กลายเป็นเรื่องใหญ่โตกว่ากรณีงูเห่า 4 ส.ส.พรรคก้าวไกล กดปุ่มไว้วางใจให้ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จนกลายเป็นรัฐมนตรีที่มีคะแนนไว้วางใจมากสุดในศึกซักฟอกที่ผ่านมาไปแล้ว สำหรับประเด็น 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ พรรคพลังประชารัฐ งดออกเสียงให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในทางการเมืองอย่างมาก เพราะถือเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับกติกาการอยู่ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านเอง
แม้ตามรัฐธรรมนูญ ส.ส.จะมีเอกสิทธิ์และอิสระในการลงมติ แต่ในทางการเมืองถือเป็นมารยาทที่ทุกพรรคเคร่งครัดและให้ความสำคัญ เพราะมันสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้
ดังจะเห็นว่า หลังเสร็จสิ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผู้ใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐต้องรีบต่อสายเคลียร์กับผู้ใหญ่ฝั่งพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่ปฏิกิริยาจาก ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ออกมาโพสต์เหน็บแนม 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ พร้อมกับปกป้องนายศักดิ์สยาม คือสิ่งที่ตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า มันไม่ใช่เรื่องที่ปล่อยผ่านกันง่ายๆ
สิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ หากแต่คนที่เสียหายที่สุด หนีไม่พ้น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 วัน “บิ๊กป้อม” ได้เรียกประชุมด่วน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เพื่อส่งสัญญาณว่า ให้ลงคะแนนเท่ากัน ดังนั้นการที่มี ส.ส.แหกมติพรรค ในปริมาณที่มากขนาดนี้ ย่อมทำให้ถูกมองว่าไม่สามารถควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาได้
ขณะเดียวกัน เหตุการณ์นี้หากเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์คงไม่รุนแรงมากขนาดนี้ เพราะมี ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์แหกมติพรรคด้วยการงดออกเสียงให้กับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายคน แต่กับพรรคภูมิใจไทยแตกต่างกัน
บรรดา ส.ส.พรรคภูมิใจไทยภายใต้การนำของนายอนุทิน หัวหน้าพรรค และนายศักดิ์สยาม เลขาธิการพรรค ไม่มีใครแหกคอก หรือออกอาการเกเรแม้แต่เสียงเดียว ต่างลงมติไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด จึงเป็นอีกเรื่องที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐน้ำท่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อีกทั้งเป็นที่รับรู้กันดีว่า การมีปัญหากับพรรคภูมิใจไทย ที่มียี่ห้อของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตแกนนำติดอยู่ เป็นเรื่องที่ไม่ควรอย่างยิ่งในทางการเมือง เพราะขึ้นชื่อลือชาเรื่องความเขี้ยว
อย่างไรก็ดี แม้ที่สุดเรื่องนี้จะผ่านไปได้ หากแต่มันจะส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองต่อตัว 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ ได้แก่ นางกรณิศ งามสุคนรัตนา ส.ส.กทม., น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม., น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม., น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม., นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม. และ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ
แน่นอนว่า จากนี้สถานะภายในพรรคพลังประชารัฐที่จะเปลี่ยนไป เพราะต้องไม่ลืมว่า กลุ่มดาวฤกษ์ก็มีคู่ขัดแย้งภายในพรรคเช่นเดียวกับมุ้งอื่นๆ ที่รอเหยียบซ้ำเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นมุ้ง ส.ส.กทม. ภายใต้การนำของนายณัฏฐพล ทีปสุววรรณ รมว.ศึกษาธิการ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่รู้สึกโกรธเคืองที่ ส.ส.เหล่านี้แยกตัวออกไป รวมไปถึงมุ้งของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล
กรณีที่เกิดขึ้นถือว่ายังโชคดีอยู่บ้าง ที่ไม่ได้ถูกกดดันให้ลาออกจาก ส.ส.เพื่อแสดงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในรายของ “มาดามเดียร์” นางสาววทันยา ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม เพราะมี ส.ส.จากมุ้งอื่นที่ขัดมติพรรคเช่นกันคือ นายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง จากมุ้งของนายวิรัช และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่งดออกเสียงไว้วางใจ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
มีการพูดกันว่า หากไม่มี ส.ส.จากมุ้งอื่นแหกมติพรรค “มาดามเดียร์” อาจจะเจอแรงกดดันกว่านี้ โดยเฉพาะการกดดันให้ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ในฐานะที่นำความขัดแย้งส่วนตัวมาปะปนกับพรรคจนเกิดเรื่อง
5 ส.ส.กทม. เป็น ส.ส.เขต ยังพอมีภูมิคุ้มกันในแง่ที่ไม่สามารถลาออกได้ เพราะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ “มาดามเดียร์” เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แม้ลาออกไป ก็สามารถเลื่อนผู้สมัครลำดับถัดไปขึ้นมาแทนที่ได้ แต่ดีที่ว่า มีมุ้งอื่นที่ผิดเหมือนกัน
ถือว่าเป็นก้าวที่พลาดมากๆ เพราะหากไม่มีประเด็นกลุ่ม 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ขัดมติพรรค ประเด็นเรื่องนายณัฏฐพลได้คะแนนน้อยที่สุด อาจกำลังถูกพูดถึงมากกว่า เพราะก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า มีบางมุ้งในพรรคพลังประชารัฐเตรียมนำเรื่องนี้ไปเขยื้อนเพื่อกดดันให้ปรับคณะรัฐมนตรี
แต่มาสะดุดล้มเองเสียก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |