ลุ้นเสี่ยงล้มกระดาน แก้รัฐธรรมนูญ! เปิดเอกสารลับ หนังสือศาลรัฐธรรมนูญถาม 4 พยานปากเอก 9 ตุลาการ อยากรู้ แก้ 256 ตั้ง ส.ส.ร.ได้หรือไม่ "อุดม" อดีต กรธ.ตอบชัดทำไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน ฝ่ายค้านปูด ศาลนัดลงมติ 10 มี.ค.
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาว่า หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เสร็จสิ้นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อกลางดึกคืนวันพฤหัสบดีที่ 25 ก.พ. และต้องพักไว้ 15 วัน เพื่อรอประชุมร่วมรัฐสภาลงมติเห็นชอบในวาระสาม ที่จะเกิดขึ้นช่วงวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ ที่จะประชุมสมัยวิสามัญฯ หลังปิดสภา 1 มี.ค. ท่ามกลางการถูกจับตามองว่าการแก้ไข รธน.ดังกล่าวสุดท้ายอาจเสี่ยงล้มกระดาน โดนเซตซีโรหมด หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องการแก้มาตรา 256 ดังกล่าวที่สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ส.พลังประชารัฐและ ส.ว.เข้าชื่อกันเสนอญัตติเป็นคำร้องให้ศาลวินิจฉัย
โดยเรื่องดังกล่าว นายอุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับปี 2560 ที่เป็น 1 ใน 4 บุคคลตามรายชื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ทำหนังสือความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ศาลส่งไปสอบถามโดยให้ส่งกลับมาภายในไม่เกิน 3 มี.ค.นี้ ได้เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ยังไม่ได้ตอบกลับไป แต่คงส่งกลับทันก่อน 3 มี.ค.นี้แน่นอน โดยความเห็นเรื่องมาตรา 256 ก่อนหน้านี้ได้เคยไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ. ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อมาแทนรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำไม่ได้ เพราะหากใช้วิธีการดังกล่าว ก็เท่ากับฉีกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทิ้งไป
"เจตนาของการเขียนมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือเป็นเรื่องของการเขียนออกมาเพื่อให้เป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา กับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นคนละส่วนกัน เพราะสมาชิกรัฐสภาตอนนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วเขามาคว่ำรัฐธรรมนูญเสียเอง เขาทำมันได้ยังไง มันไม่มีประเทศไหนทำ นอกจากฉีกรัฐธรรมนูญ" อดีตกรรมการร่าง รธน.ระบุ
นายอุดมกล่าวต่อไปว่า หากจะทำแบบนั้นคือต้องการฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเอารัฐธรรมนูญส่งกลับคืนไปให้ประชาชนได้ไปพิจารณากันใหม่ เพราะประชาชนคือผู้ลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผ่านการทำประชามติมา ถือเป็นตรรกะธรรมดา เพราะไม่มีใครเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อบอกว่าคุณมายกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนี้ได้ ไม่มีประเทศไหนทำกัน ยกเว้นแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ไม่มีที่ไหนในโลกเขาเขียนกันหรอกว่า เมื่อใดไม่ต้องการ ก็ให้ไปทำใหม่ ซึ่งทางที่เห็นว่าเป็นไปได้มากสุดหากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ส่งไปให้ประชาชนเขาลงความเห็นกันก่อนจะแก้ไข อันเป็นหลักการที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้วตอนปี 2555 ที่ตอนนั้นก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อจะตั้ง ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ศาลก็บอกว่าหากจะทำต้องไปทำประชามติก่อน เพราะทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 กับฉบับปัจจุบันมาจากหลักการเดียวกัน คือผ่านการทำประชามติ เพราะการแก้ไขรายมาตรา เพื่อจะให้ไปทำรัฐธรรมนูญใหม่ มันก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ
นายอุดมกล่าวอีกว่า ที่บางฝ่ายแย้งว่ากระบวนการเวลานี้ที่แก้รายมาตราเพื่อไปตั้ง ส.ส.ร. เคยมีการทำมาแล้วตอนมีการแก้ไข รธน.ปี 2534 ที่มีการแก้ไขตอนปี 2539 ที่มีการตั้ง ส.ส.ร. โดยฝ่ายสนับสนุนการแก้ไข รธน.บอกว่าทำไมตอนปี 2539 ทำได้ แต่อย่างที่เห็นกันคือเวลานั้นปี 2539 ไม่มีคนค้าน แต่ตอนนี้มีทั้งคนค้าน และคนเห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. จนเป็นกรณีมีความเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการที่ออกมาแสดงความเห็นแบบนี้ไม่ได้ค้านเพื่อจะให้ยืนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อย่างเดียว แต่ค้านเพื่อบอกว่าหากจะแก้เพื่อร่างฉบับใหม่ ถ้าจะทำต้องไปถามประชาชน บางฝ่ายก็พยายามตะแบงว่า ที่กำลังทำอยู่ไม่ได้เป็นร่างทั้งฉบับ เพราะมีการบอกว่าจะไม่แตะหมวดหนึ่งและหมวดสองในรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ต่างกัน เพราะการให้ ส.ส.ร.ไปร่าง รธน.ใหม่ มันก็คือการปรับใหม่หมด เพราะมันเชื่อมโยงกันไปหมด คนที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาพยายามจะไม่พูดถึงความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยอ้างว่าคนร่างไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งก็พูดกันไปเรื่อย
แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งเอกสารหนังสือสอบถามประเด็นข้อกฎหมายไปยังบุคคล 4 ชื่อ เพื่อให้ส่งหนังสือส่งกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 มี.ค.แล้ว เพื่อนำความเห็นมาประกอบการวินิจฉัยลงมติตัดสินคดีแก้ มาตรา 256 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนแล้ว โดยทั้ง 4 คนที่ศาลขอความเห็นไป นอกจากนายอุดมแล้ว ก็มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ., นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550
มีรายงานข่าวแจ้งว่า หนังสือที่ศาลสอบถามไปดังกล่าวมีเพียงไม่กี่คำถามเท่านั้น โดยประเด็นหลักก็คือสอบถามความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันสามารถแก้ไขเพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐสภามีอำนาจทำได้หรือไม่
"คาดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนคงมีความเห็นในข้อกฎหมายตามมาตรา 256 ไว้แล้วว่ารัฐสภามีอำนาจดังกล่าวหรือไม่ ที่เป็นประเด็นตามญัตติที่สมาชิกรัฐสภามีมติส่งคำร้องมาให้ศาลวินิจฉัย เพียงแต่ตุลาการคงต้องการนำความเห็นของทั้ง 4 คนที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและในอดีตมาพิจารณาประกอบการตัดสินคดี และการลงมติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ส่วนที่ฝ่ายค้านบอกว่าศาลจะมีการลงมติตัดสินคดีแก้ 256 ในสัปดาห์หน้าคือวันที่ 4 มี.ค. หลังได้รับหนังสือจากทั้ง 4 คนวันที่ 3 มี.ค.นั้น ในความเป็นจริงดูแล้วคงไม่น่าใช่ เพราะหากจะรับหนังสือจากทั้ง 4 คน วันที่ 3 มี.ค.แล้วตัดสินในวันรุ่งขึ้น จะทำคำวินิจฉัยคงไม่ทัน แต่น่าจะประชุมวันที่ 4 มี.ค. เพื่อดูเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วคุยกันว่าจะนัดลงมติตัดสินคดีนี้ในวันไหนมากกว่า แต่คาดว่าคงตัดสินคดีได้ก่อนการลงมติของรัฐสภาในวาระสามกลางเดือน มี.ค." แหล่งข่าวระบุ
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า สิ่งที่ต้องจับตาคือกรณีศาลพิจารณาคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่าที่ทราบกรณีดังกล่าวศาลจะพิจารณาในวันที่ 10 มี.ค. โดยฝ่ายค้านได้มีความเห็นโต้แย้งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยื่นผ่านประธานสภาฯ ในฐานะเป็นผู้ร้องให้ยื่นส่งต่อไปที่ศาลเพื่อประกอบการพิจารณา
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องรอฟังคำวินิจฉัย ถ้าศาลพิจารณาไม่รับคำร้องการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเดินหน้าต่อ แต่ถ้าศาลระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ เข้าใจว่านายไพบูลย์อยากให้ทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจริง การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง จึงขอให้ติดตามการพิจารณา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรากังวลคือหากศาลระบุว่าแก้ไม่ได้ ก็จะทำให้กระบวนการที่ประชาชนต้องการล่าช้าออกไป” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวรัฐบาลจะชิงยุบสภาก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยใช้กติกาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม นายประเสริฐกล่าวว่า การยุบสภาต้องมีเหตุ แต่ตอนนี้กำลังมีการปรับคณะรัฐมนตรี แต่การปรับ ครม.จะพัฒนาไปสู่การยุบสภาได้หรือไม่ ต้องติดตามดูว่าจะไปได้ขนาดไหน แต่ถ้าจะมีการยุบสภาจริง จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปต่อไม่ได้ เพราะขาดองค์ประกอบ ส.ส. ซึ่งจะทำให้ต้องรอการเลือกตั้งใหม่ก่อน ที่ไม่เป็นผลดีกับประชาชน ยากที่ประชาชนจะรับได้ ถ้ายังไม่แก้ คนคงสับสน และมีปฏิกิริยาทางใดทางหนึ่ง
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขที่ผ่านวาระ 2 คำสงวนคำแปรญัตติของตนและเพื่อน ส.ว.-ส.ส.พยายามต่อสู้แพ้ราบคาบในหลายประเด็น ซึ่งหมดหวังกับร่างแก้ไขนี้ แต่จะขอรอน้อมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ยื่นส่งไปและศาลท่านเมตตารับไว้วินิจฉัยแล้วดีกว่า ซึ่งเชื่อมั่นเองว่าน่าจะมีหวังมากกว่า
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวเช่นกันว่า ใครก็ตามที่ฉวยโอกาสยืมมือศาลรัฐธรรมนูญมาตีความเพื่อตัดอำนาจในมือของตนเอง สมควรลาออกจากสมาชิกรัฐสภา เพราะไม่ต้องการมีอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อสังคม เพียงเพราะต้องการสืบทอดอำนาจต่อไป เนื่องจากหากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจนำไปสู่การยกเลิกบทเฉพาะกาลที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารทั้งหมด
“มีข่าวว่ารัฐบาลอาจเล่นละครหลอกลวงประชาชนโดยการขอแก้ไขเฉพาะรายมาตราที่ตนเองจะได้ประโยชน์โดยไม่ต้องมีการประชามติ แล้วจึงยุบสภาเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้ประโยชน์ ซึ่งคงเป็นเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจใหม่ ไม่ต่างจากกติกาเดิมที่มี และจะนำไปสู่วิกฤติความขัดแย้งไม่สิ้นสุด” เลขาธิการ ครป.แสดงความเห็น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |