ดีเดย์28กพ.ฉีดนายก-อนุทิน


เพิ่มเพื่อน    

 ไทยป่วยเพิ่ม 72 ราย พบนักฟุตซอลติดโควิด 7 ราย มี 2 รายอยู่ทีมสมุทรสาคร ชง ศบค.เปิดตลาดกลางกุ้ง พร้อมปรับลดพื้นที่เหลือควบคุมสูงสุด "บิ๊กตู่" ย้ำพร้อมประเดิมฉีดวัคซีนทุกเมื่อ ลั่นเรื่องจิ๊บจ๊อย สธ.คาดฉีดนายกฯ-อนุทิน 28 ก.พ. ส่วนประชาชนเริ่ม 1 มี.ค.

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 72 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 63 ราย ในจำนวนนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 43 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 20 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 25,764 ราย หายป่วยแล้ว 24,734 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 947 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 22 ราย และต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 6 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 83 คน ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 113,094,441 คน เสียชีวิตสะสม 2,508,811 คน
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในส่วนของ กทม.วันเดียวกันนี้ พบผู้ติดเชื้อ 7 ราย ในจำนวนนี้มี 2 รายที่เป็นนักฬาฟุตซอล ในทีมอำเภอเมืองฯ จ.สมุทรสาคร จากนักกีฬา 11 ราย โดยมีการตรวจหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในเคสนี้ประมาณ 50 ราย จากกรณีนี้เรียนรู้ว่าทั้ง 2 รายพักอาศัยอยู่ใน กทม. แต่ต้องเดินทางไปซ้อมกีฬาฟุตซอลที่ จ.สมุทรสาคร มีการเดินทางไปมาระหว่างสองจังหวัดที่ติดกัน และกลับมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมที่โรงเรียนใน กทม. เคสนี้จึงเป็นการติดจากคนใกล้ชิดและคุ้นเคยกัน   
    ขณะที่ ศบค.ชุดเล็กได้ประชุมทางไกลร่วมกับ จ.ตาก ที่พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย โดยส่วนหนึ่งมาจากการขนส่งสินค้า ซึ่งใน จ.ตากมีมูลค่าเศรษฐกิจทางการค้า 8 หมื่นล้านต่อปี และลดลงในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เหลือ 6 หมื่นล้านบาท ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเสนอ ศบค.ชุดเล็กให้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการค้าขายชายแดนแม่สอด เช่น การทำความสะอาดพื้นที่ และมาตรการคัดกรองบุคคลที่เดินทางข้ามไปมา เพื่อเป็นต้นแบบจังหวัดชายแดนพื้นที่อื่น ทั้งนี้ ในที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ของประเทศเมียนมา ซึ่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ยังคงมีผู้ชุมนุมออกมาประท้วงทุกวัน โดยผู้ว่าฯ ต้องเตรียมแผนรับมือกรณีมีผู้อพยพข้ามแดน และต้องระวังการแพร่ระบาดในพื้นที่ นายกฯ จึงฝากความเป็นห่วง และให้กำลังใจบุคลากรที่ทำงานหนัก จึงเป็นเหตุให้มีการพิจารณาให้ จ.ตากเป็นจังหวัดในกลุ่มแรกที่จะมีการกระจายวัคซีนล็อตแรก
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ยังประชุมร่วมกับ จ.สมุทรสาคร มีการทบทวนพิจารณาให้เปิดตลาดกลางกุ้งที่ อ.มหาชัย ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ จะครบกำหนด 2 เดือนที่ปิด และคาดว่าจะกลับมาเปิดได้ในวันที่ 1 มี.ค. รวมถึงสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม 9 แห่งในชื่อศูนย์ห่วงใยคนสาคร เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงจะมีการปรับลดจำนวนโรงพยาบาลสนามตามสถานการณ์ แต่ก็ต้องเตรียมไว้รองรับสถานการณ์ในอนาคต  อย่างไรก็ตาม การค้นหาเชิงรุกในโรงงาน จ.สมุทรสาคร กว่า 1,000 แห่งที่ผ่านมา โดยตรวจหาเชื้อไปแล้วเกือบแสนราย พบผู้ติดเชื้อไม่ถึงร้อยละ 1 ทำให้สมุทรสาครมีความมั่นใจสถานการณ์จะนำเสนอการปลดล็อก รองผู้ว่าฯ เสนอ ศบค.ชุดเล็กมีความห่วงใยในภาคเศรษฐกิจและสถานศึกษา ในวันที่ 1 มี.ค. จะมีการเสนอ ศบค.เพื่อพิจารณาปรับพื้นที่จากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม ปรับให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง
    ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า เคยบอกไปแล้วว่าพร้อมเสมอที่จะฉีด เพียงแต่ว่าขึ้นอยู่กับความพร้อมสถาบันวัคซีนและกรมควบคุมโรคที่จะต้องจัดทำวัคซีนให้เหมาะสม และหากมีความพร้อมเขาจะเชิญตนไปฉีด
    "ยืนยันว่าผมมีความพร้อมเสมอ อย่าไปกำหนดว่าจะต้องไปฉีดวันนั้นวันนี้ ซึ่งไม่ใช่ และเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ผมก็ยืนยันแล้วว่าสมัครใจ จะทำอย่างไรผมก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
    อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีความเป็นห่วงเนื่องจากว่ามีการจัดสรรวัคซีนไปในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องไปเตรียมความพร้อม การที่จะไปกำหนดวันจะทำให้มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการให้การจัดสรรเป็นไปด้วยดี ซึ่งได้วางแผนเอาไว้หมดแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน แผนต้องเปลี่ยน แต่ยืนยันว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามที่ ศบค.กำหนด ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ขอเตือนไว้ก่อนว่าถึงแม้เราจะฉีดวัคซีน แต่ก็ยังต้องระมัดระวังตัวเองต่อไป เนื่องจากว่าเป็นเพียงการสร้างภูมิต้านทานในแต่ละคน ซึ่งมีภูมิต้านทานที่ไม่เท่ากัน คนที่มีภูมิต้านทานอ่อนต้องได้รับดูแลก่อน
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมทางไกลระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขและภาคประชาชน เพื่อมอบภารกิจให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่สำรวจและสร้างความมั่นใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยย้ำว่า ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ที่มาถึงไทย 317,000 โดส ของ 2 บริษัท ทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกา ได้มอบหมายให้ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนฯ เป็นผู้พิจารณาว่าจะมีการฉีดวันไหน อย่างไร รวมถึงนายกรัฐมนตรีและตนต้องฉีดหรือไม่ เพื่อป้องกันคำครหา ทั้งแย่งประชาชนฉีด หรือเอาประชาชนเป็นหนูทดลอง จึงขอให้เป็นดุลยพิจารณาของแพทย์ เพราะตนมีแค่หน้าที่จัดหาวัคซีนมาให้
    ส่วนเรื่องวัคซีนแอสตราเซเนกามาจากพื้นที่ไหน ไม่สำคัญ เพราะว่าวัคซีนที่ได้มาจากเครือข่ายของบริษัท แอสตราฯ ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และมีความปลอดภัย โดยวัคซีนลอตของแอสตราฯ 117,000 โดส อยู่ในล็อตที่มีการทำสัญญาจัดซื้อ 61 ล้านโดส และการได้มาของวัคซีนล็อตนี้ ต้องอาศัยความพยายามของผู้บริหารในการติดต่อ แม้จะไม่ใช่ภารกิจหลักของ สธ. ทั้งนี้ เรื่องการรณรงค์ทำความเข้าใจเรื่องวัคซีนในประชาชน โดยให้ อสม.ดำเนินการนั้น ต้องขอย้ำว่าอย่าหลงเชื่อคนแอบอ้างเรียกเก็บเงินในการฉีดวัคซีนโควิด เพราะรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประชาชนฉีดฟรี
    ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน กล่าวว่า คาดการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับนายกรัฐมนตรีและนายอนุทินจะมีขึ้นในวันที่ 28 ก.พ.นี้ หลังจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการตรวจรับรองรุ่นการผลิต ตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 บริษัทแล้วเสร็จ โดยสถานที่ที่จะมีการฉีดวัคซีนคือ สถาบันบำราศนราดูร ส่วนการฉีดในประชาชนทั่วไปในแต่ละจังหวัดจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค.นี้ ส่วนเรื่องรายละเอียดหรือแผนการฉีดกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ดำเนินการ
    สำหรับแผนการกระจายวัคซีนใน 18 จังหวัด จะอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ตาก (อำเภอแม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย), เชียงใหม่, กระบี่, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และเพชรบุรี
    ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ วันนี้ได้มีการซักซ้อมขั้นตอนการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ซึ่งขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้าผ่าน QR code และเมื่อเดินทางมาถึงยังจุดรับการฉีดวัคซีน จะต้องตรวจสอบสิทธิ บันทึกข้อมูลประวัติ และกรอกเอกสารความยินยอม จากนั้นจึงวัดอุณหภูมิ วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนและนั่งพักสังเกตอาการเป็นเวลา 30 นาที และขั้นตอนสุดท้ายคือการตรวจสอบอาการก่อนกลับ พร้อมกับรับเอกสารคำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังการฉีดวัคซีน
    นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า สำหรับการจัดหาและจัดบริการฉีดวัคซีนได้มอบหมายให้ อสม.กว่า 1,050,000 คน ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน รวมทั้งให้สำรวจกลุ่มเสี่ยง และคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนเป็นอันดับแรก รวมถึงขั้นตอนการรับการฉีดวัคซีนผ่านไลน์@หมอพร้อม ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารติดตามอาการ นัดหมายการรับวัคซีน และรายงานผล.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"