ลุ้น“วัคซีนโควิด”พลิกศก.


เพิ่มเพื่อน    

    
    แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 หลายฝ่ายยังประเมินว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อยู่ โดยล่าสุด “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์” ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5-4.5%
    โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ 1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และความล่าช้าของการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและการส่งมอบ 2.แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการจำกัดควบคุมการเดินทางนานกว่าที่คาดไว้ 3.ฐานะการเงินและการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน 4.สถานการณ์ภัยแล้ง และ 5.ความผันผวนเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก
    ขณะที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อยู่บ้าง นั่นคือการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัว 5.2% และ 6.7% ตามลำดับ และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 รวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของอุปสงค์ภายในประเทศตามการฟื้นตัวของฐานรายได้ภาคครัวเรือนและธุรกิจ ตลอดจนฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติในปี 2563 ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19
    ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงัก การเยียวยาและช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนจึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ จนนำมาซึ่งการออกกฎหมายกู้เงินครั้งใหญ่อย่าง “พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563” หรือที่คุ้นหูกันว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
    เดิมทีรัฐบาลมีการจัดสรรปันส่วนวงเงินกู้ดังกล่าวเพื่อใช้ในแต่ละภารกิจ ได้แก่ ภารกิจด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ภารกิจด้านการเยียวยาผลกระทบ วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท และภารกิจด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยภารกิจด้านการเยียวยาผลกระทบนั้น มีการดำเนินการผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการกำลังใจ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และล่าสุดกับโครงการ ม.33 เรารักกัน
    ข้อมูลจาก “สภาพัฒน์” ได้ระบุถึงภาพรวมการอนุมัติและเบิกจ่ายวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นกรอบวงเงินกู้อนุมัติแล้ว 7.486 แสนล้านบาท คงเหลือ 2.51 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 4.046 แสนล้านบาท คิดเป็น 54.05% เป็นการอนุมัติวงเงินเพื่อการเยียวยา 5.95 แสนล้านบาท จากกรอบวงเงิน 6 แสนล้านบาท อนุมัติวงเงินเพื่อการฟื้นฟู 1.33 แสนล้านบาท จากกรอบ 3.55 แสนล้านบาท และอนุมัติวงเงินเพื่อสาธารณสุข 1.96 หมื่นล้านบาท จากกรอบ 4.5 หมื่นล้านบาท
    โดยรัฐบาลสามารถจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 44.14 ล้านคน ขณะเดียวกันยังสร้างตำแหน่งงานเพื่อรองรับการว่างงานได้กว่า 4.16 แสนตำแหน่ง และมีการจ้างงานเกิดขึ้นแล้ว 1.31 แสนตำแหน่ง เป็นนักศึกษาจบใหม่ 1.19 หมื่นตำแหน่ง
    ชัดเจนว่าวงเงินกู้ยังเหลืออยู่อีกเพียง 2.51 แสนล้านบาท ในส่วนนี้ “สภาพัฒน์” ระบุว่า หากไม่มีการระบาดรอบใหม่ วงเงินที่เหลืออยู่ 2.51 แสนล้านบาท จะเพียงพอต่อการกระตุ้น ผ่านโครงการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากมีการระบาด วงเงินส่วนนี้ก็จะสามารถโอนไปใช้เพื่อลดผลกระทบให้ประชาชนได้ ซึ่งการจะอนุมัติงบไปใช้ต้องเป็นไปตามสถานการณ์ และใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง เพราะแม้ว่าจะมีวัคซีนก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก และยืนยันว่างบในส่วนนี้ไม่ใช่เงินเพียงก้อนเดียวที่รัฐบาลเหลืออยู่ ยังมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ที่สามารถนำมาใช้ได้
    อย่างไรก็ดี หลายคนหวังว่าข่าวดีเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศให้ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนหลังจากนี้คงต้องดูกันต่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"