'วิรไท'อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติเปิดแนวทาง'ปฏิรูปอย่างไรให้ไทยวัฒนา'


เพิ่มเพื่อน    

 

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยให้หัวข้อ “ปฏิรูปอย่างไรให้ไทยวัฒนา”ในงาน ปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวนิช ครั้งที่ 11 เนื่องในงานครบรอบ 52 ปีวันพระราชทานนาม 133 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดขึ้นในวันที่ 2 มี.ค.2564 ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ตอกย้ำสิ่งที่เราพูดกันมานานว่าโลกใหม่จะไม่เหมือนเดิม และเราจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะรวดเร็วและรุนแรงกว่าเดิมมาก การเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น จะเกิดขึ้นในหลายมิติ เชื่อมโยง ซับซ้อน และส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบทวีคูณ สภาวะโลกร้อนที่ยากจะควบคุมได้และจะส่งผลกระทบกว้างไกลมาก การเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติและวิถีชีวิตจะที่ส่งผลให้ความเข้าใจกันของคนระหว่างรุ่น ระหว่างกลุ่มในสังคมถ่างขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สังคมต้องการความร่วมมือร่วมใจของผู้คนหลากหลายกลุ่มเพื่อจัดการความท้าทายใหม่ๆ ร่วมกัน

สภาวะแวดล้อมรอบตัวเราที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง จะทำให้เราอยู่แบบเดิมไม่ได้ เราทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันกับความท้าทายและสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ  ทำให้ผมนึกถึงคำว่า “ปฏิรูป” เพราะเป็นคำที่เราใช้กันบ่อยมากในสังคมไทย เมื่อเราไม่พอใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลง ก็จะพูดว่าต้อง “ปฏิรูป” เราฝากความหวังสูงมากไว้กับการ “ปฏิรูป” จนเชื่อกันว่าการ “ปฏิรูป” มีมนต์วิเศษหรือมีปาฏิหาริย์ที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ 

ถ้าเราเปิดพจนานุกรมดู จะพบว่า “ปฏิรูป”  หมายถึง สมควร เหมาะสม หรือทำให้สมควร ทำให้เหมาะสม เป็นคำกลางๆ เรียบง่าย แต่มีความหมายที่กว้างไกล คือจะต้องพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่สมควรและเหมาะสม และต้องประกอบด้วยการกระทำที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดสภาวะที่สมควรและเหมาะสมกับความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ 
ผมคิดว่าหัวข้อเรื่องการปฏิรูปเหมาะสมกับโอกาสการแสดงปาฐกถาเกียรติยศศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวนิช เป็นอย่างยิ่งด้วย เพราะตลอดเวลา 40 กว่าปีที่ท่านอาจารย์คุณหมอกษานทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ท่านเป็นอาจารย์ผู้ช่วยแพทย์จนเป็นอธิการบดีนั้น ท่านได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่มหาวิทยาลัยมหิดลและวงการแพทย์โรคหัวใจของประเทศมากมาย ท่านได้วางรากฐานที่สมควร ที่เหมาะสมไว้หลายด้านไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ และเป็นผู้บุกเบิกการผ่าตัดหัวใจรายแรกในโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งได้ก่อตั้งสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยด้วย ในช่วงแปดปีที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดีนั้น ท่านได้จัดทำโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท ยกฐานะโรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์เป็นคณะพยาบาลศาสตร์ จัดตั้งคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และขยายวิทยาเขตแห่งใหม่มาที่ศาลายาแห่งนี้ การเปลี่ยนแปลงมากมายที่ท่านได้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดขึ้นได้ส่งผลให้สังคมไทยได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้จำนวนมาก และวางรากฐานให้มหาวิทยาลัยมหิดลเข้มแข็ง เป็นผู้นำทางวิชาการ สามารถเผชิญความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่างๆ ได้ จนได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศไทยต่อเนื่องมาหลายปี อาจจะกล่าวได้ว่าท่านอาจารย์คุณหมอกษาน จาติกวนิชเป็นนักปฏิรูปคนสำคัญคนหนึ่งของวงการแพทย์และวงการการศึกษาไทย

ถ้าเรากลับมาพิจารณาการปฏิรูปหลายเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจสังคมไทย และเราฝากความหวังไว้มากว่าการ “ปฏิรูป” จะมีมนต์วิเศษที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง ที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน หลายรัฐบาลมีแผนปฏิรูปมากมาย แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยพอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การปฏิรูปหลายเรื่องจบลงเพียงแค่การทำแผนปฏิรูปเสร็จโดยไม่ได้เกิดผลในทางปฏิบัติ หลายเรื่องทำแบบครึ่งๆ กลางๆ หลายเรื่องไม่ได้คิดอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทำให้ไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง และหลายเรื่องไม่แน่ใจว่าผลที่เกิดขึ้นเหมาะสมหรือสมควรกับใคร เพราะขาดการปรึกษาหารือกับกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอย่างรอบด้าน แม้ว่าการปฏิรูปหลายเรื่องได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมากในสังคมไทย แต่เรามีการปฏิรูปอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม ที่สมควร ได้จริง

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเรื่องสำคัญหลายเรื่อง บางเรื่องก็ถือว่าได้ผลอย่างที่ตั้งใจ สามารถวางรากฐานใหม่ให้กับประเทศได้ เช่น การปฏิรูประบบการชำระเงินให้เข้าสู่ระบบอิเล็คทรอนิคส์ และการวางกลไกเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งส่งผลให้เราสามารถจัดการกับความปั่นป่วนในตลาดเงินตลาดทุนในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ดี 

การปฏิรูปบางเรื่องได้เริ่มต้นวางรากฐานที่สำคัญไว้ มีการเปลี่ยนแปลงดีในระดับหนึ่ง แต่จะต้องใช้เวลาและผลักดันต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างแท้จริง เช่น การพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ตามศาสตร์ของพระราชา การปฏิรูปกฎเกณฑ์กฎหมายที่ล้าสมัยในภาคการเงิน การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การให้การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม และการใช้ข้อมูล big data ในการทำนโยบายเศรษฐกิจเพื่อให้นโยบายมีเป้าหมายชัดเจน ตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นประจักษ์พยาน (evidence based) มากกว่าตั้งอยู่บนความเชื่อหรือความรู้สึก (sentiment based)  

ส่วนการปฏิรูปบางเรื่องเกิดผลน้อยมากหรือแทบจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเลย ห่างไกลจากที่ตั้งเป้าหมายกันไว้อยู่มาก ทั้งที่มีผู้รู้จำนวนมากลงแรงช่วยกันคิดช่วยกันทำ เช่น การปฏิรูปกรอบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และการปฏิรูปกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐบางแห่ง

สิ่งที่ผมจะนำเสนอในวันนี้ไม่ได้มากจากงานวิจัย หรืองานวิชาการที่ผ่านการคิดค้นอย่างเป็นระบบ แต่เป็นการนำเสนอมุมมองจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมแบบไทยๆ และจากการสังเกตการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เรื่องที่ผมจะนำเสนอจึงอาจจะเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในด้านการเงินและเศรษฐกิจเป็นหลัก  

ถ้าจะปฏิรูปเรื่องใดๆ ก็ตามให้เกิดผลสำเร็จ ผมคิดว่ามีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ด้านที่เราต้องตั้งหลักให้ถูก ถ้าเราสามารถบริหารจัดการสามองค์ประกอบนี้ได้ดี โอกาสที่การปฏิรูปจะเกิดผลสำเร็จก็จะมีสูง ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราบริหารจัดการด้านใดด้านหนึ่งหนึ่งไม่ดี หรือมองข้ามบางประเด็นไป โอกาสที่การปฏิรูปจะไม่เกิดผลอย่างที่ตั้งใจก็จะสูงมาก องค์ประกอบสามด้านนี้ได้แก่ (1) เป้าหมายของการปฏิรูป (2) ทิศทางของการปฏิรูป และ (3) การนำแผนปฏิรูปไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง

ผมขอเริ่มจากเป้าหมายของการปฏิรูป ซึ่งต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าเป้าหมายใดเป็นเป้าหมายที่สมควร และเหมาะสม ถ้าพูดถึงการปฏิรูปในระดับประเทศแล้ว เป้าหมายของการปฏิรูปจะต้องทำให้  “ไทยวัฒนา” ขึ้น  ในเรื่องนี้ผมนึกถึงพระราชดำรัสองค์หนึ่งเรื่องการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ว่า “การพัฒนา หมายถึง ทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคงมีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข” (พระราชทานแก่เยาวชนจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2513) สำหรับผมแล้วพระราชดำรัสองค์นี้มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก เพราะสะท้อนหลักการทรงงานของพระองค์ท่านเป็นอย่างดี และเราควรรับใส่เกล้าว่าการพัฒนา หรือการปฏิรูปเรื่องใดก็ตาม จะต้องทำให้เกิดความมั่นคง ความก้าวหน้าระดับประเทศ และที่สำคัญต้องทำให้เกิดความปลอดภัย ความเจริญ และความสุขในระดับคนไทยแต่ละคนด้วย ไทยจึงจะวัฒนาได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น ทุกครั้งที่เรากำหนดเป้าหมายของการปฏิรูปแต่ละเรื่อง เราจะต้องตั้งคำถามแรกว่าเราคาดหวังให้สังคมไทยและคนไทยแต่ละคนได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ท่านผู้มีเกียรติหลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องตั้งคำถามนี้ เพราะดูจะเป็นคำถามพื้นฐาน ทุกการปฏิรูปของประเทศควรมีเป้าหมายให้สังคมและประชาชนได้ประโยชน์อยู่แล้ว 

จากประสบการณ์ของผม ผมคิดว่าไม่แน่เสมอไปที่การปฏิรูปเรื่องสำคัญของเราเอาประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นศูนย์กลาง  เพราะในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไทยๆ นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบการปฏิรูปแต่ละเรื่อง ต้องเผชิญแรงกดดันและข้อจำกัดหลากหลายด้าน โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านเวลาและทรัพยากร ขาดการศึกษาวิจัยทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างอย่างรอบด้าน ขาดการหารือกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อย่างจริงจัง และที่สำคัญหลายหน่วยงานไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงและพยายามที่จะรักษากรอบอำนาจและวิธีการทำงานของตน ส่งผลให้เป้าหมายของการปฏิรูปติดอยู่กับกับกรอบเป้าหมายของหน่วยงานเป็นหลัก ไปไม่ถึงคำถามที่ว่าสังคมและประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการปฏิรูปแต่ละเรื่อง ในระดับนโยบาย ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจก็ไม่มีเวลาศึกษาให้เข้าใจสถานะและปัญหาแต่ละเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง มักจะอนุมัติตามที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องเสนอ แผนการปฏิรูปหลายเรื่องจึงถูกครอบงำโดยมุมมองและเป้าหมายของหน่วยงานเจ้าของเรื่องเป็นหลัก 

การปฏิรูปหลายเรื่องถ้าจะให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนอย่างจริงจังแล้ว อาจจะมีผลให้กรอบอำนาจหน้าที่และจำนวนบุคลากรของหน่วยงานที่รับผิดชอบลดลง ดังนั้นผลประโยชน์ของสังคมและประชาชนกับผลประโยชน์ของหน่วยงานที่เป็นผู้จัดทำแผนปฏิรูปจึงอาจขัดแย้งกันได้ ถ้าเราไม่กำหนดเป้าหมายการปฏิรูปโดยยึดเอาผลประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นเป้าหมายหลักเพียงเป้าหมายเดียวแล้ว เรามักจะได้แผนปฏิรูปที่คลุมเครือและประนีประนอม แม้ว่าอาจจะทำตามแผนปฏิรูปได้เสร็จแต่ก็ไม่เกิดผลสำเร็จอย่างที่สังคมและประชาชนคาดหวัง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลให้การปฏิรูปหลายเรื่องในอดีตไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่สมควร อย่างที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้ามการปฏิรูปหลายเรื่อง กลับทำให้หน่วยงานราชการมีขนาดใหญ่ขึ้น มีจำนวนมากขึ้น มีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น สร้างภาระด้านงบประมาณ ไม่สอดคล้องกับบริบทของโลกอนาคต และที่สำคัญหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จำนวนมากขึ้น จะเป็นอุปสรรคทำให้การเปลี่ยนแปลงในอนาคตเกิดขึ้นได้ยากอีกด้วย

คำถามที่สองเกี่ยวกับเป้าหมายของการปฏิรูปที่เราต้องช่วยกันถาม คือการปฏิรูปแต่ละเรื่องจะสร้างประโยชน์ให้สังคมและประชาชนในอนาคตได้อย่างไร โดยเฉพาะการวางรากฐานที่สำคัญสำหรับอย่างน้อยอีก 5-10 ปีข้างหน้า การปฏิรูปหลายเรื่องที่ผ่านมาเน้นการแก้ปัญหาในอดีตและปัญหาเฉพาะหน้า แต่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความท้าทายใหม่ๆ จะเกิดขึ้นตลอดเวลา และจะรุนแรงมากขึ้น กระบวนการปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ ของเราใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะถ้าต้องออกกฎหมายใหม่ ต้องแก้ไขกฎหมาย หรือต้องจัดการโครงสร้างผลประโยชน์ที่ฝังรากลึกไว้แต่เดิม  ทำให้แผนปฏิรูปหลายเรื่องกว่าที่จะเริ่มดำเนินการได้จริงก็กลายเป็นแผนล้าสมัย หรือไม่ปัญหาที่สะสมไว้นานก็ปะทุขึ้นเป็นวิกฤตก่อนที่จะปฏิรูปแก้ไขได้ทัน

การกำหนดเป้าหมายของการปฏิรูปโดยมองไปในอนาคตอย่างน้อยอีก 5-10 ปีข้างหน้า ก็ดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราคาดหวังจากการปฏิรูปด้านต่างๆ อยู่แล้ว แผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาลก็ตั้งเป้าหมายไว้สำหรับ 20 ปี 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"