จ.ขอนแก่น / เครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงโควิด โดยคืนเงินสะสมที่สมาชิก 680 ครอบครัวฝากเข้ากองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ ตั้งแต่ปี 2553 ให้สมาชิกนำไปใช้จ่ายในครอบครัว รายละ 2,000-6,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 1.7 ล้านบาท และยังมีข้าวเปลือกสำรองเหลืออีกประมาณ 5 ตันเอาไว้ช่วยสมาชิกหากโควิดยังยืดเยื้อ
โครงการบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง บ้างอยู่บ้านเช่า หรือบุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชนในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ เมื่อสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ในปี 2546 ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยจึงรวมตัวกันจัดทำโครงการขึ้นมา มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน เตรียมหาที่ดินรองรับ ทั้งที่ดินเช่าจากราชพัสดุ และที่ดินเอกชน ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองชุมแพและ พอช. โดยมีการจัดตั้ง ‘คณะกรรรมการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ’ ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนงาน
บ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพสวยงามไม่แพ้บ้านจัดสรร ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว 13 ชุมชน รวม 1,052 ครัวเรือน
โดยชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน เริ่มสร้างบ้านชุมชนแรกในช่วงปลายปี 2547 ต่อมาในปี 2553 จึงจัดตั้งเป็น ‘กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ’ ให้สมาชิกออมเงินเข้ากองทุนครอบครัวละ 50 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนนำมาซื้อที่ดินและพัฒนาชุมชน ปัจจุบันสร้างบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลเมืองชุมแพแล้ว 13 โครงการ/ชุมชน ผู้อยู่อาศัย 1,052 ครัวเรือน
ป้าสนอง รวยสูงเนิน ประธานกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ บอกว่า เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้สมาชิกเครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพได้รับผลกระทบไปด้วยเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขายเล็กๆ น้อย ทำมาหากินลำบาก มีรายได้ลดน้อยลง บางคนตกงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว
ป้าสนอง รวยสูงเนิน
“ผลกระทบจากโควิด คณะกรรมการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพจึงได้จัดประชุมในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ป้าจึงเสนอความเห็นว่า ปัจจุบันเรามีกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ สมาชิกรุ่นแรกๆ ส่งเงินเข้ากองทุนตั้งแต่ปี 2553 เดือนละ 50 บาท ปีหนึ่งก็จะมีเงินประมาณ 600 บาท ถ้า 10 ปีก็จะมีเงินประมาณ 6,000 บาท จึงควรเอาเงินที่สมาชิกสะสมมาช่วยเหลือกันในยามที่เดือดร้อน เราจึงตกลงกันว่าให้นำเงินสมทบที่สมาชิกส่งเข้ากองทุนคืนให้สมาชิกไปเลย เพื่อเอาไปใช้จ่ายแก้ปัญหาในช่วงนี้ แต่ไม่คืนเงินทั้งหมด ให้เหลือเอาไว้คนละ 500 บาท และให้ส่งเงินสมทบเดือนละ 50 บาทเข้ากองทุนเหมือนเดิม เพื่อให้กองทุนยังคงอยู่ และเดินหน้าต่อไปได้ หากในอนาคตมีปัญหาเดือดร้อนอะไร เราก็ยังมีเงินกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือกัน” ป้าสนองบอกความเป็นมา
ป้าสนองบอกต่อไปว่า กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพก่อตั้งในปี 2553 มีสมาชิก 2 ส่วน คือ 1.สมาชิกที่สมัครเข้าร่วมในนามโครงการ สมาชิกกลุ่มนี้จะสมทบเงินเข้ากองทุนในนามโครงการ มี 8 โครงการ (สมาชิกประมาณ 365 ครอบครัว สมทบเงินตามสถานะการเงินของแต่ละโครงการ) และ 2.สมาชิกที่สมทบเป็นรายครอบครัวมี 5 ชุมชน สมาชิกประมาณ 680 ครอบครัว สมทบเงินเข้ากองทุนครอบครัวละ 50 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้เทศบาลเมืองชุมแพยังร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนจำนวน 2 ล้านบาท มูลนิธิศูนย์ศึกษาและพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งเอเซียสมทบเงินจำนวน 1 ล้านบาท นำเงินกองทุนมาสำรองจัดซื้อที่ดินและพัฒนาชุมชน เช่น กรณีที่ชุมชนได้รับอนุมัติสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินสร้างบ้านจาก พอช.แล้ว แต่เงินยังลงมาไม่ถึงชุมชน กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพจะนำเงินกองทุนฯ ไปซื้อที่ดินก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขึ้นราคาที่ดิน หรือเจ้าของนำที่ดินไปขายให้ผู้ซื้อรายอื่น เมื่อได้รับเงินสินเชื่อจาก พอช.จึงนำเงินมาคืนกองทุน
ต่อมา กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพได้นำเงินไปซื้อที่นาเนื้อที่จำนวน 38 ไร่ เพื่อนำมาเป็นพื้นที่ทำนารวม ปลูกข้าวเหนียว รวมทั้งปลูกผัก เลี้ยงปลา ฯลฯ โดยชาวบ้านและคณะกรรมการในชุมชนต่างๆ มองเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหารจึงร่วมกันซื้อที่ดินเป็นของส่วนรวม เป็นที่ดินในครอบครองของธนาคารออมสิน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองชุมแพ ราคา 2.6 ล้านบาท โดยกองทุนฯ ขอใช้สินเชื่อจาก พอช. และชาวบ้านร่วมกันถือหุ้นๆ ละ 150 บาท (ปัจจุบันชำระสินเชื่อคืน พอช.หมดแล้ว)
ปัจจุบันกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพมีเงินประมาณ 3.5 ล้านบาท นำเงินมาคืนให้แก่สมาชิกที่สมทบเงินเป็นรายครอบครัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประมาณ 680 ครอบครัว จำนวน 5 ชุมชน เช่น ชุมชนบ้านคือชีวิต วิมานดิน โนนโพธิ์ทอง ฯลฯ รวมเป็นเงินที่คืนทั้งหมดประมาณ 1.7 ล้านบาทเศษ จำนวนเงินที่คืนตั้งแต่ 2,000-3,000 บาทขึ้นไป จนถึงประมาณ 6,000 บาท (ส่วนอีก 8 ชุมชน ประมาณ 365 ครอบครัวที่สมทบเงินเข้ากองทุนในนามโครงการยังไม่ขอรับเงินคืน) เงินกองทุนคงเหลือประมาณ 1.8 ล้านบาท
ป้าสนองบอกทิ้งท้ายว่า เงินที่คืนให้สมาชิกกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยแม้ว่าจะไม่มากมาย แต่ก็ช่วยให้สมาชิกหายใจต่อไปได้ บางคนบอกว่าจะเอาให้ลูกหลานไปโรงเรียน บางคนบอกจะเอาไปซื้อข้าว บางคนที่ค้างชำระผ่อนบ้านมาแล้วหลายงวดก็จะได้มีเงินส่งบ้าน
“ชาวบ้านรู้สึกดีใจมาก และภูมิใจว่าเงินที่พวกเขาสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 50 บาท เมื่อยามที่เดือดร้อนมันสามารถช่วยเหลือเยียวยาพวกเขาได้ ไม่ต้องไปเข้าแถวสแกนหน้าเพื่อรอเงินช่วยเหลือ และถ้าหากโควิดยังยืดยื้อต่อไป เราก็ยังมีข้าวเปลือกจากนารวม ประมาณ 5 ตัน สำรองเอาไว้ช่วยเหลือพี่น้องในยามเดือดร้อนได้อีก”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |