แนวร่วมปีกฝ่ายค้าน "เพื่อไทย-กลุ่มสร้างไทย" จับมือกันไล่บี้ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เร่งตัดสินลงมติคดีแก้ 256 ตั้งสภาร่าง รธน. จะได้รู้สุดท้ายล้มกระดานหรือได้ไปต่อ ก่อนรัฐสภาลงมติวาระ 3 กลางเดือนนี้ ยุ ส.ส.-ส.ว. อย่านัดประชุม หากศาลยังไม่ชี้ขาด
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. มีความเคลื่อนไหวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
โดยที่ห้องสมุด Think lab ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย มีการจัดเสวนา “รัฐธรรมนูญดี เศรษฐกิจปากท้องดี จริงหรือ?” มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรค, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมเสวนา
นายพงศ์เทพกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจฉบับปัจจุบัน ให้อำนาจ คสช.และพลพรรค ไม่ได้เขียนให้อำนาจยู่กับประชาชนหรือคนที่ประชาชนเลือกมา ไม่เช่นนั้นพรรคเพื่อไทยที่ได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่งต้องได้เข้ามาบริหารประเทศ แต่เขียนมาเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจ เมื่อไม่ได้มาจากประชาชน ก็ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากกับความมั่นคง การซื้ออาวุธ ถ้าเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ไม่มีใครเขาทำกัน รัฐธรรมนูญฉบับที่มีปัญหาควรนับถอยหลัง หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบวาระ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เปิดให้ ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะผ่านการทำประชามติจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ แต่คนของ คสช.พยายามไม่ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดูได้จากการยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ศาลกำลังรับเผือกร้อน
"สิ่งที่ต้องจับตาดูคือเมื่อผ่านวาระ 2 ไปแล้ว ต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 15 วัน ถึงจะลงมติในวาระ 3 ซึ่งมี 2 จุดใหญ่ คือทำให้การแก้รัฐธรรมนูญง่ายกว่าเดิม และเปิดโอกาสให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้ ข้อสำคัญคือศาลรัฐธรรมนูญควรรีบวินิจฉัยปัญหานี้ ก่อนที่สภา จะลงมติในวาระ 3 หากศาลยังไม่วินิจฉัยแล้วสภาต้องพิจารณาวาระ 3 คิดว่ามีปัญหาแล้ว เพราะถ้าศาลยังไม่วินิจฉัย สภาไม่ควรลงมติในวาระ 3 ดังนั้นขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเร่งรีบชี้ขาด ขอเรียกร้องประธานรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี หากศาลยังไม่วินิจฉัย อย่าเพิ่งเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อลงมติ" นายพงศ์เทพระบุ
ด้านนายชูศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาจากคณะรัฐประหารปี 2557 เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นเราต้องทำให้รัฐธรรมนูญดีก่อน รัฐธรรมนูญที่ดีมีองค์ประกอบคือ การยกร่างต้องดี เนื้อหาสาระต้องดี ต้องเป็นประชาธิปไตย ถ้าเนื้อหาสาระไม่ดีก็ไปไม่รอด
ขณะที่นายพิชัยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยทรุดมาตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการประท้วงของ กปปส. แล้วเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาตลอด การลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศหดหาย การส่งออกขยายตัวต่ำมาก รายได้ของประชาชนลดกันถ้วนหน้า ทั้งนี้ เพราะขาดความเชื่อใจและขาดความมั่นใจในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยจะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ เศรษฐกิจไทยถึงจะพัฒนาต่อไปได้
วันเดียวกันนี้ กลุ่มสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแกนนำ ได้ออกแถลงการณ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า การที่รัฐสภาลงมติในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ไปแล้วย่อมแสดงให้เห็นว่ารัฐสภามั่นใจว่ามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้ระบบ ส.ส.ร. ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามปกติ เมื่อผ่านวาระที่ 3 (จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 17-18 มีนาคม 2564) จะไปสู่การทำประชามติ หากผ่านประชามติจะมีการเลือก ส.ส.ร. 200 คนโดยประชาชน เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ จะต้องทำประชามติอีกครั้ง ถ้าผ่านจึงทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และจะมีการเลือกตั้งกันตามรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งถือเป็นฉบับประชาชนอย่างแท้จริง และจะเป็นฉบับแรกของประเทศไทยที่ประชาชนจะเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงไม่มีเหตุผลและความเหมาะสมใดเลยที่จะสมคบคิดกันหยุดยั้งการดำเนินการเช่นนี้ นอกจากต้องการจะปกป้องระบบเผด็จการอำนาจนิยมที่เกิดจากการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจเท่านั้น
แถลงการณ์ของกลุ่มสร้างไทยย้ำอีกว่า ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนการลงมติในวาระที่ 3 และถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย ก็จะทำให้ระบบรัฐสภาแข็งแรงขึ้น เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะแก้ไขเป็นรายมาตรา หลายมาตรา หรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับ ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญเองเป็นอำนาจโดยเฉพาะของรัฐสภา หรือมิเช่นนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะยืนยันว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา
"หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจก่อนการลงมติวาระที่ 3 ฝ่ายค้านก็ต้องคิดให้ดีว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มี ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยก่อนการลงมติดังกล่าว ฝ่ายค้านก็ควรหาวิธีการไม่ให้มีการลงมติ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจทำได้หรือไม่ หากฝ่ายค้านลงมติเห็นชอบวาระที่ 3 โดยยังไม่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.นั้นใช้ไม่ได้ เพราะรัฐสภาไม่มีอำนาจ ก็จะทำให้รัฐบาลโดยความร่วมมือกับ ส.ว.สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ทุกประเด็น เว้นแต่จะไม่ผ่านประชามติ" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุตอนหนึ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |