อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและปากท้องของพวกเขา โดยการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว และส่งเสริมการปลูกไผ่ กาแฟ ผลไม้ ผักอินทรีย์ ส่งเสริมการแปรรูป จัดหาตลาดรองรับ เป็นการบริหารจัดการตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ-ปลายน้ำ’ เช่น จัดตั้งโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ เปิดร้าน ‘แจ่มจริง’ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ สินค้าชุมชน และกาแฟคั่วแบรนด์ ‘แม่แจ่ม(Maechaem Arabica Coffee) แม้จะเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่ก็เป็นย่างก้าวที่น่าจับตา เป็นต้นแบบที่น่าศึกษายิ่งนัก !!
อำเภอแม่แจ่ม ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย (ด้านหลังดอยอินทนนท์) อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 123 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,700,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม มีลำน้ำแม่แจ่มที่ไหลมาจากดอยอินทนนท์เป็นแม่น้ำสายหลัก สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดอยสูง ประชากรมีทั้งคนเมือง ปกาเกอะยอ ม้ง ลัวะ ฯลฯ ประมาณ 59,000 คน ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเป็นพืชหลัก เพราะเป็นพืชทนแล้ง เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ปลูกตามไหล่เขาและบนดอยได้ดี
แต่การปลูกข้าวโพดทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ การใช้สารเคมี และการพังทลายของหน้าดิน ทำให้สารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำ แหล่งน้ำตื้นเขิน การเผาเศษซากข้าวโพด ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันติดตามมา นอกจาก นี้ยังทำให้เกษตรกรมีหนี้สิน เพราะต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อปุ๋ย สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชสูงขึ้น แต่ราคารับซื้อข้าวโพดตกต่ำ เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง ฯลฯ
ใช้ ‘แม่แจ่มโมเดล’ สร้างเมืองป่าไม้
จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ชาวแม่แจ่ม ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์กรปกครองท้องถิ่น อำเภอแม่แจ่ม องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยราชการ สถาบันการศึกษา ฯลฯ จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2552 โดยในช่วงแรกเน้นไปที่การจัดระเบียบควบคุมที่ดินทำกิน เช่น การจัดทำข้อมูลการครอบครองที่ดินรายแปลงของเกษตรกร สร้างกฎระเบียบในการดูแลรักษาป่าของแต่ละหมู่บ้าน เช่น ห้ามตัดไม้ ห้ามบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ ห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินให้นายทุน เพื่อยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า รวมทั้งลดปัญหาฝุ่นควันจากการเผาเศษซากพืชไร่ ฯลฯ เรียกโครงการนี้ว่า ‘แม่แจ่มโมเดล’
ต่อมาในปี 2559 จึงได้ยกระดับจากการจัดการปัญหาการบุกรุกป่าและฝุ่นควันไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบ รวมทั้งการผลักดันการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เรียกโครงการนี้ว่า ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ ’ (Maechaem Model Plus) โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น อำเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐในระดับนโยบาย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยการยับยั้งการบุกรุกป่า หยุดปัญหาไฟป่า ฝุ่นควัน การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดการใช้สารเคมี ฯลฯ ส่งเสริมการปลูกไผ่ กาแฟ ฯลฯ เป็นพืชเศรษฐกิจ พลิกฟื้นดอยหัวโล้นให้เป็นสีเขียว สร้างเมืองแม่แจ่มให้เป็น ‘เมืองป่าไม้’
และในโอกาสที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาติดตามผลการดำเนินโครงการของรัฐบาลที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 27 เมษายน 2559 พลเอกประยุทธ์ได้มอบโล่รางวัลการแก้ไขปัญหาหมอกควันให้แก่อำเภอแม่แจ่ม เพราะเป็นอำเภอที่ลดจำนวนการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ได้มากที่สุดในช่วง 60 วันห้ามเผา (กุมภาพันธ์-เมษายน 2559)
หนทางก้าวออกจากเขาวงกต
สมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส อธิบายเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา อัตรา ขยายตัว ของพื้นที่ทำกินในป่าต้นน้ำแม่แจ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2552-2559 พื้นที่ในเขตป่าสงวนฯ แม่แจ่มกลายเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อส่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างรวดเร็ว จาก 86,104 ไร่ในปี 2552 ในปี 2554 เพิ่มเป็น 105,465 ไร่ และปี 2559 เพิ่มเป็น 123,229 ไร่
ผลกระทบจากการขยายตัวของไร่ข้าวโพดบนพื้นที่สูง คือ เกิดปัญหาภัยแล้งจากการบุกรุกพื้นที่ป่า พอถึงช่วงฤดูฝนเกิดปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง ดินทรายไหลลงไปในแหล่งน้ำ ทำให้แม่น้ำลำห้วยตื้นเขิน เกิดปัญหาน้ำแล้งตามมาตามผลกระทบจากการใช้สารเคมี การเผาซากข้าวโพดที่มีปริมาณประมาณปีละ 95,000 ตัน ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาระบบทางเดินหายใจ เฉพาะในอำเภอแม่แจ่มมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมฝุ่นควันประมาณปีละ 5,000 ราย
แต่ที่สำคัญคือปัญหาหนี้สินจากการทำไร่ข้าวโพด เนื่องจากในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้บริษัทเอกชนรับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ชาวแม่แจ่มส่วนใหญ่ที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ดังกล่าว ประมาณ 115,000 ไร่ ไม่มีตลาดรองรับ หรือต้องขายในราคาต่ำกว่าทุน ทำให้มีหนี้สินสะสม โดยในปี 2560 เกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมกันประมาณ 1,400 ล้านบาท และหนี้กองทุนหมู่บ้านอีกประมาณ 300 ล้านบาท (ไม่รวมหนี้อื่นๆ และหนี้นอกระบบ)
“ดังนั้นการก้าวให้พ้นจากวงจรปัญหาหนี้สิน จะต้องสร้างระบบการเกษตรที่จะมาทดแทนการปลูกข้าวโพด เช่น ไม้ไผ่ กาแฟ ผัก ไม้ผล เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ การแก้ปัญหาระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร การเชื่อมโยงระบบการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการผลิต กลางน้ำ คือการแปรรูป และปลายน้ำ คือการตลาด เพื่อให้เกษตรกรอำเภอแม่แจ่มหลุดพ้นออกจากเขาวงกตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ตลอดไป” สมเกียรติกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหา
ต้นน้ำ : ส่งเสริมปลูกไผ่เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นพื้นที่สีเขียว
สมเกียรติ บอกถึงรูปธรรมในการขับเคลื่อนงานตามโครงการแม่แจ่มฯ ต่อไปว่า ในเดือนพฤษภาคม 2561 ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ชาวบ้าน ชุมชน อำเภอ มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคเอกชน เช่น บริษัทซีพี บริษัทไทยเบฟจำกัด ฯลฯ
เพื่อ ‘พลิกฟื้นผืนป่า สร้างเศรษฐกิจชุมชน’ โดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างตัวแทนชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการปลูกไผ่เพื่อเป็นการนำร่องร่วมกันที่บริเวณบ้านห้วยยางส้าน ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม และพัฒนาเป็นโครงการ ‘แสนกล้าดี’ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไผ่เพิ่มขึ้นทุกปี
“ตอนนี้เรามีเกษตรกรทั้ง 7 ตำบลในอำเภอแม่แจ่มเข้าร่วมปลูกไผ่ประมาณ 1,100 ราย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 2,000 ไร่ จากเป้าหมายทั้งหมด 20,000 ไร่ ส่วนไผ่ที่ส่งเสริมให้ปลูกเป็นไผ่พันธุ์ ‘ซางหม่น’ และ ‘ฟ้าหม่น’ ซึ่งเป็นไผ่ตระกูลเดียวกัน มีลักษณะเด่น คือ โตเร็ว ลำตรง เนื้อไม้หนา เหมาะนำไปแปรรูปเป็นตะเกียบ เฟอร์นิเจอร์ภายในและภายนอก หน่อกินได้ ฯลฯ ใช้เวลาปลูก 3 ปีก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ประมาณไร่ละ 10,000 บาทต่อปี ดีกว่าปลูกข้าวโพด” สมเกียรติพูดถึงการส่งเสริมชาวบ้านตั้งแต่ต้นน้ำ
นอกจากนี้การปลูกไผ่บนพื้นที่สูงหรือบนดอยจะช่วยป้องกันดินถล่มและช่วยอุ้มน้ำ เพราะไผ่มีรากฝอยแผ่กว้างและหนาแน่น ช่วยยึดหน้าดิน สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า ใบไผ่ที่ร่วงจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน ช่วยสร้างจุลินทรีย์ในดิน ไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องเผาไร่เหมือนปลูกข้าวโพด เมื่อไผ่ที่ปลูกไปแล้วเริ่มโต ต้นไผ่ก็จะแตกหน่อแทงยอดขึ้นมาอีก หน่อไผ่นำมากินหรือขายได้ เมื่อตัดไผ่รุ่นแรกไปแล้วก็จะมีไผ่ที่เติบโตตามมาหมุนเวียนให้ตัดได้ตลอดทั้งปี โดยจะปลูกไผ่ 70 ต้น / 1 ไร่ และปลูกในลักษณะผสมผสานหรือแทรกไปในแปลงข้าวโพด เมื่อได้ผลตอบแทนดี เกษตรกรจะลดหรือเลิกปลูกข้าวโพดเพื่อปลูกไผ่หรือพืชอื่นๆ แทน
กลางน้ำ : สร้างโรงงานแปรรูปไม้ไผ่
แม้ว่าขณะนี้ (ต้นปี 2564) ต้นไผ่ที่โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 ยังโตไม่เต็มที่ เพราะไผ่ที่จะนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือแปรรูปเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ จะต้องมีอายุอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป แต่ขณะเดียวกันโครงการแม่แจ่มฯ ได้จัดสร้างโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1 ไร่ ดำเนินการในลักษณะวิสาหกิจชุมชนโดยใช้ไม้ไผ่จากหัวไร่ปลายนาที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้ก่อนหน้านั้นนำมาป้อนเข้าโรงงาน
ส่วนงบประมาณมาจากการระดมทุนของชาวบ้านและองค์กรต่างๆ รวมทั้งการสมทบเงินจากบริษัทเอกชน รวมทั้งหมดประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักรแปรรูปไม้ ตัดไม้ ฉลุลายไม้ ฯลฯ และสร้างบ่อแช่ไม้ไผ่ด้วยน้ำยากันมอดแมลงกินเนื้อไม้
โรงงานแปรรูปไม้ไผ่แห่งนี้มีชาวบ้านมาทำงานประจำ 5 คน ช่วยกันแปรรูปไม้ไผ่เพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ซุ้มนั่งพักผ่อนกลางแจ้ง เก้าอี้ชิงช้า ฉากกั้นห้อง แผ่นบังแดด (facade) แผ่นไม้ไผ่อัด หลังคา นาฬิกา จาน ฯลฯ หรือผลิตตามคำสั่งซื้อ (หากมีคำสั่งซื้อมากโรงงานจะกระจายงานไปให้ชาวบ้านทำ) โดยโรงงานจะรับซื้อไม้ไผ่จากชาวบ้าน ราคาตามขนาด มีตั้งแต่ลำละ 60-70 บาท จนถึงไผ่ยักษ์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-10 นิ้ว ราคารับซื้อลำละ 200 บาทขึ้นไป
ส่วนด้านการตลาดหรือห่วงโซ่ ‘ปลายน้ำ’ นั้น ก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสได้จัดหาตลาดรองรับการแปรรูปไม้ไผ่ โดยมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งว่าจ้างให้โรงงานผลิตหลังคาไม้ไผ่ ราคาไพ (แผ่น) ละ 45/60บาท (ไม่แช่น้ำยา/แช่น้ำยากันมอด)
