23 ก.พ.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งอย่างเต็มที่ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว มีความก้าวหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง และงานระบบรถไฟฟ้า และเพื่อยกระดับโครงข่ายเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้บรรจุโครงการฯ ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม. และ NBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อันจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชน ในส่วนของอัตราค่าโดยสาร ยืนยันว่า จะไม่เกิน 42 บาทอย่างแน่นอน
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ในรูปแบบสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ NBM ซึ่งเริ่มดำเนินงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2565 ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัชเมืองทองธานีนั้น รฟม. จะดำเนินการเวนคืนที่ดินบริเวณสถานีศรีรัช และบริเวณใต้ทางด่วนฯ โดยจะใช้งบประมาณค่าเวนคืน วงเงินประมาณ 200 ล้านบาท จากนั้นจะส่งมอบพื้นที่และออกประกาศให้เริ่มงาน (NTP) พร้อมทั้งเริ่มการก่อสร้างได้ในช่วง ก.ค.-ส.ค. 2564
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกประมาณ 200 ล้านบาท และภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม แนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT-01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT-02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ทั้งนี้ มีรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ ประกอบด้วย 2 สถานี โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567และเมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการ 13,785 คน/เที่ยว/วัน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น บริษัทจะเร่งให้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 ราคา ตลอดเส้นทาง โดยค่าโดยสารจะจัดเก็บสูงสุดที่ไม่เกิน 42 บาท ซึ่งเป็นราคา ณ วันที่มีการลงนามสัญญาสัมปทานโครงการฯ แต่เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะต้องมีการพิจารณาราคาที่ลงนามฯ ประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภคในขณะนั้นอีกครั้งว่า จะสามารถจัดเก็บค่าโดยสารที่เท่าไหร่
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |