23 ก.พ.64- นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณี ส.ส.ลงมติในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลไม่เป็นไปตามมติพรรค และแต่ละพรรคมีการตั้งกรรมการสอบสวนว่า ประเด็นนี้ไม่ควรมองในมิติเสถียรภาพของรัฐบาล ความเป็นเอกภาพของฝ่ายค้าน หรือมารยาททางการเมืองเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมองในมุมของหลักการ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อการทำหน้าที่ของ ส.ส.ด้วย โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับความเป็นอิสระ และเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ไว้ในหลายส่วน อาทิ มาตรา 114 ที่ระบุว่า ส.ส.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ
ขณะที่มาตรา 124 ก็ระบุว่า ในที่ประชุมสภาฯ ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ตลอดจนข้อบังคับสภาฯ ข้อ 178 วรรคหนึ่ง ก็ได้กำหนดไว้สอดคล้องกัน คือ ทั้งในการอภิปราย หรือการลงมติ สมาชิกของพรรคการเมืองย่อมมีอิสระไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทย ที่ต้องมีอิสระ
“การลงมติใดๆของ ส.ส.แต่ละคนย่อมเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ผู้นั้นที่จะไม่อยู่ในอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ ตามที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับสภาฯ ได้บัญญัติรองรับไว้อย่างชัดเจนว่า ส.ส.ย่อมอยู่ภายใต้หลักของการทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปของการปกครองระบอบประชาธิปไตย” นายสุชาติ ระบุ
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การดำเนินการของพรรคการเมืองเพื่อสอบสวน ส.ส.ที่ไม่ลงมติตามมติพรรคนั้นสามารถกระทำได้ภายใต้ข้อบังคับของพรรคการเมืองนั้นๆ เพื่อแสวงหาเหตุผลที่ ส.ส.ไม่ปฏิบัติตามมติพรรค และนำไปชี้แจงต่อประชาชน รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีฝ่ายรัฐบาล อาจจะเป็นเพราะรัฐมนตรีผู้นั้นชี้แจงข้อกล่าวหาได้ไม่ชัดเจน ก็เป็นรัฐมนตรี หรือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ต้องดำเนินการชี้แจงเพิ่มเติม ด้าน ส.ส.ฝ่ายค้านก็อาจมองรัฐมนตรีชี้แจงได้ชัดเจนดีแล้วจึงลงมติไว้วางใจให้ เป็นต้น
ส่วนการจะสอบสวนเพื่อนำไปสู่การลงโทษ ซึ่งข้อบังคับของแต่ละพรรคกำหนดโทษสูงสุดถึงขั้นขับออกจากพรรคนั้น ควรต้องพึงระวังว่าอาจจะขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เข้าข่ายการกระทำที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรมนูญกำหนด หรือเป็นลักษณะที่ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือไม่ ยกตัวอย่าง หากใช้เหตุผลว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ แล้วมาสอบสวนหรือลงโทษ ส.ส.ที่สังกัดพรรคตัวเอง อาจเข้าข่ายคนนอกครอบงำ เป็นเหตุให้นำไปสู่การร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่อยู่ในระบบพรรคการเมืองมาตลอด และเข้าใจดีถึงความสำคัญของความเป็นเอกภาพของพรรคการเมือง ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้ท้ายหรือสนับสนุนให้ ส.ส.แหกมติพรรค แต่ต้องไม่ลืมว่า มติพรรคไม่ได้มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เป็นเพียงธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของพรรค แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนี้พรรคต้นสังกัดก็ย่อมต้องให้เกียรติวิจารณญาณของ ส.ส.ด้วยเช่นกัน เพราะแม้ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมือง และอยู่ภายใต้ข้อบังคับของพรรคการเมือง แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดจะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่ให้อิสระไว้ได้ อีกทั้งการยึดติดให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรคอย่างเคร่งครัดก็อาจนำไปสู่ระบบใบสั่ง ทำให้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่มีเสรีภาพในการออกเสียงอย่างเป็นอิสระ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“ผมเห็นว่าการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจฯของ ส.ส.เป็นวิจารณญาณของผู้นั้นที่จะตัดสินใจได้โดยอิสระ แต่ในทางกลับกันหากการลงมติของ ส.ส.ผู้นั้นไม่เป็นไปตามมติพรรค เพียงเพื่อแลกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทนใดๆ หรือมีวาระส่วนตัวซ่อนเร้น ก็เป็นเรื่องที่ควรต้องถูกประณามและลงโทษในแง่จริยธรรมเช่นกัน หากชี้แจงไม่ได้หรือมีหลักฐานชัดเจน” นายสุชาติ ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |