สศช.ชี้คนว่างงาน-หนี้ครัวเรือนพุ่งจากพิษโควิด


เพิ่มเพื่อน    

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2563 ว่า ในช่วงไตรมาส 4 ของปี63 การจ้างงานเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานลดลง ส่งผลให้ภาพรวมในปี 2563 ไทยมีจำนวนผู้ว่างงาน 6.5 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.69% เทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.71 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 0.98%

“จำนวนผู้ว่างงานในปี 2563 ที่เพิ่มมาอยู่ที่ 6.5 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการล็อคดาวน์” นายดนุชากล่าว

นายดนุชา ระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์การว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสะสมทั้งระบบ ณ ไตรมาส 4/2563 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 3.95 แสนคน จากระดับเกิน 5 แสนคน ในช่วงไตรมาส 3/2563 และล่าสุดในเดือนธ.ค.2563 จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนฯรายใหม่ลดลงมาอยู่ที่ 64,760 คน เทียบกับเดือนพ.ค.2563 ที่มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนฯรายใหม่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 171,987 คน

แต่ด้วยชั่วโมงการทำงานในปี 2563 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากปีก่อนที่อยู่ที่ 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแรงงานที่ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่ลดลงเหลือ 5.6 ล้านคนในปี 2563 ลดลงจากปีก่อน 17.1% รวมถึงแรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 135% ส่งผลให้รายได้ของแรงงานลดลง และอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในช่วงครึ่งปี 2563 พบว่าครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลง 10.45%

สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานในปี 2564 มี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะต้องมีการกำกับดูแลให้ดี แม้ว่าอีกไม่กี่วันจะมีการเริ่มฉีดซีนแล้ว แต่กว่าวัคซีนล็อตใหญ่จะเข้ามาก็ต้องรอจนถึงเดือนพ.ย.-มิ.ย.ปีนี้ 2.สถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคเกษตร และ3.การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล จึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงทักษะแรงงานในระยะถัดไป ทั้งการรีสกิลและอัพสกิล

นายดนุชา กล่าวต่อว่า ในส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือน พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2563 ที่มีอัตราขยายตัว 3.8% ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี ณ ไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้นเป็น 86.6% ต่อจีดีพี ซึ่งผลจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไป คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

นายดนุชา กล่าวว่า ในระยะถัดไปผู้ที่เกี่ยวข้องอาจต้องพิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ 2.การจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการที่กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินแต่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และ3.การให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินเดิมอยู่แล้ว

“ต้องพยายามทำให้หนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ในระดับนี้ยังคงเป็นหนี้ที่มีคุณภาพ และต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่ทำให้เขามีความสามารถที่จะใช้จ่ายต่อเดือนในระดับที่อยู่ได้ เพราะถ้าหนี้ครัวเรือนขึ้นสูงมาก จะมีผลต่อการใช้จ่ายของครัวเรือน” นายดนุชากล่าว

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"