรัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ขณะที่ประเทศเกาหลีมีการส่งเสริมธุรกิจศัลยกรรมตกแต่งอย่างครบวงจร ที่ถึงแม้จะเติบโตทีหลังประเทศไทยแต่เป็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งเนื่องจากรัฐบาลเอาจริงเอาจังมาก ทำให้ตลาดศัลยกรรม ในประเทศเกาหลีทำเงินเข้าประเทศได้ไม่แพ้การท่องเที่ยว
ส่วนกรณีที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกประกาศภายใต้ พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2599 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2561 ว่าสถานพยาบาลจะต้องมาขออนุญาตโฆษณาต่อ สบส. เพื่อป้องกันการโฆษณาที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ ให้มาขออนุญาตภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 30 เมย. 2561 แล้วมีแพทย์ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน นั้น นายแพทย์ชลธิศ กล่าวว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการโน้มน้าว การโฆษณาชวนเชื่อจากผู้ที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น หมอเถื่อน เอเจนซี่เถื่อน หรือการตลาดที่ใช้ดารา นักแสดง เน็ตไอดอล เป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อเชิญชวนให้ทำศัลยกรรมนั้น ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการแต่มีการโหมโฆษณาอย่างเต็มที่ คลินิกศัลยกรรม บางแห่งติดต่อแพทย์ต่างประเทศเข้ามาทำผ่าตัด โดยไม่มีใบอนุญาต แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไร้การควบคุม ขณะที่ประกาศดังกล่าวออกมาเพื่อตีกรอบแพทย์หรือผู้ประกอบการที่ทำถูกต้อง หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ ในระยะยาวเราจะเห็นธุรกิจตัวนี้หดตัวลงและส่งผลกระทบในสังคมกว้าง ทางแก้ คือ ควรเขียนกฎหมาย เพื่อควบคุมการโฆษณาของกลุ่มเอเจนซี่ศัลยกรรมให้การบริการที่ได้มาตรฐานทางวิชาการ ส่วนแพทย์ต่างประเทศที่เข้ามาให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาในประเทศไทยนั้น ต้องออกกฏเกณฑ์ควบคุมที่ชัดเจนด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |