ชายผู้สะสมกล้อง 500 ตัว


เพิ่มเพื่อน    


ลุงอูเวอ บายลิช กับคอลเล็กชั่นกล้องถ่ายภาพประมาณ 500 ตัว

 

         เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรบินผ่านหมู่บ้านหนึ่งในเมือง “ฟีลิงเกน-ชเวนนิงเกน” โดยไม่หย่อนลูกระเบิดลงมา แม้ว่าจะอยู่ในเขตประเทศเยอรมนี

            “หมู่บ้านของเราเปิดไฟตอนกลางคืน พวกเขาก็เลยคิดว่ายังอยู่ในเขตประเทศสวิตเซอร์แลนด์” ลุงอูเวอ บายลิช (Uwe Bräunlich) เคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แกประสบเมื่อตอนเป็นเด็กน้อย

                สาเหตุที่เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรไม่บอมบ์ใส่สวิตเซอร์แลนด์ เพราะพวกเขาคือประเทศเป็นกลางในสงคราม จึงไม่จำเป็นต้องปิดไฟให้มืดเพื่อหลบสายตานักบินทิ้งระเบิด แต่เมืองต่างๆ ในเยอรมนีต้องปิดไฟในตอนกลางคืน

                บ้านเกิดของลุงอูเวออยู่ในเขตป่าดำ รัฐบาเดิน-เวิร์ทเทิมแบร์ก ตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี ไม่ห่างจากพรมแดนทางเหนือของสวิตเซอร์แลนด์


ส่วนหนึ่งของกล้องโบราณที่ลุงอูเวอ บายลิช สะสมไว้ตลอดชีวิต

 

                เมือง “ชเวนนิงเกิน” มีชื่อเสียงเกี่ยวกับนาฬิกา โดย Kienzle Uhren บริษัทผลิตนาฬิกาแห่งแรกของเยอรมนีถือกำเนิดขึ้นที่นี่เมื่อปี ค.ศ.1822 จากนั้นในปี ค.ศ.1858 โรงงานผลิตนาฬิกาแห่งแรกของโลกก็ตั้งขึ้นในเมืองนี้เช่นกัน

            “ในสมัยก่อนหน้านั้นจะมีคนรับนาฬิกาจากช่าง แบกขึ้นหลังขึ้นบ่าเดินเร่ขายไปตามเมืองต่างๆ เพราะคนอยากได้นาฬิกาไม่รู้จะหาซื้อได้อย่างไร รถยนต์ก็ยังไม่เกิด” อีกความรู้ที่ผมได้จากชายชรา

                หาไม่ง่ายที่ชาวเยอรมันรุ่นนี้จะพูดภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างคล่องแคล่ว และน่าทึ่งยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่าแกไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนด้วยซ้ำ เพราะในเขตที่แกเติบโตมาถูกฝรั่งเศสยึดไว้ช่วงหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาษาที่ถูกบังคับให้เรียนก็คือฝรั่งเศส

                ลุงอูเวอเกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1939 แม้จะเกิดในเมืองที่มีชื่อด้านนาฬิกา แต่แกกลับเข้าไปเกี่ยวข้องกับของใหม่แห่งยุคสมัย นั่นคือกล้องถ่ายภาพ

                พ่อแกเป็นช่างถ่ายภาพ เช่นเดียวกับแม่ ลุง และญาติบางคน พี่สาวก็เชี่ยวชาญด้านกล้อง ตัวแกได้กล้องตัวแรกคือ Ising รุ่น Puck เป็นของขวัญจากพ่อตอนประมาณ 10 ขวบ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงหนีไม่พ้นการต้องเป็นตากล้องมืออาชีพ แกเข้าทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพตั้งแต่เริ่มโตเป็นหนุ่ม ถ่ายภาพหน้าตรงติดบัตร ภาพเจ้าบ่าวเจ้าสาว ภาพเด็กเล็กที่พ่อแม่อยากบันทึกเก็บไว้ ทำงานในห้องภาพหลายแห่งในเยอรมนี แต่ไม่นานก็รู้สึกเบื่อการถ่ายภาพนิ่งๆ จำพวกที่ว่ามา จึงย้ายไปยังนครแฟรงก์เฟิร์ต รัฐเฮสเซิน และเปลี่ยนสายงานเป็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระ

                แกได้ถ่ายภาพบุคคลสำคัญๆ ที่เป็นนักการเมืองระดับโลกที่มาเยือนเยอรมนี (ตะวันตก) อย่าง จอห์น เอฟ. เคนเนดี และจิมมี คาร์เตอร์ ช่วงเวลาหนึ่งได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาค่อนข้างบ่อย หันมาสนใจการถ่ายภาพท่องเที่ยว และตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางอีกครั้ง นอกจากนี้ก็ยังได้ถ่ายภาพให้กับเอเยนซีที่ให้บริการภาพถ่ายแก่สื่อต่างๆ อีกด้วย


กล้องถ่ายภาพบางส่วนของลุงอูเวอ บายลิช

 

                เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงทางด้านถ่ายภาพท่องเที่ยว แกก็ได้รับเชิญให้ไปถ่ายภาพโปรโมตการท่องเที่ยวให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงต่อมาได้ทำงานกับ Linhof บริษัทกล้องถ่ายรูปขนาดใหญ่ซึ่งมีโรงงานผลิตกล้องที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (มากกว่า 130 ปี) ได้รับมอบหมายจากบริษัทให้ไปบรรยายการถ่ายภาพขนาดใหญ่ (Large-scale photography) ในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ในจีน เพราะกล้อง Linhof เป็นผู้นำด้านนี้

                นอกจากจีนแล้วลุงอูเวอก็ได้เดินทางไปทั่วโลก มีงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายในหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี จีน อิหร่าน อเมริกา และเวียดนาม แกไปเยือนเวียดนามหลายครั้งและตกหลุมรักเมืองฮอยอัน ที่นี่แกมีเพื่อนหลายคน รวมถึงลูกสาวบุญธรรม

                ลุงอูเวอได้ส่งเสียเงินเลี้ยงดูเธอตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ จนโตและแต่งงานมีสามี วันหนึ่งลูกสาวบุญธรรมเขียนอีเมลไปขอเงินเหมือนเช่นเคย ลุงอูเวอตอบกลับไปว่า “ทำไมไม่ขอสามีเธอล่ะ” นั่นคือธรรมเนียมตะวันตก ลูกที่โตถึงขั้นมีครอบครัวของตัวเองแล้วจะไม่ขอเงินพ่อแม่

                อันที่จริงแกเคยแต่งงานแต่ไม่มีลูก และเมื่อใช้ชีวิตคู่จนถึงปีที่ 25 ภรรยาก็มาบอกว่า “อูเวอ คุณเป็นอิสระแล้ว”


กล้องโบราณของลุงอูเวอ บายลิช เวลานี้อยู่ในการครอบครองของเจษฎาเทคนิคมิวเซียม

 

                ความจริงน่าจะเป็นภรรยาของแกต่างหากที่เป็นอิสระ สาเหตุการขอแยกทางคงมาจากการที่ลุงอูเวอสะสมกล้องอย่างหมกมุ่นจริงจังและเดินทางไกลอยู่เรื่อย ซึ่งประเทศที่แกไปเยือนบ่อยที่สุดก็คือเมืองไทยของเรา และที่นี่แกก็มีลูกสาวอีกคน เป็นลูกติดสามีเก่าของแฟนสาวคนใหม่ แกใส่ใจและมอบความรักให้กับเด็กคนนี้อย่างมาก แม้ว่าวันที่เลิกรากับแม่ของเด็กแล้วก็ยังไปสักข้อความ “ผมรักลูกสาวของผม” ไว้ที่นิ้วมือ ซึ่งน่าจะเจ็บพอสมควร เพราะเป็นการสักครั้งแรกในชีวิตเมื่อชราภาพแล้ว ยิ่งโดนเข็มทิ่มกระดูกเข้าไปกว่าจะครบประโยค ไม่อยากจะจินตนาการ

                ลุงอูเวอเป็นเพื่อนกับ “อาจารย์สยาม เอี่ยมพิชัยฤทธิ์” แห่ง NIKS (Thailand) ช่างภาพชื่อดัง ผู้ถวายงานถ่ายภาพการทรงงานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ ในรัชกาลที่ 9 และงานพระราชพิธีต่างๆ เดาว่าลุงอูเวอที่อายุมากขึ้นและมีกล้องถ่ายรูปสะสมอยู่เป็นจำนวนมากราว 500 ตัว อุปกรณ์เสริมอีกหลายร้อยชิ้น แต่ไม่มีทายาทให้รับมรดกและไม่อยากขายปลีกหรือประมูลออกไปให้นักสะสมในเยอรมนี

                คอลเล็กชั่นขนาดใหญ่นี้ควรอยู่ในพิพิธภัณฑ์ คงเป็นความคิดที่ปรึกษาหารือกันแล้วดูจะเหมาะเจาะและเข้าทีกว่าความคิดใด อาจารย์สยามจึงได้แนะนำให้ลุงอูเวอรู้จักกับ “คุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์” เจ้าของเจษฎาเทคนิคมิวเซียม อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

                คุณเจษฎารับซื้อไว้ทั้งคอลเล็กชั่นเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน แล้วส่งเจ้าหน้าที่ 2 คนไปยังบ้านชานเมืองแฟรงก์เฟิร์ตของลุงอูเวอเพื่อจัดการเก็บกล้องทั้งหมดใส่ลังใส่หีบขนส่งลงเรือมาเมืองไทย มีแผนจะนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ขนาดใหญ่ยักษ์ที่กำลังก่อสร้าง โดยคุณเจษฎาจะให้ลุงอูเวอมาเป็นไกด์นำชมคอลเล็กชั่นของแกเอง พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดในกลางปี พ.ศ.2565

                บรรดากล้องของลุงอูเวอนั้นมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ตั้งแต่กล้องจากเยอรมนีตะวันตก อย่าง Agfa, Adox, Bilora, Franke & Heidecke, Linhof, Zeiss Ikon, Voigtlander กล้องจากเยอรมนีตะวันออก เช่น Ihagee, Kamerawerke, Pentacon, Werra กล้องจากอังกฤษ ได้แก่ Crown Camera, Houghtons, Purma, Apem


ลุงอูเวอ บายลิช เมื่อสมัยยังเป็นหนุ่มใหญ่

 

                กล้อง Canon, Nikon, Olympus, Mamiya, Minolta, Pentax จากญี่ปุ่น กล้อง Kodak และ Polaroid จากอเมริกา กล้อง Lubitel, Lomo, Zorki จากสหภาพโซเวียต กล้อง Alpa จากสวิตเซอร์แลนด์ กล้อง Miom จากฝรั่งเศส กล้อง Goerz จากออสเตรีย กล้อง Meopta จากเช็กโกสโลวาเกีย กล้อง Seagull และ Great Wall จากจีน กล้อง Mustek จากไต้หวัน

                กล้องที่มีอายุมากสุดน่าจะเป็นยี่ห้อ J. Lancaster & Son จากอังกฤษผลิตในราวๆ ปี 1886 และกล้อง Rodenstock จากเยอรมนีประมาณปี 1890 ถัดมาก็เป็น Krugener ปี 1906 กล้องพับ (Folding camera) ราคาแพงอย่าง Linhof ในยุค 1910’s และกล้องไม้ในยุคเดียวกัน ส่วนของสะสมที่เก่าแก่ที่สุดคงจะเป็นภาพที่ได้จากกระบวนการ “ดาแกโรไทพ์” ประมาณปี 1835-1839

                นอกจากนี้ กล้องจิ๋ว กล้องขวด กล้องนาฬิกา กล้องปากกา กล้องสายลับ แกก็มีไม่น้อย กล้องพาโนรามารุ่นแรกจาก Kodak ประมาณปี 1905-1910 แกก็มี รวมถึงเลนส์ซูมรุ่นแรก

                มีเกร็ดสำหรับกล้องบางรุ่น เช่น Purma รุ่น Purma Special ประมาณปี 1930 หากไม่มีแสงอาทิตย์ ต้องหันกล้องถ่ายกลับหัว ชัตเตอร์ถึงจะทำงาน เรียกว่า Gravity Shutter


ลุงอูเวอ บายลิช กับกล้องยี่ห้อ Linhof ที่องค์การ NASA เคยใช้ในอวกาศ ภาพโดย Barbara Wolff

 

                กล้อง Agfa แบบ Box ปี 1932 สามารถซื้อได้ในราคาแค่ 4 มาร์กเยอรมัน หากว่าใช้เหรียญ 1 มาร์ก จำนวน 4 เหรียญ โดยอักษรในเหรียญต้องขึ้นต้นด้วยตัว A, G, F และ A หลายคนจึงเรียกว่ากล้อง 4-Mark Box

                หลังจากแยกประเทศเป็นเยอรมนีตะวันตกและตะวันออก กล้องและอุปกรณ์บางชนิดที่เคยผลิตในฝั่งตะวันตกเมื่อไปผลิตในฝั่งตะวันออกจะไม่ใช้ชื่อเดิม เช่น เลนส์ Tescar ที่ใช้ในฝั่งตะวันตก แต่ในฝั่งตะวันออกจะเขียนอักษร T เพียงแค่ตัวเดียว

                ผมถามลุงอูเวอว่าใช้กล้องตัวไหนบ่อยสุด แกยกตัวอย่างมา 2 ตัว คือ Voiglantder รุ่น VITO III ปี 1950 และกล้อง Omega รุ่น Rapid Omega ยุค1980 ผลิตในญี่ปุ่น

                ล่าสุดแกใช้ Nikon รุ่น 1 J5 กล้องมิเรอร์เลสขนาดเล็กน้ำหนักเบา คงเพราะสภาพร่างกายไม่เหมาะสำหรับถือกล้องตัวใหญ่อีกแล้ว แกเชียร์กล้องรุ่นนี้จนผมต้องซื้อมาใช้บ้าง เพราะคุณภาพดี ราคาไม่แพง และคล่องตัวสำหรับแบกเป้เดินทาง

                ลุงอูเวอเคยเป็นกรรมการของสมาคมนักข่าวแห่งเยอรมนีนาน 14 ปี เคยเป็นประธานชมรมช่างภาพผู้สื่อข่าวของรัฐเฮสเซิน สมาชิกสโมสรสื่อมวลชนนครแฟรงก์เฟิร์ต และกำลังจะได้รับการบรรจุรายชื่อไว้ใน DGPh (The German Society for Photography) ซึ่งเทียบเท่า “ฮอลออฟเฟม” ของวงการกีฬาและศิลปะ


เมืองฮอยอัน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ภาพโดยลุงอูเวอ บายลิช

 

                นอกจากนี้แกยังเคยเป็น Alderman ของศาลท้องถิ่นเมืองฮาเนา รัฐเฮสเซิน อยู่ 2 ปี (Alderman ของเยอรมันคือลูกขุน 2 คนที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย แต่เข้าไปนั่งฟังการพิจารณาร่วมกับผู้พิพากษาอีก 3 คนในคดีอาญา) และไม่นานมานี้แกได้เป็นสมาชิกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

                ผมในฐานะอดีตเด็กลากเรือดำน้ำของคุณเจษฎามีโอกาสวาสนาได้รู้จักกับลุงอูเวอ พบปะกันหลายครั้ง รวมถึงได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยมตอนที่ผมไปเที่ยวเยอรมนีเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน

                ลุงแกเป็นคนทันสมัย หมดยุคของกล้องฟิล์มก็ปรับตัวมาใช้กล้องดิจิตอล ใช้อุปกรณ์สื่อสารเก่งกาจ มีโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตก็ใช้ ตัดต่อภาพส่งให้คนโน้นคนนี้ประทับใจ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง อย่างวันฮัลโลวีนก็มีอารมณ์ขันตัดต่อให้ตัวเองเป็นผีบ้าน่าสะพรึงกลัว


ภาพถ่ายจากเวียดนามโดยลุงอูเวอ บายลิช

 

                แต่สิ่งที่น่ากังวลเหมือนคนแก่ทั่วๆ ไปก็คือความดื้อรั้น คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร คนที่ลุ่มหลงหรืออุทิศตนให้กับอะไรบางอย่างมักเป็นเช่นนี้ แม้แกมีโรคประจำตัว หนึ่งในนั้นคือเบาหวาน แต่ไม่ชอบกินยา แถมยังท้าทายมัจจุราชกินของต้องห้ามอยู่เนืองๆ แกชอบดื่มกาแฟทรีอินวันที่อุดมไปด้วยไขมันและน้ำตาล ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า กระหายขึ้นมาก็เรียกหาแต่น้ำอัดลม แถมหลังมื้อเย็นบางวันยังดื่มสุราหวานอย่าง Drambuie และ Cointreau

                ปีที่แล้วทั้งปีไม่ได้มาเมืองไทย สาเหตุหลักเพราะโควิด-19 ระบาดในเยอรมนีค่อนข้างหนักหลายระลอก รัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์ 2-3 ช่วง

                หน้าหนาวในเยอรมนีนั้นหนาวหนักอย่างไม่ต้องสงสัย ผมเคยได้ยินว่ามันจะหนาวเข้าไปใหญ่เมื่อคุณเป็นชายชรา และพิเศษอีกขั้นหากว่าเป็นชายชราที่อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย

                คริสต์มาสที่ผ่านมาผมส่งข้อความไปอวยพร ผ่านไป 2-3 วันข้อความยังไม่ถูกอ่านอันเป็นเรื่องผิดวิสัย ปกติแล้วแกจะออนไลน์ตลอดเวลา

                ก่อนวันสิ้นปีเพื่อนร่วมงานของลุงอูเวอที่ Linhof แจ้งมาว่าแกเสียชีวิตแล้วตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม หลานของแกคนหนึ่งให้ข้อมูลว่าคนทำความสะอาดบ้านที่แกจ้างไว้สัปดาห์ละครั้งเปิดประตูเข้าไปเจอศพ เจ้าหน้าที่ชันสูตรแล้วไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย

                งานศพถูกเลื่อนมาจัดในเดือนนี้ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่งจะซาลงไปบ้าง ศพถูกเผาให้เหลือแต่เถ้ากระดูก ญาติมิตรและอดีตเพื่อนร่วมงานไม่กี่คนนำเถ้ากระดูกไปฝังในป่าใกล้นครแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งเป็นสุสานธรรมชาติ และจัดงานรำลึกเล็กๆ เรียกว่า Memorial service เน้นการกล่าวคำสดุดีผู้วายชนม์

                ลุงอูเวอนับถือศาสนาพุทธ ชอบไปทำบุญที่วัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี เคยถวายกล้องให้กับพระรูปหนึ่งที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ

                แกเคยบอกผมว่ารักประเทศไทยและพระมหากษัตริย์ของเรา จึงขอนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเห็นว่าเราได้สูญเสียมิตรต่างชาติผู้ยิ่งใหญ่ไปคนหนึ่งครับ.

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"