'หมอธีระ'หวั่นเข้าใจผิดวัคซีนมาแล้วทุกคนยิ้มได้ทำให้ลดการ์ดลงระบาดซ้ำรุนแรงตามมา


เพิ่มเพื่อน    


26 ก.พ.64 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์ทั่วโลก 26 กุมภาพันธ์ 2564...
อเมริกามียอดรวมเกิน 29 ล้านไปแล้ว อัตราการติดเชื้อต่อวันของทั่วโลกเริ่มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเห็นหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการ ทำให้ยืนยันได้ว่าการที่เราเห็นแนวโน้มการติดเชื้อต่อวันลดลงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเป็นผลมาจากการล็อคดาวน์ ไม่ได้มาจากเรื่องวัคซีน เพราะสัดส่วนประชากรในแต่ละประเทศที่ได้รับวัคซีนนั้นยังน้อยมาก 
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 465,004 คน รวมแล้วตอนนี้ 113,498,837 คน ตายเพิ่มอีก 12,047 คน ยอดตายรวม 2,517,458 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 87,703 คน รวม 29,039,576 คน ตายเพิ่มอีก 3,746 คน ยอดตายรวม 520,450 คน 
อินเดีย ติดเพิ่ม 16,606 คน รวม 11,063,038 คน 
บราซิล ติดเพิ่ม 65,998 คน รวม 10,390,461 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 11,198 คน รวม 4,212,100 คน 
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 9,985 คน รวม 4,154,562 คน  
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน 
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล สหรัฐอาหรับอีมิเรตส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ ไทย ฮ่องกง เมียนมาร์ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่จีน เวียดนาม นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...อัพเดตกันสักสองสามเรื่อง...
หนึ่ง "วัคซีนที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลก" 
ข้อมูลจาก Ourworldindata ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่เน้นจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่มีสรรพคุณที่สูง และปลอดภัย
เมื่อเทียบกันแบบตัวต่อตัวโดยใช้ข้อมูลวิชาการเชิงประจักษ์ ไม่ใช้อคติหรือความรู้สึกหรืออ้างประสบการณ์ส่วนตัว 
ทั้งนี้สรรพคุณที่ต้องดู มีทั้งการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ (symptomatic infection), การป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต, และการป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ (asymptomatic infection) เพื่อหวังผลในการลดโอกาสการเป็นคนแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ยังต้องดูเรื่องผลของวัคซีนต่อการป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ต่างๆ เช่น สายพันธุ์สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ด้วย
และที่สำคัญอีกเรื่องคือข้อมูลด้านความปลอดภัย เช่น โอกาสเกิดอาการแพ้วัคซีน เป็นต้น
จึงไม่แปลกใจ ที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกล้วนมุ่งไปที่วัคซีนที่มีข้อมูลเหล่านี้ชัดเจน เช่น Pfizer/Biontech, Moderna เป็นหลัก ในขณะที่ทางเลือกถัดมาก็จะเป็นตัวอื่นๆ เช่น Johnson&Johnson, Novavax, Astrazeneca/Oxxford, Sinovac ฯลฯ ตามระดับและความชัดเจนของหลักฐานวิชาการ
สอง "สัดส่วนประชากรในแต่ละประเทศที่ได้รับวัคซีนครบ"
ล่าสุด 24 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า 5 อันดับแรกที่มีสัดส่วนประชากรได้รับวัคซีนครบ ได้แก่ อิสราเอล (37.1%) เซอร์เบีย (7.2%) อเมริกา (6.2%) โรมาเนีย (3.2%) และเดนมาร์ก (3.1%) 
จะเห็นได้ว่า การฉีดวัคซีนครบนั้นยังมีน้อยมาก และน่าจะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้มีโอกาสน้อยที่จะหวังผลการควบคุมการระบาดทั่วโลกได้ คงพอจะเห็นได้เพียงผลในบางประเทศที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนครบสูง
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวว่าบางประเทศที่ฉีดวัคซีนกันไปจำนวนมากแล้วทำให้การระบาดชะลอตัวลงก็ตาม แต่การฉีดไม่ครบตามสูตรนั้น อาจทำให้เห็นผลเพียงระยะสั้นก็เป็นได้ ดังนั้นมาตรการเข้มงวดด้านสาธารณสุขเพื่อลดการพบปะกันของประชากร และการป้องกันตัวส่วนบุคคล เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ กัน ยังจำเป็นอย่างยิ่ง
...หันมามองสถานการณ์ของเรา...
ที่น่ากังวลคือ การทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า วัคซีนมาแล้วทุกคนจะยิ้มได้
อาจทำให้เกิดความประมาท ลดการ์ดลง และเกิดการระบาดซ้ำรุนแรงตามมาได้
ยิ่งเห็นข่าว หลายต่อหลายพื้นที่พยายามเรียกร้องขอส่วนแบ่งวัคซีนบางส่วนมาในพื้นที่ของตน เพื่อหวังจะเปิดเศรษฐกิจ 
การเห็นข่าวข้างต้น ชัดเจนว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก 
เพราะ วัคซีนที่ได้รับมานั้นแม้จะมีสรรพคุณ แต่หากดูลึกๆ จะพบว่าป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ ลดความรุนแรงของโรค มิได้ป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ดังนั้นต่อให้ได้รับไป ก็มีโอกาสติดเชื้อได้และแพร่ให้ผู้อื่นได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากได้วัคซีนไปจำนวนหนึ่ง ก็มีคนได้รับแค่จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรในพื้นที่ทั้งหมด สิ่งที่ควรคิดคือ การได้วัคซีนจำนวนน้อยไปนั้นจะเกิดประโยชน์เพียงระดับบุคคลที่ได้ฉีดเท่านั้น และสรรพคุณก็ไม่ได้สูงมากนัก (ดูข้อมูลในตารางประกอบเพื่อทำความเข้าใจ)
บทสรุปของความเชื่อที่ว่า วัคซีนมาแล้วจะเปิดประเทศรับท่องเที่ยวต่างชาติ จึงยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
ขอให้ใช้สติในการดำเนินชีวิต นโยบายและมาตรการใดๆ ที่คิดจะเข็นออกมาในสถานการณ์การระบาดซ้ำที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องดังที่เห็นในปัจจุบันนั้น จะส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของคนในสังคม
และหากทำไปผิดทาง นอกจากจะเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำรุนแรง ส่งผลต่อชีวิตคนในพื้นที่และในประเทศแล้ว ยังอาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การระบาดของโรค ทำให้พื้นที่กลายเป็นแดนดงโรคระยะยาว ที่จะเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่และการดำเนินชีวิตของประชาชนท้องถิ่นได้
ด้วยสถานการณ์ต่างๆ เช่นนี้ ขอให้พวกเราทุกคนทำในสิ่งที่เราทำได้คือ ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นแสงส่องทาง และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติด้วยหลักเหตุและผล ระวังเรื่องกิเลสให้ดี
ด้วยรักและปรารถนาดี

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"