ไปรษณีย์บุกถึงบ้านรับ"ขยะอิเล็กทรอนิกส์" บริการใหม่สร้างสังคมปลอดภัย


เพิ่มเพื่อน    

ฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กับพี่ไปรษณีย์ ส่งความสะดวกถึงหน้าบ้าน

 

   

      โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีการใช้งานสูงมาก มีมือถือเปิดตัวใหม่ๆ น่าใช้ทุกเดือน แต่ละรุ่นนอกจากดีไซน์สวยแล้ว ยังตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนแตกต่างกันไป ส่งผลให้คนเปลี่ยนมือถือใหม่บ่อย

      ในประเทศไทย มือถืออายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 2 ปี ดังนั้น ปีๆ หนึ่งจะมีมือถือเก่าๆ แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ หูฟัง จำนวนมหาศาล ซากมือถือและอุปกรณ์เสริมต่างๆ เหล่านี้ที่คนไม่ต้องการใช้แล้ว ถือเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste บางคนเก็บใส่ไว้ในลิ้นชักที่บ้าน บางคนทิ้งมือถือเก่าปะปนในถังขยะทั่วไป เมื่อไม่มีการคัดแยกขยะ กลายเป็นขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามมา

 

โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ แบตเตอรี่สำรองไม่ใช้งาน จัดเป็น E-Waste

 

     ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์นับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วทั้งโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกปี สวนทางกับปริมาณขยะที่ได้รับการจำกัดอย่างถูกวิธี ขยะที่หลงเหลือเหล่านั้นไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ ท้ายที่สุดสารอันตรายย้อนกลับมาทำลายสุขภาพของเรา และเกิดผลเสียกับระบบนิเวศในระยะยาว

      ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนออกมารณรงค์ให้คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกที่และถูกวิธี แม้หลายหน่วยงานออกมาตั้งจุดรับทิ้ง E-Waste แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงอยู่ดี รวมถึงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้ผู้คนต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ การเดินทางไปจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์หยุดชะงัก ทำให้ซากมือถือและอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ค้างเติ่งอยู่ที่บ้าน

      แต่ตอนนี้มีช่องทางทิ้งขยะมือถือได้ง่ายๆ สะดวกสุดๆ แม้แต่อยู่ที่บ้านก็สามารถทำได้ เพราะมีบริการ “ฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับพี่ๆ บุรุษไปรษณีย์กว่า 20,000 คนทั่วประเทศ และที่สำคัญฟรีไม่เสียเงินสักบาท ดีเดย์เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างเอไอเอส กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หลังจากร่วมกันตั้งจุดรับทิ้ง E-Waste ณ ที่ทำการไปรษณีย์ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ในโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” มาก่อนหน้านี้

 

      สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บอกว่า เชื่อว่าวันนี้พวกเราตื่นตัวกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น แต่ปัญหาเกิดจากความไม่สะดวกที่จะนำไปทิ้ง ณ จุดรับทิ้ง ดังนั้นการเข้าไปรับฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึงที่บ้าน เพื่อส่งต่อให้เอไอเอส ทุกคนสามารถมั่นใจได้ว่า เราจะนำไปกำจัดและรีไซเคิลอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากลในรูปแบบของ Zero Landfill ช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างดีที่สุด

 

   สายชล ทรัพย์มากอุดม เอไอเอส ชวนคนไทยฝากทิ้งขยะ E-Waste

 

       ส่วนขั้นตอนง่ายๆ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับบุรุษไปรษณีย์  เตรียม E-Waste ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, สายชาร์จ, หูฟัง, เพาเวอร์แบงก์ และ แบตเตอรี่มือถือ ให้พร้อม โดยเฉพาะแบตเตอรี่มือถือเอามาห่อก่อน แล้วรวบรวมนำใส่กล่อง พร้อมเขียนหน้ากล่องให้ชัดเจน “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จากนั้นฝากทิ้งกับพี่ไปรษณีย์ที่มาส่งจดหมายหรือพัสดุที่บ้านได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

      ทุกวัน บุรุษไปรษณีย์สองหมื่นคนพร้อมกับภารกิจใหม่ถอดด้าม พงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ด้านธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์) ไปรษณีย์ไทย บอกว่า พนักงานนำจ่ายหรือพี่ไปรษณีย์ทั่วประเทศทุกคน ลูกบ้านสามารถฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้หมด หลังออกแคมเปญนี้ไปมีคนทยอยฝากทิ้งกับพี่ไปรษณีย์ ซึ่งที่ทำการไปรษณีย์แต่ละสาขาจะรวบรวม จากนั้นขนส่งซากมาที่ทำการไปรษณีย์สาขาบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดรวบรวม ก่อนส่งปลายทางโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รับผิดชอบนำไปจัดการต่อ

      "พี่ๆ ไปรษณีย์ตั้งใจจะอำนวยความสะดวกและสร้างการบริการที่ช่วยเหลือสังคม เรายินดีทำให้คนในสังคมอยู่อย่างปลอดภัยไร้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะนี่คือขยะมีพิษที่ซุกซ่อนอยู่ตามบ้าน แต่ฝากให้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 5 ประเภท บรรจุลงในกล่อง ปิดให้มิดชิด เพื่อให้ปลอดภัยและสะดวกต่อการจัดเก็บลงกล่องในกระเป๋าของพี่ๆ ไปรษณีย์" พงษ์ทรบอก และฝาก ถ้าขนไม่หมดสามารถนัดมารับที่บ้านอีกรอบได้

     

      กระแสตอบรับฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ฟรี ดีวันดีคืน สะท้อนผ่านเสียงกลุ่มคนเมืองที่ดองมือถือเก่า แบตเตอรี่เก่าไว้เต็มบ้าน สายฝน สร้อยศอ พักอาศัยย่านสายไหมกับครอบครัว บอกว่า ปกติ 3-4 ปีจะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ 1 ครั้ง เพราะเสื่อมสภาพจนใช้งานไม่ได้แล้ว โดยเลือกซื้อยี่ห้อและรุ่นที่เชื่อว่ามีความทนทาน ใช้งานนาน แบตเตอรี่สำรองก็เหมือนกัน เมื่อเสื่อมสภาพตามชั่วโมงการใช้งานก็หาซื้อใหม่ ในมุมมองขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถึงกับน่ากลัว แต่ก็เก็บแยกไว้ในที่ปลอดภัย ไม่นำมาวางไว้ใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตประจำวันในบ้าน

      "มือถือเก่าก็ไม่กล้าทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ที่บ้านจะมีกล่องเก็บรวบรวมมือถือเก่า เพาเวอร์แบงก์เก่า เก็บเอาไว้เหมือนเป็นขยะเครื่องมือเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ได้ทราบข่าวมีบริการฝากขยะอิเล็กทรอนิกส์กับบุรุษไปรษณีย์ รู้สึกสนใจมากๆ ขอบคุณที่มีบริการนี้ขึ้นมา ทำให้เราสามารถกำจัดขยะเหล่านั้นโดยไม่รู้สึกผิด" สายฝนบอก

      คุณแม่ลูกสองถือโอกาสฝากขอบคุณพี่ไปรษณีย์ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในครอบครัว และปลดเปลื้องความทุกข์จากขยะ E-Waste อดีตพวกเขาคือ คนส่ง สคส.อวยพรปีใหม่และเทศกาลสำคัญต่างๆ แต่เมื่อไลฟ์สไตล์ของคนวันนี้เปลี่ยนไป พี่ๆ บุรุษไปรษณีย์ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นคนนำความทุกข์ความกังวลของเราออกไปแทน

      ด้าน รสพร จิรประณีต อายุ 39 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัวย่านบางแค บอกว่า ตนเปลี่ยนมือถือไม่ค่อยบ่อย ส่วนใหญ่จะใช้ยาวๆ ประมาณ 5 ปี มือถือเมื่อใช้งานมานานเริ่มเสื่อมสภาพ ทำงานช้าลง แบตเตอรี่เริ่มเสื่อม ทำให้ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่เพาเวอร์แบงก์จะเปลี่ยนบ่อยกว่ามือถือ ใช้งาน 1-2 ปีก็ซื้อใหม่ เพราะแบตเตอรี่เสื่อมบ้าง แบตเตอรี่บวม ชาร์จไฟไม่เข้า ใช้งานไม่ได้ดีเหมือนตอนซื้อมาใหม่ๆ

      "มือถือเก่าไม่ได้ทิ้งทันที แต่ส่งต่อให้คนในครอบครัวใช้ เพราะว่ายังไม่ได้พังเสียทีเดียว แต่ถ้าพังหรือเลิกใช้งานแล้วจะเก็บเอาไว้ ไม่ได้นำไปทิ้ง ส่วนเพาเวอร์แบงก์เก่าก็ไม่ทิ้ง เก็บสะสมไว้ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทิ้งที่ไหนดีเลยยังเก็บไว้ก่อน ตอนนี้เก็บจนลืมไปแล้วว่า มีขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่บ้านมากมาย" รสพรเล่าให้ฟังถึงเหล่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ซุกไว้ในบ้าน

      เธอบอกตอนนี้มีบริการฝากไปรษณีย์ช่วยทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ก็สนใจ เพราะจะได้กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่พอสมควร จะได้ทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง ขยะอิเล็กทรอนิกส์อันตราย ถ้าเราทิ้งไม่ถูกต้อง กำจัดอย่างไม่ถูกวิธี จะมีสารเคมีต่างๆ ที่อยู่ในอุปกรณ์หรือแบตเตอรีฟุ้งออกมา อาจเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ อยากให้พี่บุรุษไปรษณีย์เข้ามาช่วยเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ พร้อมช่วยแนะนำวิธีทิ้งหรือคัดแยก จะได้ช่วยกำจัดได้ถูกต้องและไม่เป็นอันตรายทั้งต่อตัวคนใช้เอง และไม่สร้างปัญหาต่อโลก นับวันขยะอิเล็กทรอนิกส์จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นๆ หากทิ้งไม่ถูกวิธี เกิดปัญหาขยะมีพิษล้นโลกของเราได้

นอกจากทิ้งในจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีบริการพี่ไปรษณีย์รับฝากถึงหน้าบ้าน 

 

      ส่วน จตุพร ฉัตรทอง สาวออฟฟิศ บอกว่า ใช้งานมือถือ 1-2 ปีถึงจะซื้อใหม่ มือถือเก่าไม่เคยทิ้ง แต่หากพบสิ่งผิดปกติ เช่น แบตเตอรี่บวมมีทั้งทิ้งลงถังขยะทั่วไปหรือทิ้งตามสถานที่ที่ตั้งจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น AIS shop และสถานีรถไฟฟ้า

      "เพิ่งรู้ว่า ไปรษณีย์รับฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึงที่บ้าน น่าสนใจดี ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เจอกับตัวเอง จึงเห็นว่าไม่น่ากลัว แต่ถ้าคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก ขยะอิเล็กทรอนิกส์จัดอยู่ในประเภทอันตราย เราควรรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความอันตรายจากขยะมือถือเก่า อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีเกลื่อนตามบ้าน" จตุพรกล่าว และส่งกำลังใจพี่บุรุษไปรษณีย์ ขอให้ทำงานให้เต็มความสามารถ

        ส่งความสะดวกถึงหน้าบ้านแบบนี้ ปกรบงกช จงวิทยาดี พักอาศัยอยู่ย่านสุขุมวิท บอกว่า เป็นบริการที่ดีมาก เพราะมือถือหรือโทรทัศน์ ถ้ามีการเปลี่ยนใหม่ ของเก่าซึ่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังเก็บไว้บ้าน ด้วยความเสียดาย บางเครื่องที่ใช้งานได้อยู่ก็ให้ญาติเอาไปใช้ต่อ โครงการนี้ทำให้มีระบบการจัดการดี หรือรวบรวมขยะกลุ่มนี้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อไป ช่วยแก้ปัญหาขยะทุกวันนี้ ขอบคุณเอไอเอสและไปรษณีย์ไทย จะคอยติดตามผลต่อไป

      ส่องอันตรายของขยะ E-Waste หากไม่ได้กำจัดอย่างถูกวิธี

      ทุกๆ ปีจะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ปัญหาของขยะมือถือ แท็บเล็ต ย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ เพราะมีสารอันตรายในซากวัสดุหรือชิ้นส่วนต่างๆ ของมือถือและแบตเตอรี่ หากมีการแยกซากอย่างไม่ถูกต้อง บดอัด หรือถูกนำไปเผากำจัด เป็นมหันตภัยต่อสุขภาพของคนและตกค้างในสิ่งแวดล้อม

      - ตะกั่ว มีผลทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ระบบโลหิต การทำงานของไต และการสืบพันธุ์ ผลต่อพัฒนาการสมองของเด็ก นอกจากนี้ยังสะสมในบรรยากาศ และเกิดผลกระทบเฉียบพลันหรือเรื้อรังกับพืชและสัตว์

      - แคดเมียม สะสมในไต ทำลายระบบประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กและภาวะตั้งครรภ์

      - สารทนไฟ ทำจากโบรมีน พิษสะสมในสิ่งที่ชีวิต ถ้ามีทองแดงด้วยเพิ่มความเสี่ยงเกิดไดออกซิน-ฟิวแรน สารก่อมะเร็ง ระหว่างเผา ทำลายตับ

      - แบริลเลียม สารก่อมะเร็ง หากรับต่อเนื่องจากการสูดดมจะกลายเป็นโรคมีผลกับปอด ถ้าสัมผัสเกิดแผลผิวหนังรุนแรง ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

      - สารหนู ทำลายประสาท ผิวหนัง ระบบย่อยอาหาร ถ้ารับปริมาณมากตายได้

      - นิกเกิล สาเหตุเกิดมะเร็งในปอด และระบบสืบพันธุ์

 

      อย่าลืมนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ของคุณใส่กล่อง ปัจจุบันมีทั้งบุรุษไปรษณีย์และรถขนส่งไปรษณีย์พร้อมบริการกับชุมชนและสังคม ทุกตรอกซอกซอย ไกลแค่ไหนก็ไปถึง เข้ากับปัจจุบันที่มีจุดรับทิ้ง E-Waste จำกัด และตอบโจทย์ชีวิตคนยุคดิจิทัลที่ชื่นชอบความสะดวกสบาย หวังว่าโปรเจ็กต์นี้จะดึงขยะพิษออกจากบ้านมาสู่ระบบกำจัดอย่างถูกวิธีได้มาก

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"