รมต.เมียนมา ดอดคุย'บิ๊กตู่' อินโดพบดอน


เพิ่มเพื่อน    


    "รมว.ต่างประเทศเมียนมา" ดอดพบ "บิ๊กตู่-ดอน"  นายกฯ อุบผลหารือ ชี้ในฐานะมิตรประเทศต้องรับฟังให้กำลังใจกัน ขณะที่ "มาร์ซูดี" เดินทางมาเยือนในฐานะแขกบัวแก้ว สื่อนอกจับตาอินโดฯ-ไทยร่วมคลี่คลายวิกฤติการเมืองพม่า 
    เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 13.00 น. นายวูนนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย และได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ที่ห้องพักรับรองภายในท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง โดยใช้เวลาในการพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมง
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการหารือกับ รมว.การต่างประเทศเมียนมาว่า บางครั้งบางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เป็นทางการ ขอให้เข้าใจด้วย สื่ออย่าถามทุกเรื่อง เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราในฐานะมิตรประเทศต้องรับฟังซึ่งกันและกัน สุดแล้วแต่จะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เราเป็นกำลังใจในฐานะประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ต้องทำให้เกิดความร่วมมือ รวมทั้งส่งกำลังใจให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย แค่นั้นพอแล้ว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จภารกิจรับวัคซีนโควิด-19 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 12.00 น. นายกฯ เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนออกจากทำเนียบฯ ในเวลา 12.48 น. โดยไม่มีการแจ้งภารกิจอย่างเป็นทางการ แต่แจ้งเป็นภารกิจลับ (ว.5) โดยมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้พบปะหารือกับ รมว.การต่างประเทศเมียนมาพร้อมนายดอน 
    ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายดอนให้การต้อนรับนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย และคณะ ในโอกาสเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความสัมพันธ์ไทยและอินโดนีเซียดำเนินไปอย่างราบรื่น และเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือโดยใช้ประโยชน์จากกลไกทวิภาคี รวมถึงได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
    ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค โดยมีอาเซียนเป็นแกนกลาง และเห็นพ้องกันถึงบทบาทที่สำคัญของอาเซียนในการส่งเสริมเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยและอินโดนีเซียมีความเห็นสอดคล้องกันว่าเมียนมาเป็นประเทศสมาชิกที่สำคัญของครอบครัวอาเซียน และอาเซียนสามารถเป็นเวทีการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างเมียนมากับประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ โดยคำนึงถึงหลักการของกฎบัตรอาเซียนและประโยชน์ของประชาชนเมียนมา
    สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีจับตาความพยายามของไทยและอินโดนีเซีย เพื่อนบ้านร่วมกลุ่มอาเซียนกับเมียนมา ที่ต้องการช่วยคลี่คลายวิกฤติการเมืองภายในเมียนมาภายหลังทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. โดยรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวในไทยเรื่องการเดินทางเยือนไทยของวูนนา หม่อง ลวิน ผู้ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้ดำรงตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ ได้เข้าพบนายกฯ ไทยและ รมว.การต่างประเทศของไทย
    ขณะเดียวกันมีรายงานว่า นางเร็ตโน มาร์ซูดี อยู่ระหว่างเยือนไทยเช่นกัน เดิมนั้นกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียระบุว่า มาร์ซูดีเตรียมจะเดินทางไปเยือนเมียนมาวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งจะทำให้เธอเป็นรัฐมนตรีต่างชาติคนแรกที่ไปเยือนเมียนมานับจากเกิดรัฐประหาร แต่ภายหลังโฆษกกระทรวงแจ้งว่าการเดินทางถูกเลื่อนออกไปแล้ว
    เอเอฟพีกล่าวว่า หลังจากมีเอกสารของรัฐบาลเมียนมาเล็ดลอดออกมากล่าวถึงแผนการเยือนของรัฐมนตรีอินโดนีเซียวันพฤหัสบดีนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียก็แถลงเมื่อวันพุธว่าอินโดนีเซียได้เจรจากับตัวแทนของทั้งสองฝ่ายในวิกฤติการเมืองของเมียนมา และมาร์ซูดีอาจไปเยือนเมียนมา แต่ยังไม่ใช่ในช่วงเวลานี้ 
    ส่วนรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวหลายคนว่า อินโดนีเซียเสนอให้สมาชิกอาเซียนส่งผู้สังเกตการณ์เข้าเมียนมาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าพวกนายพลจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรม แต่คำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกลับอ้างว่า อินโดนีเซียไม่ได้สนับสนุนการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเมียนมา
    รายงานรอยเตอร์กล่าวว่า ความพยายามของเพื่อนบ้านอาเซียนถูกนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยบางคนแสดงความหวั่นเกรงว่าจะเป็นการให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารและการล้มผลการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจีกวาดที่นั่งอย่างถล่มทลาย
    กลุ่มนักเคลื่อนไหวพันธมิตรอนาคตชาติในเมียนมาออกแถลงการณ์วิจารณ์ว่า การเยือนของมาร์ซูดีจะเท่ากับการยอมรับรัฐบาลทหาร พวกเขาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติพบกับติน ลิน อ่อง สมาชิกในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเมียนมาผู้ได้รับแต่งตั้งเป็น "เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียงคนเดียว" 
    มีผู้ประท้วงหลายสิบคนชุมนุมประท้วงที่ด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำย่างกุ้งเมื่อวันพุธ พร้อมกับป้ายข้อความว่า "เคารพการลงคะแนนของเรา" และ "เราลงคะแนนให้เอ็นแอลดี" ผู้ประท้วงยังพากันร้องตะโกนว่า "รัฐมนตรีต่างประเทศของเราคืออองซาน ซูจี" โดยหมายถึงอีกตำแหน่งหนึ่งที่นางนั่งควบพร้อมกับตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"