GC ติดตั้งเครื่องกำจัด PM 2.5 พิทักษ์ปอดคนเมือง


เพิ่มเพื่อน    

เครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบติดตั้งใจกลางกรุงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

 

 

 

     ฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คน จัดเป็นหนึ่งในมลภาวะทางอากาศที่คนไทยต้องเผชิญทุกปี และถึงจะรับรู้ปัญหา PM 2.5 ที่บางวันปกคลุมสภาพอากาศหนาแน่นระดับสีแดงอันตราย แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีหนทางที่จะหยุดยั้ง หรือลดปริมาณฝุ่นพิษนี้ได้ หากคนในประเทศยังมีพฤติกรรมการใช้พลังงานฟอสซิลจากรถยนต์ การเกิดไฟป่าตามธรรมชาติ และการเจตนาเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร ตลอดจนการเผาไหม้ในภาคอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ฝุ่นจากการก่อสร้าง การขนส่งวัสดุก่อสร้าง และยังเพิ่มเติมจากมลพิษทางอากาศ ข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาและอินโดนีเซีย

      พิษภัยสุขภาพของฝุ่นที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอนนั้น สามารถรอดพ้นการดักจับของจมูกและหลอดลมเล็ก-ใหญ่ เข้าสู่ถุงลมฝอยขนาดจิ๋วที่อยู่ปลายทางได้ แล้วซึมผ่านผนังถุงลมฝอยเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง ผลกระทบของฝุ่นพิษเกิดได้ทั้งกับอวัยวะภายนอก เช่น ตาและผิวหนัง และอวัยวะภายใน ได้แก่ ทางเดินหายใจตั้งแต่เยื่อบุโพรงจมูก ลำคอ หลอดลม ถุงลมฝอย ระบบภูมิคุ้มกันและระบบอื่นๆ ในปอด ระบบเส้นเลือด โดยเฉพาะเส้นเลือดที่สำคัญอย่างหัวใจและสมอง นอกจากนั้น ยังเพิ่มความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งในภาคเหนือพบสัญญาณร้ายมากกว่าทุกภาค

ทดสอบในระบบเปิดสามารถบำบัดฝุ่นพิษได้ 95%

 

      ผู้คนส่วนหนึ่งรับมือกับปัญหา PM 2.5 โดยการใช้เครื่องกรองอากาศทั้งในที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน ทำให้เครื่องกรองอากาศมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 1,500 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 15 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาค่าเครื่องที่ค่อนข้างสูง ไม่นับค่าบำรุงรักษาระยะ 5 ปีแรกที่สูงกว่าราคาเครื่องหลายเท่าตัว ทำให้ผู้คนมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเครื่องนี้ นอกจากนี้ ในแง่ประสิทธิภาพ ซึ่งมีหลายหน่วยงานทดสอบเครื่องบำบัดอากาศพบว่ายังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะสู้ฝุ่นพิษได้

      เป็นที่มาทำให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ได้คิดค้น เครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ รุ่นที่ 2 สำหรับใช้ในพื้นที่เปิด (Outdoor Area) โดยใช้หลักการบำบัดด้วยตัวกรอง (Filter) ที่มีราคาเครื่องและค่าบำรุงรักษาย่อมเยา เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้แก่คนไทย นับเป็นผลงานต้นแบบที่น่าสนใจและน่าลงทุน ช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดย GC ส่งมอบเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษดังกล่าวให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่สำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ  พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เป็นประธาน ในพิธี พร้อมด้วย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) (GC) ร่วมงาน

พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ประธานพิธีส่งมอบเครื่องบำบัด PM 2.5 ต้นแบบ

 

      ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร GC  กล่าวว่า สองหน่วยงานได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ร่วมกัน เมื่อเดือน ก.พ.2563 มูลนิธิออกแบบและจัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศฯ รุ่นที่ 1 จำนวน 13 เครื่อง โดย GC สนับสนุนงบจัดสร้าง 8 เครื่อง และทดสอบนำร่องใช้งานใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณโดยรอบวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และบริเวณโดยรอบวังสระปทุม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยใช้หลักการระบบบำบัดแบบเวนทูรี สครับเบอร์ (Venturi Scrubber) ซึ่งเป็นระบบบำบัดอากาศแบบเปียกใช้น้ำเป็นตัวกลางดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ติดมากับมวลอากาศ

