บนเส้นทางของการเป็นศิลปินระดับโลก ต้องทุ่มเททั้งชีวิตในการสร้าง ต้องแข่งขันทั้งกับตัวเอง และทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เมื่อเร็วๆ นี้ อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล The Charles Ives Awards สาขาการประพันธ์ดนตรี (Charles Ives Fellowship) จาก American Academy of Arts and Letters ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงด้านดนตรีและศิลปะที่มีประวัติศาสตร์ระดับโลกมาอย่างยาวนานถึง 123 ปี ได้พิสูจน์แล้วถึงความเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งไม่ได้มุ่งสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพระดับโลกแต่เพียงด้านเดียว
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักประพันธ์ดนตรีมืออาชีพว่า เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งศึกษาระดับปริญญาเอกที่ University of Missouri at Kansas City ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้พบกับอาจารย์ Chen Yi ซึ่งเป็นอาจารย์ทางดนตรีชาวจีนคนแรกที่แนะนำให้ตนลองประพันธ์ดนตรีแบบคิดนอกกรอบ โดยให้กลับไปศึกษาความเป็นไทย ประเทศบ้านเกิด แล้วจับเอาเสน่ห์ของความเป็นไทยใส่ลงไปในดนตรี ส่งผลให้ได้รับรางวัลแรกในชีวิตจากการประพันธ์ดนตรี คือ Toru Takemisu Award จากประเทศญี่ปุ่น จากนั้นคว้ารางวัลจากการส่งประกวดในระดับนานาชาติอีกมากมาย รางวัลระดับโลกที่ภาคภูมิใจในชีวิต ได้แก่ รางวัล Guggenheim Fellowship จาก Guggenheim Foundation และ รางวัล Barlow Prize ซึ่งเป็นชาวเอเชียคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
เมื่อได้มารับตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ ดร.ณรงค์ บอกว่า ได้ใช้ประสบการณ์การทำงานในฐานะนักประพันธ์ดนตรีมืออาชีพ และเครือข่ายทางดนตรีที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในต่างประเทศเกือบ 20 ปี ผลักดันให้การเรียนการสอนดนตรีของวิทยาลัยฯ ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ จากที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความร่วมมือกับ The International Benchmarking Exercise (IBE) เมื่อเร็วๆ นี้ และในอนาคตจะพยายามผลักดันให้มีการประชุมวิชาการด้านดนตรีระดับนานาชาติในประเทศไทยให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการเรียนการสอนด้านดนตรีของไทยให้ก้าวสู่ระดับอินเตอร์ได้อย่างมีศักยภาพต่อไป
ในฐานะนักประพันธ์ดนตรีมืออาชีพชาวไทยในต่างแดน ผู้มุ่งมั่นบนเส้นทางของวิชาชีพจนเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ อาจารย์ ดร.ณรงค์ เผยถึงเคล็ดลับสู่ความสำเร็จว่า ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นคนชาตินั้นๆ การที่จะทำให้ได้รับการยอมรับจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ขอเพียงเพียรพยายามทำตามความฝันของตัวเอง อย่ายอมแพ้ล้มเลิกกลางคัน ท้ายที่สุดแล้วเราจะสามารถประสบความสำเร็จได้ในสักวัน
การได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ไม่ใช่รางวัลของ อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คนเดียว แต่ถือเป็นรางวัลของคนไทยทั้งประเทศ คนดนตรีบ้านเราประกาศศักยภาพต่อชาวโลกว่า คนไทยมีความสามารถ เขาหวังว่า รางวัลที่ได้นี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักประพันธ์ดนตรีชาวไทยรุ่นหลังได้สร้างสรรค์ผลงานสู่ระดับโลกได้ต่อไป
“ หากคิดว่าเราเก่งแล้ว พอใจแล้ว เราก็จะหยุดอยู่แค่ตรงนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรายังเก่งไม่พอ ต้องพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ขอเพียงอย่าละทิ้งความฝันของตัวเอง และพยายามทำต่อไปเรื่อยๆ เชื่อว่าศิลปินไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นศิลปินระดับโลกได้อย่างมีศักยภาพไม่แพ้ศิลปินต่างชาติได้อย่างแน่นอน” อาจารย์ ดร.ณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย