(23 กุมภาพันธ์ 2564) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และ คณะผู้บริหาร ปตท. ร่วมมอบเงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) หรือ “ChulaCoV19 vaccine” จำนวน 20 ล้านบาท ให้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนดังกล่าว เพื่อให้สามารถนำมาใช้บรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศได้โดยเร็ว มุ่งให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาวัคซีนอยู่ระหว่างการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ตามมาตรฐาน GMP และวางแผนนำมาทดสอบระยะที่ 1 (Clinical trial, Phase 1) ปลายเดือนเมษายน 2564 นี้ โดยใช้เทคโนโลยี mRNA ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีอนาคตที่สำคัญสำหรับการเตรียมรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และยังสามารถนำไปต่อยอดวิจัยพัฒนาเป็นวัคซีนหรือการรักษารูปแบบใหม่ได้
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาของคนไทย อีกทั้งเพื่อประโยชน์แก่คนในประเทศ ให้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็ววัน ช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน อีกทั้งส่งเสริมให้ประเทศมีความพร้อมรับมือในอนาคต ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข สอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจใหม่ของ ปตท. ในการก้าวสู่ธุรกิจใหม่ในด้าน “Life Science” ที่ถือเป็น New-S Curve ของประเทศ และของ ปตท. ที่มุ่งหวังดำเนินการเพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และระบบสาธารณสุขที่มั่นคง โดย ปตท. จะเป็นแกนประสานความร่วมมือ เพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญของภาคีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ”
ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า “การผลักดัน New S-Curve ด้าน Life Science ของ ปตท. จะดำเนินการผ่าน บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งได้รับอนุมัติการจัดตั้งจากคณะกรรมการ ปตท. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท โดยจะผสานพลังความสามารถ ปตท. และบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดนวัตกรรม ทั้งนี้ อินโนบิก (เอเซีย) จะเน้นการสร้างระบบนิเวศวิทยา (Ecosystem) รวมไปถึงและพัฒนาในธุรกิจยา ธุรกิจอาหารและโภชนาการ ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ด้านปิโตรเคมี ลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ และมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งการรักษาและการวิจัย ซึ่งจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย”
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ การร่วมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของ ปตท. จะเป็นส่วนเสริมการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย และประเทศเพื่อนบ้านให้ได้เร็วยิ่งขึ้นขณะนี้ผลการวิจัยในสัตว์ทดลองของวัคซีน ChulaCov19 ได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง และกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการผลิตวัคซีนเพื่อใช้ทดสอบในอาสาสมัคร ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมเดินหน้าเปิดทดสอบในอาสาสมัคร ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายน โดยให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยอย่างสูงสุด เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและมั่นใจในความปลอดภัยของการทดสอบฉีดวัคซีนนี้
นอกจากนี้ หากประเทศไทยมีเทคโนโลยีนี้ครบวงจรตั้งแต่คิดค้นพัฒนา การทดสอบและการผลิตเองในประเทศได้ เมื่อเกิดโรคระบาดใหม่ (ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอย่างแน่นอน) ประเทศไทยจะสามารถมีวัคซีนของตนเองได้เร็วขึ้น ใกล้เคียงประเทศอื่น ซึ่งนับเป็นความมั่นคงด้านการสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคนี้”
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ และให้ใช้ในประชาชนทั่วไปในบางประเทศแล้ว เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนชนิด mRNA แล้วอย่างน้อย 120,000,000 คน จากผู้ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดมากกว่า 200,000,000 คน (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 64)
โครงการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 เป็นการพัฒนาและคิดค้นโดยคนไทย เน้นความปลอดภัย ให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อสามารถบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 และรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |