'ชาวเลอันดามัน' ขนปลาแห้งมอบชาวบางกลอย แนะรัฐปล่อยทำไร่หมุนเวียนเพราะเป็นแปลงเก่าไม่ได้บุกรุก


เพิ่มเพื่อน    

ผู้อาวุโสกะเหรี่ยงแนะรัฐปล่อยชาวบางกลอยทำไร่หมุนเวียน ชี้ไม่ได้บุกรุกเพราะเป็นแปลงเก่า ชาวเลอันดามันให้กำลังใจ-เดินทางไกลขนปลาแห้งมอบให้ถึงหมู่บ้าน สถานการณ์ในพื้นที่ยังตึงเครียด-อุทยานฯ เปิดปฏิบัติการวันที่สอง-ลูกชายปู่คออี้ไม่ยอมลงแม้ชักแม่น้ำทั้งห้า ชาวบ้านตามขึ้นไปสมทบอีก

23 ก.พ.64 - พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้อาวุโสชาวปกาเกอะญอและปราชญ์ชาวกะเหรี่ยง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐนำโดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้สนธิกำลังในยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร โดยนำชาวบ้านบางกลอยที่อพยพกลับไปอยู่ในหมู่บ้านเดิมป่าใจแผ่นดินกลับลงมา ว่าวันก่อนที่ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ภาครัฐรับปากว่าจะไม่มีคุกคามชาวบ้านอีก ถ้ารัฐใช้กำลังบังคับก็เท่ากับข้อตกลงที่ทำร่วมกันไว้ไม่มีประโยชน์ และชาวบ้านก็คงต้องสู้ต่อไป ซึ่งตนเชื่อว่าขณะนี้คนกรุงเทพฯ รวมทั้งคนในสังคมไทยได้รับรู้ข้อเท็จจริงเยอะขึ้นมากเมื่อเทียบกับการบังคับย้ายชาวบ้านเมื่อปี 2554 โดยเฉพาะเรื่องการใช้อำนาจของราชการ  พะตีตาแยะกล่าวถึงข้ออ้างของทางการที่ระบุว่าชาวบ้านบางกลอยเผาไร่หมุนเวียน ว่าเท่าที่ดูจากภาพเห็นได้ชัดเจนว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินในแปลงดั้งเดิมโดยไม่ได้เป็นการบุกรุกป่าใหม่ ทราบว่าชาวบ้านกำลังร่วมกันทำข้อมูลอยู่ว่าแต่ละปีได้ข้าวเท่าไหร่ เพื่อชี้แจงให้หน่วยงานรัฐเข้าใจวิถีชีวิตของเขา จึงไม่ได้บุกรุกป่า เพราะการทำไร่หมุนเวียนนั้น ปลูกข้าวและพืชต่างๆ 1 ปีแล้วทิ้งไว้ให้ดินฟื้นตัว แล้วไปทำไร่หมุนเวียนแปลงอื่นที่ฟื้นตัวแล้ว

“การทำไร่หมุนเวียน ดีกว่าปลูกข้าวโพดเยอะ เพราะเป็นการใช้ธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ยา ใช้ปุ๋ย ที่ต้องเผาไร่ในตอนเริ่มต้นก็เพราะไฟมีประโยชน์มาก หลังจากเผาแล้วแค่เพียงครึ่งเดือนต้นไม้ก็แตกยอดออกมา เป็นการทำลายแมลงไม่ให้รบกวนข้าว การเผาไร่หมุนเวียน ไม่ได้เป็นการเผาพลาสติก จึงไม่เกิดมลพิษ แต่เป็นการเผาใบไม้ที่ไม่เกิดเชื้อโรค ถือว่าเป็นการเปิดฟ้าให้ฝนตกลงมาควันไฟต่างๆก็หาย น้ำที่ไหลจากขี้เถ้าก็ไม่เป็นพิษ สามารถดื่มกินได้เหมือนเป็นสมุนไพร” พะตีตาแยะ กล่าว

พะตีตาแยะกล่าวว่า ปัญหาของชาวบ้านบางกลอยยืดเยื้อมานาน จนพวกเขาทนไม่ได้จนบางคนเสียชีวิตไปแล้ว ที่เหลืออยู่ก็ลำบากเพราะที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ที่อุทยานฯแบ่งให้ตั้งแต่ปี 2539 ก็ทำกินไม่ค่อยได้ ทางที่ดีรัฐควรปล่อยให้พวกเขากลับขึ้นไปทำไร่อยู่ข้างบน เพราะอย่างน้อยเขาก็มีข้าวกิน แค่เพียงภาครัฐไปกันพื้นที่ไว้ให้เขา ชาวบ้านก็จะช่วยกันดูแลป่า ดีกว่าเอาพวกเขาลงมาแล้วไม่จัดสรรที่ดินให้ ชาวบ้านเขารู้ตรงไหนเป็นป่าอนุรักษ์ ตรงไหนเป็นป่าที่หากินได้ เขาต้องดูแลรักษาป่าเพราะไม่เช่นนั้นเขาก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ เขาอยู่กันหลายช่วงอายุคนจึงรู้ดี 

ด้านนายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า การอพยพกลับขึ้นไปอยู่ของชาวบ้านบางกลอยในใจแผ่นดิน เพราะไม่สามารถทำต่อสภาพความขัดสนเนื่องจากการจัดสรรที่ดินทำกินของอุทยานฯ ไม่เพียงพอ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีพ ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย  และกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งชาวเลภาคใต้ของประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงระบบการเยียวยาจากภาครัฐ จนนำไปสู่การทำปลาแลกข้าว จากชาวเลถึงชาวกะเหรี่ยง

"กะเหรี่ยงกับชาวเล เหมือนพี่น้องกัน ชาวเลราไวย์ อยากทำโครงการข้าวแลกปลา เพื่อเอาปลาไปเชื่อมร้อยกับชาวกะเหรี่ยง  และเราอยากเอาปลาแห้งไปให้  และไปเยี่ยมให้กำลังใจ พี่น้องกะเหรี่ยง มูลนิธิชุมชนไทจึงช่วยประสานให้ชาวเลและเครือข่าวได้เดินทางไปมอบปลาให้ชาวบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์”

นายไมตรีกล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฝั่งทะเลอันดามัน อันประกอบไปด้วยชาวมอแกน มอแกลน และ ชาวอูรักลาโว้ย เกิดแนวคิดและรวมตัวกันออกเรือหาปลาเพื่อต้องการที่จะทำปลาแห้งส่งมอบให้กับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยขึ้น โดยตัวแทนชาวเลจาก ชุมชนราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้ออกหาปลาสด ประมาณ  500 กิโลกรัม เพื่อเอามาทำเป็นปลาแห้ง ประมาณ 150 กิโลกรัม เพื่อนำส่งมอบให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและร่วมแลกเปลี่ยนวิถีชีวิตระหว่างกัน โดยชาวเลได้ออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น.

"เราตั้งใจจะไปนอนสัก 1 คืน  ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไร เพราะอยากสัมผัสความรู้สึก และวิถีชีวิต พี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย รวมทั้งจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนต่างชาติพันธ์" นายไมตรี กล่าว

สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่บ้านบางกลอย-โป่งลึก ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานกำลังร่วมกันปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์นั้น ตั้งแต่ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังพื้นที่บ้านบางกลอยบนที่ชาวบ้านอพยพกลับไปอยู่ ขณะที่ชาวบ้านบ้างกลอยต่างไปปักหลักรอดูสถานการณ์อยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ กจ.10 ซึ่งเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์

เมื่อเวลา 11.00 น. นางสาวเนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยนายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในป่าใจแผ่นดินเพื่อเจรจากับนายหน่อแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงจึงกลับลงมาเมื่อเวลา 13.22 น.ซึ่งมีรายงานว่านายหน่อแอะ ไม่ยินยอมย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านบางกลอยล่าง แม้จะมีการโน้มน้าวตั้งแต่เมื่อวาน และวันนี้เป็นครั้งที่สอง ในที่สุดเจ้าหน้าที่จึงได้ถอนกำลังกลับ และหยุดปฎิบัติการในวันนี้

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวว่า ชาวบ้านบางกลอย 30-40 คนที่เดินเท้าออกจากบ้านบางกลอยล่างตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ภายหลังจากมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทางการจะขึ้นไปเอาตัวคนที่อยู่บางกลอยบนลงมา ได้เดินทางไปถึงบ้านบางกลอยบนและสมทบกับชาวบ้านที่เดินทางไปก่อนหน้านี้ ทำให้ขณะนี้มีจำนวนชาวบ้านราว 50 คนที่ปักหลักอยู่บ้านบางกลอยบน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"