      ทั้งนี้ ดร.ชญาน์กล่าวต่อว่า มูลนิธิต้องการให้ GC พัฒนาเครื่องบำบัดอากาศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและประหยัดต้นทุน เนื่องจากเครื่องรุ่นแรกมีขนาดใหญ่ เคลื่อนย้ายติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ ลำบาก รวมถึงประสิทธิภาพน้อยในการบำบัดเมื่อทดสอบในระบบปิดและระบบเปิด นำมาสู่การพัฒนาในระยะที่ 2 GC ใช้บุคลากรนักวิจัย ทีมวิศวกรรม องค์ความรู้ และนวัตกรรมการออกแบบเพื่อพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่น PM 2.5 รุ่นที่ 2 ใช้หลักการบำบัดด้วยตัวกรอง

 

ดร.ชญาน์ จันทวสุ

 

      เครื่องบำบัดรุ่น 2 ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ สามารถตอบโจทย์ปัญหาฝุ่นพิษได้ดีกว่ารุ่นแรก ดร.ชญาน์บอกว่าเครื่องต้นแบบรุ่น 2 ออกแบบมาเพื่อบำบัดอากาศในพื้นที่ย่านชุมชนและย่านพาณิชย์ที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 หนาแน่น เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สยามสแควร์ ซึ่งมีพื้นขนาดใหญ่   และยังไม่มีการติดตั้งเครื่องบำบัดมลพิษทางอากาศ สำหรับเทคโนโลยีเครื่องรุ่นใหม่ ออกแบบให้เพิ่มศักยภาพอัตราการบำบัดฝุ่นให้สูงขึ้น ซึ่งสามารถลดต้นทุนเครื่องลงมาได้ จากเครื่องรุ่นแรกราคา 300,000 บาท/เครื่อง ลงมาเหลือ 150,000 บาท/เครื่อง และยังเป็นการผลิตในประเทศไทย ซึ่งถ้ามีการผลิตในจำนวนมากๆ ราคาต่อเครื่องจะลดลงอีกอยู่ที่ 120,000-130,000 บาทเท่านั้น   

      “เครื่องรุ่น 1 มูลนิธิออกแบบบำบัดโดยใช้น้ำเป็นละอองฝอยจับฝุ่น รุ่น 2 เราเปลี่ยนมาเป็นระบบบำบัดแบบแห้ง โดยใช้ตัวกรอง วัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดหาได้ภายในประเทศ ประสิทธิภาพสูงกว่า และที่สำคัญออกแบบจัดสร้างได้ง่าย เพื่อให้เครื่องทำงานได้ง่าย บำรุงรักษาเครื่องไม่ยาก เพราะรูปแบบไม่ซับซ้อน เพียงแค่เสียบปลั๊กก็สามารถใช้งานเครื่องได้เลย ปัจจุบันเครื่องต้นแบบติดตั้งในพื้นที่จริงบริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และจะติดตามตรวจสอบอัตราการบำบัดค่าฝุ่นพิษอย่างต่อเนื่อง" ดร.ชญาน์เผย

GC พัฒนาเครื่องบำบัดฝุ่นพิษ รุ่นที่ 2 ใช้หลักการบำบัดด้วยตัวกรอง 3 ชั้น 

 

      ในแง่ประสิทธิภาพลดฝุ่นพิษ ทำได้แค่ไหน ดร.ชญาน์กล่าวว่า ผลจากการทดสอบ พบมีประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 95.7% และเมื่อทดสอบบำบัดฝุ่นในห้องระบบปิด สามารถบำบัดฝุ่น PM 2.5 ปริมาณ 500-700 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ให้เหลือเพียง 20-30 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนการทดสอบในระบบเปิดสามารถบำบัดฝุ่น PM 2.5 ปริมาณ 700-2,000 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ให้เหลือเพียง 50-60 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเครื่องบำบัดอากาศฯ รุ่นที่ 2 นี้ มีอัตราการดูดอากาศมากกว่า 10,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง

   

   ในส่วนของการบําบัดอากาศ มีการติดตั้งตัวกรองที่มีประสิทธิภาพการ  กรองฝุ่นแตกต่างกันในแต่ละชั้น จํานวน 3 ชั้น ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย Pre-Filter การกรองหยาบ ชั้นที่ 2 เป็น Medium Filter ไส้กรองชนิดถุง และชั้นที่ 3 Fine Filter สําหรับกรองละเอียด สามารถกรองฝุ่น ePM1 (ขนาด 0.3-1ไมครอน) ได้เฉลี่ย 95% ตามมาตรฐานแผ่นกรองอากาศ EN 779 : 2012 หรือเทียบเท่า มาตรฐาน ISO 16890 : 2016 การออกแบบโดยใช้ตัวกรองทั้ง 3 ชั้นนี้ ช่วยยืดอายุการใช้งานของตัวกรองอีกด้วย

      “ ตัวกรอง 3 ชั้น ตั้งแต่กรองหยาบ ไส้กรองชนิดถุง และกรองละเอียด สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ต่ำกว่า 2.5 ไมครอน ทดสอบประสิทธิภาพแล้วค่าฝุ่นลดลงอย่างชัดเจน เราออกแบบให้ใช้งานยาวนาน 1 ปี ผู้ที่นำเครื่องบำบัดไปใช้ ไม่ต้องเปลี่ยนตัวกรองบ่อยๆ บำรุงรักษาง่ายมาก "

      สำหรับหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือคนในสังคมไทยที่ใช้ชีวิตคลุกฝุ่น ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่เสี่ยง ถ้าสนใจนวัตกรรมและองค์ความรู้เครื่องบำบัดอากาศกำจัดฝุ่นพิษของ GC สามารถติดต่อมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ซึ่งปัจจุบัน GC ได้จัดทำพิมพ์เขียวของเครื่องบำบัดอากาศฯ รุ่นที่ 2 นี้ พร้อมคู่มือการใช้งานไว้แล้ว

      ส่วนขนาดของเครื่องปัจจุบันที่อาจจะดูใหญ่โตเทอะทะ แต่ ดร.ชญาน์ยืนยันว่า สามารถปรับการออกแบบวิศวกรรมให้มีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นกับสภาพพื้นที่ ได้ไม่ยาก แต่ทาง GC มีแนวคิดพัฒนาต่อยอดอยากเปลี่ยนจากโลหะเป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา เป็นวัสดุรีไซเคิล เพื่อลดต้นทุน ใช้งานและเครื่องย้ายได้สะดวก เป็นการต่อยอดเพื่อช่วยเหลือสังคมไทยในการจัดการกับภาวะวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

      “ปัญหามลภาวะจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควรได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่การแก้ปัญหาปลายทางโดยใช้เครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษจะบรรเทาปัญหาในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 สะอาดมากขึ้น ลดผลกระทบด้านสุขภาพ อยากเห็นการขยายผลเครื่องต้นแบบรุ่นที่ 2 ใช้งานในพื้นที่โรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงชุมชนที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ในประเทศไทย" ดร.ชญาน์กล่าวทิ้งท้าย

      ปัญหาฝุ่นพิษ ถ้าจะอาศัยแต่นวัตกรรมใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาแก้ปัญหาอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องอาศัยทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้ละมือลดปริมาณฝุ่น โดยเฉพาะการปรับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เช่น หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รถยนต์ไฟฟ้า หรือทางเลือกอื่นที่ไม่ก่อมลพิษ ก็จะมีส่วนช่วยได้มาก ส่วนทางด้านภาครัฐเอง ก็ต้องสร้างแรงจูงใจด้านต่างๆ ให้คนสมัครใจ หันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น ภาคเอกชนที่เป็นส่วนภาคการผลิต ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน และสิ่งที่ทำได้คือการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"