18 พ.ค. 61 - นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีการเผยแพร่คลิปแม่เด็กถ่ายลูกตัวเองกำลังร้องไห้อยากได้ของเล่น ว่า ประชาชนทั่วไปมักชอบพูดกันว่าไม่รู้ว่ามีกฎหมายห้ามหรือบัญญัติว่าเป็นความผิด การนำภาพเด็กมาโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งความจริงเเล้วการกระทำดังกล่าวนั้นจะต้องระวังผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในมาตรา 26(5) เเละมาตรา 27 โดยในมาตรา 26 (5) บัญญัติว่าการกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบจากเด็ก เช่น การถ่ายภาพเคลื่อนไหวหรือคลิปเกี่ยวกับตัวเด็กซึ่งแสดงพฤติกรรม ต่างๆ เช่นร้องไห้ ดีใจ เล่นสนุก แล้วนำภาพนั้นมาหาประโยชน์ ซึ่งหากจะมองว่าการกระทำอย่างใดจะถือว่าเป็นการหาประโยชน์โดยไม่ชอบ ก็คงจะเป็นดุลยพินิจของเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่คุ้มครองเด็ก และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทำการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้นำภาพเด็กมาใช้ โดยพนักงานสอบสวนจะทำหน้าที่สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้มีหน้าที่เผยแพร่นำภาพของเด็กมาหาประโยชน์ ว่ามีพฤติกรรมนำภาพมาหาประโยชน์โดยไม่ชอบ
นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนมาตรา 27 โดยเผยแพร่ทางสื่อมวลชน สื่อสารสนเทศซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับเด็กโดย เจตนาแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง ซึ่งมาตรา 27 นี้หมายความรวมถึงการนำภาพเด็กมาเผยแพร่ทาง Facebook หรือ LINE ด้วย ซึ่งหากการนำภาพมาเผยแพร่เป็นไปเพื่อการแสวงหาประโยชน์แล้วจะเป็นความผิด แม้จะเป็นแม่หรือผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำภาพของเด็กมาแสวงหาประโยชน์ ส่วนการจะพิจารณาว่าเป็นความผิดหรือไม่ พนักงานสอบสวนก็จะทำการรวบรวมพยานหลักฐาน จาก Facebook หรือ LINE หรือจากโซเชียลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลนำมาพิจารณาภาพรวมว่า เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบหรือไม่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองตัวเด็ก สังคมเราทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนเราพบเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้แม้แต่ผู้เป็นพ่อหรือแม่ ก็เริ่มมีพฤติกรรมหาประโยชน์จากเด็กโดยไม่ชอบ สังคมจึงต้องร่วมมือกันคุ้มครองดูแลเด็ก ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (55) บัญญัติไว้ว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก เเละมาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็กหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ฉบับดังกล่าว ยังได้มีบทกำหนดโทษไว้คือ มาตรา 78 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 79 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |