เปิดป้าย 'ธัชชา' แนวรุกใหม่กระทรวง อว. เมื่อ 'ดร.เอนก' ขับเคลื่อนทุนด้านสังคมศาสตร์ฯเป็นทุนชาติ


เพิ่มเพื่อน    

@ ภูมิแผ่นดินถิ่นฐานสุวรรณภูมิ      จำหลักปูมประวัติศาสตร์ทั้งศาสตร์ศิลป์
ภูมิปัญญาภูมิแดนภูมิแผ่นดิน          ไม่สุดสิ้นสมเจตนารมณ์
เพื่อศึกษาสืบสานและสร้างสรรค์       สมภูมิอันอนันต์อเนกภิเศกสม
ปณิธานสรรค์สร้างภูมิสังคม             เอกอุดมภูมิธรรมความเป็นมนุษย์ ฯ...

ข้างบนคือบทกวีสองบทที่ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์  กวีซีไรต์ 2523 และสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแว่บจากรัฐสภาเพื่อไปจดจารบทกวีสองบทสำคัญและมอบให้เป็นกรณีพิเศษเนื่องในงานเปิดป้ายหน่วยงานใหม่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ที่ชื่อ “ธัชชา” เมื่อบ่ายแก่ๆ วันที่ 25 ก.พ.2564  เป็นการใช้ปลายปากกาจดจารบทกวีสดๆ ท่ามกลางเสียงขลุ่ยระดับเทพจากศิลปินแห่งชาติ..ธนิศร์  ศรีกลิ่นดี..คอยครวญคลอ โดยมีรมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) –ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์และผู้บริหารกระทรวง-แขกรับเชิญคอยจ้องมองจ้องฟังด้วยความสุขใจอย่างเห็นได้ชัด

ติดๆกัน อ.ปรีชา  เถาทอง   ศิลปินแห่งชาติ ทำการวาดรูปประตูแห่งปัญญาเป็นสัญลักษณ์ให้กับหน่วยงานใหม่ของอว.ที่ชื่อว่า “ธัชชา”  จากนั้นพิธีเปิดป้ายหน่วยงานใหม่แห่งนี้ก็เริ่มขึ้น ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้น 20 อาคารอุดมศึกษา 2 ถนนศรีอยุธยา  หรือถอยหลังไปเมื่อหลายปีก่อนโน้นก็คือตึกทบวงมหาวิทยาลัยเดิมนั่นเอง...

ธัชชาคืออะไร ทำไมต้องธัชชา

คนในแวดวงทั่วไปอาจจะยังไม่รู้จัก ”ธัชชา” แต่ในแวดวงการศึกษา-มหาวิทยาลัยคงจะพอได้ข่าวอยู่บ้างว่าตั้งแต่เดือนพ.ย.2563 รมว.อว.ที่ชื่อ ”ดร.เอนก” ได้ประชุมหารือผู้บริหารกระทรวงและทีมงาน จนเกิดเป็นข้อสั่งการให้จัดตั้งหน่วยงานหนึ่งที่เรียกว่า “วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์" หรือ “ธัชชา” (Thailand   Acardemi of  Social Sciences,Humanities and Arts –TASSHA)”  นัยว่าเพื่อเป็นการสร้างสมดุลการพัฒนาระหว่างวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับด้านสังคมศาสตร์  มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์  ซึ่งดร.เอนกมองว่าจะต้องพัฒนาควบคู่กันไป หนุนเอื้อและผสมกลมกลืนไปด้วยกันทั้งด้านงานวิจัยและการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม..

“เป้าหมายการตั้งวิทยสถานฯก็เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ที่ทำหน้าที่ในการยกระดับการพัฒนาไปสู่อนาคตด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวิชาการด้านนี้ให้มีทิศทางการพัฒนาสอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแทบทุกสรรพศาสตร์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนของขั้วการเมืองโลก ธัชชาจะเป็นหน่วยงานวิจัยหลักที่มีบทบาทในการพัฒนาความรู้   ขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยังยืนผ่านการเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับภูมิภาคและโลกต่อไป”

นั่น เป็นคำประกาศของรมว.อว.ชื่อดร.เอนกเมื่อ 14 พ.ย.2563  วันที่เชิญกูรู-ผู้สันทัดกรณีในแนวรบด้านสังคม-วัฒนธรรมมาร่วมประกาศเจตนารมณ์ ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง  ซึ่งต้องยอมรับว่าคำประกาศวันนั้นได้สร้างแรงกระเพื่อมในเชิงบวกต่อนักวิชาการ คณะวิชาด้านสังคมศาสตร์ฯ มากทีเดียว  เหตุเพราะก่อนหน้านั้นนับแต่กระทรวงอว.ที่ถือกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อ 2 พ.ค.2562 โดยรวมเอาการอุดมศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการมารวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์เดิม แล้วดึงงานด้านวิจัยเข้ามาผนวกรวมด้วยนั้น  กิจกรรมความสำคัญของกระทรวงดูเหมือนจะโน้มเอียงไปทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมากกว่าจนกล่าวกันเล่นๆว่าแนวรบด้านสังคมศาสตร์ฯ แทบหลับสนิท..นั่นเอง..

หลังการมอบนโยบาย-สั่งการแล้ว ปลัดกระทรวงอว.คือ ศ.นพ.สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล และ รศ.พาสิทธิ์  หล่อธีรพงษ์  ที่ปรึกษากระทรวงก็ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนขึ้นมา  โดยเชิญบุคคลภายนอกบิ๊กเนมอย่าง ศ.ศรศักดิ์  วัลลิโภดม,ศ.กิตติคุณสุรพล  วิรุฬห์รักษ์,ศ.คลินิกเกียรติคุณอุดม   คชินทร,ศ.สมบูรณ์  สุขสำราญ,ธนพล   วัฒนกุล,รศ.สมเจตน์  ทินพงษ์ ฯลฯรวมทั้งทีมการเมืองของดร.เอนกทั้ง  3คน ดร.จักษ์  พันธ์ชูเพชร,สำราญ  รอดเพชรและดร.ดวงฤทธิ์  เบญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เข้าร่วมเป็นกรรมการ..และภายใน3เดือนทุกอย่างก็ได้ก่อเกิด กระทั่งได้ทำพิธีเปิดป้ายสำนักงานธัชชาเมื่อเย็นวันที่ 25 ก.พ.2564  ดังกล่าวแล้ว

ส่องกล้องมองโครงสร้าง “ธัชชา” มี 5 สถาบัน

จริงๆแล้วก่อนพิธีเปิดป้ายเมื่อ 25 ก.พ.นั้นดร.เอนกได้นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรรมการขับเคลื่อนจัดตั้งคณะกรรมการธัชชาซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ก่อนที่คาดว่ากรรมการชุดนี้จะแปลงร่างไปเป็นกรรมการกำกับทิศทางของธัชชาในอนาคตต่อไป   โดยดร.เอนกได้ย้ำซ้ำถึงภารกิจของธัชชาที่จะต้องทำให้สำเร็จทั้งระยะยาว ระยะสั้น  ทุกองคาพยพในกระทรวงต้องหลอมรวมและมาช่วยกันทำให้องค์ความรู้ด้านนี้มีทั้งมูลค่าและคุณค่า เป็นงานด้านวัฒนธรรมที่มีความหมายมากกว่างานศิลปะแต่เป็นทุนชาติ เป็นส่วนหนึ่งของอารยะธรรม ดังนั้นต้องไม่เป็นเพียงการศึกษาและวิจัยแบบเดิมๆ

สำหรับโครงสร้างของธัชชาจะแบ่งงานเป็น 5 ด้านหรือ 5 สถาบัน มีการแต่งตั้งประธานครบทั้ง 5 ด้านดังนี้

1)สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา – น.พ.บัญชา  พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส นักค้นคว้าประวัติศาสตร์

2)สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง – ศ.ดร.กำพล  ปัญญาโกเมศ  อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)

3)สถาบันโลกคดีศึกษา  - นายสมปอง   สงวนบรรพ์  อดีตเอกอัครราชฑูตหลายประเทศ

4)สถาบันพิพิธภัณฑ์และศิลปกรรมแห่งชาติ –ผศ.ชัยชาญ  ถาวรเวช  อธิการบดีม.ศิลปากร

5)สถาบันช่างศิลป์พื้นถิ่น – ดร.สิริกรณ์  มณีรินทร์  นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน

ทั้ง 5 สถาบันถูกดร.เอนกขีดเส้นว่าภายใน 3 -5 เดือนต้องมีผลงานระยะสั้นออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมนำร่อง เป็นแนวทางที่บอกอนาคตได้ 

ฝันไกล..ไปได้..ไม่เพ้อฝัน!!??

มองผิวเผินการเกิดขึ้นของธัชชาอาจจะเหมือนสำนักคิดสำนักศึกษาธรรมดาๆ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานบางหน่วยก็ทำมาแล้วมากบ้างน้อยบ้าง  แต่ความพยายามของกระทรวงอว.หนนี้ก็คือการกระชับพื้นที่องค์ความรู้ด้านต่างๆ ให้เป็นระบบหรือจัดระเบียบระบบ ชำระสะสะสางข้อมูลให้ลุ่มลึกลงไปและใช้งานวิจัยพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรม...ดังนั้นไม่แปลกที่เอกสารว่าด้วยเป้าหมายของธัชชา ส่วนที่เป็นoutcomeวางไว้หลายประการ ขอกล่าวเพียง3ประการคือ

  •            สังคมมีความตระหนักรู้ในคุณค่าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมชาติมากขึ้น จะนำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมกันของคนในชาติ
  •            การนำองค์ความรู้จากผลงงานการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ฯ ไปสร้างงบประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม  เกิดเป็นเศรษฐกิจฐานศิลปะและวัฒนธรรม
  •            ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมของภูมิภาค

หากย้อนความเป็น “เอนก  เหล่าธรรมทัศน์” แม้หลายคนจะมีภาพจำฝังแน่นอยู่ที่งานเขียนด้านรัฐศาสตร์การเมือง “สองนคราประชาธิปไตย” เมื่อกว่า30ปีก่อน  แต่หากใครได้ติดตามการเดินทางความคิดของเขาในยุคต่อๆผ่านงานเขียนกว่า 40 เล่มซึ่งรวมทั้ง 3 เล่มดัง “ตะวันออก-ตะวันตก ใครสร้างโลก”, บูรพาภิวัฒน์ และ “ราชาธิปไตย” จะพบว่านักวิชาการ นักการเมืองคนนี้ทันโลกทันกาล และประการสำคัญเท่าที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์พูดคุยด้วยหลายครั้ง ได้ข้อสรุปสำคัญว่าดร.เอนกเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์โลกประวัติศาสตร์ไทยสูงมากคนหนึ่งของเมืองไทย..และนี่กลายเป็นจุดแข็งในการโน้มน้าวให้ใครต่อใครโค้งคารวะร่วมสถาปนาธัชชากันโดยดุษฎี..

6 เดือนบนตำแหน่งรมว.อว.นั้นดร.เอนกปลดล็อคปัญหาต่างๆ ในกระทรวงมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้งการเคลื่อนงานใหญ่อย่างโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล,การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้โมเดลBCGดังนั้นกรณีธัชชาก็ไม่น่าจะเกินกำลัง...สำคัญแต่ว่าดอกผลหน้าตาที่ออกมามันจะเป็นอย่างไร..ซึ่งคงไม่ใช่แค่หนังสือ5เล่มจากภารกิจ5ด้าน..มันต้องมากกว่านั้นแน่นอน..

น่าสนใจและติดเป็นยิ่งนัก..!!

ยุทธนา   นครธรรม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"