หลังจากนั้นทางบริษัทจะนำหลังคาไม้ไผ่ไปอบน้ำยากันปลวกและผสมผงโลหะบางชนิดเพื่อให้หลังคาไม้ไผ่มีความทนทาน ทนแดด ทนฝน ทนปลวก มีอายุใช้งานประมาณ 15 ปี ที่สำคัญคือมีความสวยงาม แปลกตา เป็นที่ต้องการของธุรกิจท่องเที่ยว เช่น รีสอร์ท โรงแรม ฯลฯ โดยมีคำสั่งซื้อจากทางบริษัทครั้งละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้มีการชะลอคำสั่งซื้อ
อย่างไรก็ตาม โรงงานยังมีแผนงานที่จะผลิต ‘ถ่านกัมมัมต์’ (activated charcoal หรือ activated carbon) โดยนำเศษไม้ไผ่มาผสมกับสารเคมีบางชนิด แล้วเผาด้วยความร้อนสูงจนได้เป็นถ่านกัมมันต์ออกมา มีความแข็งแกร่ง คงตัว ไม่เป็นสนิม ใช้สร้างแผ่นเซลล์เชื้อเพลิง เม็ดเชื้อเพลิง ถ่านไฟฉาย ใช้ผสมเพิ่มความแข็งแกร่งในปูนซีเมนต์ พลาสติก ยางรถยนต์ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา และอาหาร ตลาดโลกมีความต้องการปีละ 10 ล้านตัน ราคาตันละ 30,000-40,000 บาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายถึงปีละ 400,000 ล้านบาท
ปลายน้ำ : ‘แจ่มจริง’ ตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่-กาแฟและสินค้าชุมชน
‘แจ่มจริง’ มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ตั้งอยู่กลางอำเภอแม่แจ่ม เปิดดำเนินการในเดือนเมษายน 2562 เป็นเสมือนหน้าร้านของแม่แจ่มโมเดลพลัส เพราะที่นี่จะเป็นศูนย์จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากไม้ไผ่ สินค้าจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมกับโครงการแม่แจ่มฯ ที่เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดมาปลูกไผ่ กาแฟ และพืชผลอื่นๆ และเปิดเป็นร้านกาแฟที่สร้างด้วยไม้ไผ่ สไตล์โล่งโปร่ง น่านั่ง
ที่สำคัญคือ ร้านกาแฟ ‘แจ่มจริง’ ใช้เมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่ชาวแม่แจ่มปลูก ผ่านการคัดคุณภาพ ก่อนเข้าสู่โรงคั่วกาแฟที่ได้มาตรฐาน แล้วนำมาบรรจุถุงจำหน่ายในแบรนด์ ‘Maechaem Arabica Coffee’ และจำหน่ายในรูปแบบของกาแฟสดทั้งร้อน-เย็น เช่น คาปูชิโน่ อเมริกาโน่ ลาเต้ มอคค่า ฯลฯ
สมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส บอกว่า อำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดประมาณ 3,200 ไร่ จะได้ผลกาแฟสุกหรือกาแฟเชอร์รี่ประมาณปีละ 200 ตัน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะขายในลักษณะกาแฟเชอร์รี่หรือตากแห้งเป็นกาแฟกะลา แต่ได้ราคาไม่ดีนัก โครงการแม่แจ่มฯ จึงมาสนับสนุนให้ความรู้กระบวนการผลิตกาแฟกะลาแบบ Dry Process (ล้าง หมัก ตากแห้ง) ราคารับซื้อขั้นต่ำกิโลกรัมละ 110 บาท ก่อนนำไปสี คัดเกรด และส่งโรงงานคั่วกาแฟ
ขณะเดียวกันโครงการแม่แจ่มฯ ตั้งเป้าจะสนับสนุนให้ชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดเปลี่ยนมาปลูกกาแฟอย่างน้อย 300 ไร่ ขณะนี้มีสมาชิกเริ่มต้นจำนวน 30 ราย ปลูกกาแฟแล้วประมาณ 56 ไร่ เป็นกาแฟออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์ มีจุดเด่นที่กาแฟเหล่านี้เป็นสายพันธุ์ย่อยของอาราบิก้า ประกอบกับกระบวนการผลิตแบบ Dry Process และนำมาคั่วกลาง จะได้เมล็ดกาแฟที่มีรสชาติกลมกล่อม มีความหอม แล้วนำมาจำหน่ายที่ร้านกาแฟแจ่มจริง รวมทั้งขายทางออนไลน์ด้วย
“โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส เราเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการผลิตที่ต้นน้ำ แล้วนำผลผลิตที่ได้ คือไม้ไผ่และกาแฟมาแปรรูป เป็นการจัดการกลางน้ำ นอกจากนี้เรายังมีร้านแจ่มจริงเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกำลังขยายตลาดไปยังช่องทางต่างๆ เป็นการจัดการที่ปลายน้ำ แต่โชคไม่ดีที่เรามาเจอโควิดเสียก่อน โดยเฉพาะโรงงานไม้ไผ่ที่มีบริษัทมาสั่งจ้างให้ผลิตหลังคาไม้ไผ่เพื่อนำไปมุงรีสอร์ทมูลค่าเดือนละหลายแสนบาท แต่เกิดผลกระทบด้านการท่องเที่ยว โรงงานของเราจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย” สมเกียรติกล่าวถึงอุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาก่อน
หนุนท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจชุมชน
ขณะที่ ณัฐจรัส ปัณฑวงศ์ ประธานชมรมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอำเภอแม่แจ่ม ในฐานะที่เป็นภาคีเครือข่ายแม่แจ่มโมเดลพลัส และช่วยขยายตลาดการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชน กล่าวว่า ชมรมมีบทบาทในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งช่วยแนะนำสินค้าต่างๆ ของชุมชนด้วย โดยมี facebook : maechaemtravel เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ก่อนช่วงโควิดจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและนักท่องเที่ยวไทยที่นิยมการท่องเที่ยวแบบ Slow Life มาท่องเที่ยวที่แม่แจ่มปีละหลายหมื่นคน
“แม่แจ่มเป็นเมืองที่สวยงาม เงียบสงบ สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี หน้าฝนต้องมาดูนาขั้นบรรทัดที่บ้านป่าบงเปียง เนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ มาล่องแพที่แม่น้ำแจ่ม หน้าหนาวมากางเต๊นท์ ดูทะเลหมอก จิบกาแฟแม่แจ่ม กินอาหารพื้นเมือง ผักอินทรีย์ ฯลฯ ถ้าหมดช่วงโควิด ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาที่แม่แจ่มอีก ชาวบ้านก็จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ต้องช่วยกันทำให้เขาหัวโล้นกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวก่อน ตอนนี้เริ่มต้นไปแล้ว ต่อไปผมว่าจะดีขึ้นแน่ๆ” ประธานชมรมกล่าวทิ้งท้าย
‘แม่วากโมเดล’ “ถ้ามีน้ำ เราจะปลูกอะไรก็ได้”
บ้านแม่วาก ต.แม่นาจร อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่มไปทางทิศเหนือประมาณ 35 กิโลเมตร มีชาวบ้าน 68 ครอบครัว ก่อนหน้านี้ชาวบ้านแม่วากต่างก็ปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพหลัก เพราะสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่สูง ขาดแหล่งน้ำ จึงต้องปลูกข้าวโพด เพราะเป็นพืชทนแล้ง อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ไม่ต้องดูแลมาก แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ติดตาม เช่น ฝุ่นควันจากเผาเศษซากข้าวโพด หน้าดินถูกชะล้างพังทลาย สารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำด้านล่าง ฯลฯ
จากปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ อบต.แม่นาจร มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม ภาคเอกชน เช่น ซีพี เอสซีจี ฯลฯ จัดทำโครงการการบูรณาการจัดการดิน น้ำ ป่า หรือ ‘แม่วากโมเดล’ โดยมีพื้นที่นำร่องที่บ้านแม่วาก หมู่ที่ 6 ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม เริ่มสำรวจข้อมูลตั้งแต่ปี 2557 จากการศึกษาวิเคราะห์ปัญหา พบว่า “หากไม่มีแหล่งน้ำก็จะเปลี่ยนอาชีพปลูกข้าวโพดไม่ได้”
ดังนั้นโครงการจึงวางแผนจัดหาแหล่งน้ำ โดยต่อท่อส่งน้ำ PVC รองรับน้ำจากห้วยแม่วากที่ไหลมาจากดอยอินทนนท์ระยะทางประมาณ 8.5 กิโลเมตร แล้วขุดบ่อน้ำบนพื้นที่สูง (ใช้ผ้าพลาสติกรองก้นบ่อ) คือ ‘บ่อแม่’ ขนาด 20 X 30 เมตร ลึก 3 เมตร จำนวน 1 บ่อ และ ขุด ‘บ่อลูก’ ขนาด 10 X 10 เมตร ลึก 2.5 เมตร จำนวน 6 บ่อ เพื่อรับน้ำจากห้วยแม่วาก จากนั้นเกษตรกรจะขุด ‘บ่อหลาน’ หรือก่อถังซีเมนต์เก็บน้ำเพื่อวางท่อน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรของตน เริ่มส่งน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรในปี 2562 มีเกษตรกรบ้านแม่วากได้รับประโยชน์ 68 ครอบครัว พื้นที่ทำเกษตรประมาณ 1,700 ไร่
บุญสี กาไว ผู้ใหญ่บ้านแม่วาก บอกว่า เมื่อมีน้ำเราจะปลูกอะไรก็ได้ โดยโครงการสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกพืชในลักษณะผสมผสานหรือวนเกษตร เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี คือ พืชระยะสั้น เช่น แตงกวาญี่ปุ่น มะเขือม่วง ผักต่างๆ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็เก็บขายได้ พืชระยะกลาง เช่น เสาวรส (เริ่มเก็บผลเมื่อปลูกได้ 7-9 เดือน) ไผ่ กาแฟ ใช้เวลาประมาณ 2 ปีขึ้นไป พืชระยะยาว หรือพืชยืนต้น เช่น ไม้สัก และไม้ผล ทุเรียน มะม่วง มะขามยักษ์ ฯลฯ
“เมื่อปีที่แล้วผมจึงเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดในที่ดิน 16 ไร่ มาปลูกแตงกวาญี่ปุ่น มะเขือม่วง ฟักทอง เสาวรส อะโวคาโด มะม่วง และไม้ไผ่ โดยใช้น้ำจากบ่อที่ขุดเอาไว้แล้ววางท่อส่งน้ำเข้าแปลง ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เมื่อก่อนปลูกข้าวโพดขายได้ราคากิโลฯ ละ 5-6 บาท ไร่หนึ่งได้ไม่เกิน 6,000 บาท (ยังไม่หักต้นทุน) แต่เมื่อเปลี่ยนมาปลูกพืชหลายอย่างผมเชื่อว่าจะทำให้มีรายได้มากกว่าเดิม อย่างน้อยๆ ไร่หนึ่งน่าจะได้ประมาณ 10,000 บาท ถ้ามีรายได้ดีกว่าชาวบ้านก็จะเลิกปลูกข้าวโพดแน่ๆ” ผู้ใหญ่บ้านแม่วากตั้งความหวัง
นอกจากนี้ชาวบ้านแม่วากยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์บ้านแม่วากขึ้นมาในปี 2563 โดยชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ขึ้นมา เพื่อปลูกผักอินทรีย์ในแปลงสาธิต 1.3 ไร่ เช่น ผักสลัด คะน้า ผักกาดหอม ฯลฯ ใช้ระยะเวลาปลูกและเก็บส่งตลาดรุ่นหนึ่งไม่เกิน 2 เดือน หมุนเวียนปลูกได้ตลอดทั้งปี มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร เพิ่มรายได้ ลดการปลูกพืชเคมี แล้วหันมาปลูกผักอินทรีย์ โดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน คือ ตลาดโครงการหลวงดอยอินทนนท์ และห้างสรรพสินค้าในเมืองเชียงใหม่
สมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส กล่าวว่า ตนอยากให้หน่วยงานของรัฐนำแม่วากโมเดลไปขยายผล เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาดิน น้ำ ป่า เปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายหน้าดิน ทำให้ภูเขาหัวโล้น และสร้างปัญหาหนี้สิน มาเป็นพื้นที่สีเขียว โดยสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเป็นไม้ยืนต้นและพืชเกษตรอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เดโช ไชยทัพ คณะทำงานแม่แจ่มโมเดลพลัส กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเริ่มต้นของแม่แจ่มโมเดลฯ คือการทำให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาสิ่งแวดล้อม จะต้องทำให้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีโรงงานแปรรูปและมีตลาดรองรับ ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูง จากพืชเชิงเดี่ยว ที่มีปัญหาเรื่องการชะล้างหน้าดิน มีปัญหาหมอกควันและไฟป่า มาเป็นวนเกษตรจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะสามารถตอบสนองเรื่องรายได้ให้แก่ชาวบ้าน เพราะการปลูกข้าวโพดอย่างมากก็จะมีรายได้ไร่ละ 3,000 บาท แต่ถ้าทำวนเกษตรหรือปลูกพืชหลายอย่างจะทำให้มีรายได้ตอบแทนประมาณไร่ละ 10,000 บาท”
(เรื่องและภาพโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชน สื่อสาร จัดการความรู้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน))
***************
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |