"ชวน" เผยประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้ รธน.วาระสองพิจารณา 24-25 ก.พ.นี้จนแล้วเสร็จ พรรคร่วมฝ่ายค้านจ่อยื่นหนังสือถึงศาล รธน. ขอให้พิจารณาความเห็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรอบด้านก่อนวินิจฉัยสภามีอำนาจแก้ รธน.หรือไม่ "โรม" ลั่นอำนาจการแก้ รธน.เป็นของ ปชช.ไม่ควรให้องค์กรอื่นพิจารณาแทน
ที่รัฐสภา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมของรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม วาระที่สอง ในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ว่า จะมีการนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ... ซึ่งค้างจากการประชุมครั้งก่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน หลังจากนั้นจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สองตลอดทั้ง 2 วัน โดยไม่มีการกำหนดกรอบเวลาในการอภิปราย สามารถประชุมได้จนกว่าการอภิปรายจะแล้วเสร็จทั้งหมด เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญพิจารณาในวาระ 3 ได้ ส่วนการเปิดประชุมสมัยวิสามัญจะเป็นวันใดอยู่ที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้พิจารณา หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขผ่านตามกำหนดจะมีการแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า ซึ่งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะต้องเว้นจากวาระสอง 15 วันถึงจะพิจารณาวาระสามได้
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยรัฐสภามีมตินำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 4 มี.ค.นี้ เราตั้งข้อสังเกตุว่า 1.การที่ศาลจะรับฟังความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม 4-5 ท่าน เช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น บุคคลต่างๆ เหล่านี้มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งสิ้น ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีมติมอบหมายให้คณะทำงานยกร่างหนังสือส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้ฟังความเห็นผู้ทรงวุฒิด้านกฎหมายมหาชนให้กว้างขวางกว่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาอย่างรอบคอบมากขื้น โดยจะยื่นหนังสือต่อศาลในวันที่ 23 ก.พ.
เมื่อถามว่า หากศาลวินิจฉัยว่าไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ ฝ่ายค้านจะมีแนวทางแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร นายชูศักดิ์กล่าวว่าเป็นเรื่องของอนาคต ตามความเห็นส่วนตัว ไม่คิดว่าศาลจะวินิจฉัยออกไปทางนั้น อย่างไรก็ดีตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายไปยังศาล จะไม่แนบชื่อไปด้วยเพราะกลัวถูกมองว่าจะเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิของพรรคฝ่ายค้านอีก ขอเรียกร้องให้ศาลรับฟังผู้ทรงคุณวุฒิอย่างกว้างขวาง
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขอให้ช่วยจับตา 3 ประเด็นสำคัญ 1.สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะมีการตั้งขึ้นในอนาคตจะมีหมวด 1-2 ที่ไม่สามารถไปแก้ไขปรับปรุงได้ หากดูข้อเรียกร้องจากการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกร้องประเด็นนี้ ดังนั้นอาจนำไปสู่การสร้างชนวนความขัดแย้งใหม่ เพราะไม่ได้เป็นทางออกแท้จริง 2.ระหว่างที่มี ส.ส.ร.จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ปกติเราจะแก้รัฐธรรมนูญบางประเด็นระหว่างนี้ได้ แต่ปัญหาคือร่างของ กมธ.เสียงข้างมากกำหนดว่าหากจะแก้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งโอกาสในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติเรื่องรัฐธรรมนูญขึ้นในอนาคต สภาจะฝ่าวิกฤติไปยากมาก 3.กรณีที่ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วต้องนำไปลงประชามติ หากร่างที่ออกมาประชาชนไม่เห็นด้วย ก็ต้องขีดเส้นใต้ว่าไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะอยากทนอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อาจหมายถึง ส.ส.ร.ต้องไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ดีกว่าเดิม
"จึงเป็นการบีบให้เราอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ไปตลอดกาล สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคตอาจต้องใช้วิธีการรัฐประหารเท่านั้น การแก้ไขจึงต้องระมัดระวังมาก สะดุดไม่ได้เลย ถ้าสะดุดอาจจะให้ใบอนุญาตกองทัพในการทำรัฐประหารต่อไป เชื่อว่าอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรอื่นพิจารณาแทน" นายรังสิมันต์กล่าว
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า แม้แต่คนร่างรัฐธรรมนูญอย่างนายมีชัยยังบอกว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ จึงไม่อยากให้อำนาจของรัฐสภาที่มีอำนาจในการแก้ไขถูกยกไปให้หน่วยงานอื่นตีความ ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งเป็นเรื่องยาก เมื่อถึงการโหวตวาระ 3 คงต้องขอชั่งน้ำหนักดูก่อนว่าจะโหวตอย่างไร
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตามที่นายไพบูลย์ขอให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถึงเวลานี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะมีแนวทางออกมาอย่างไร ที่ผ่านมาไม่มีประเพณีปฏิบัติว่าจะต้องหยุดการพิจารณา เชื่อว่าคงมีการพิจารณาตามวาระที่กำหนดไว้ โดยจะรอดูว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร หากบอกว่าทำไม่ได้ ทุกสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็กลายเป็นศูนย์ กลับไปนับหนึ่งกันใหม่
"ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการเสนอกฎหมายและออกกฎหมายเพื่อคนส่วนมากของประเทศ แต่คนที่ไปร้องไม่ทราบว่าร้องได้อย่างไร เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เริ่มต้นเลย แต่ไปร้องว่าขัดแล้ว ดังนั้นเจตนาของนายไพบูลย์ชัดเจนว่าทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขธรรมนูญ โดยใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ" นายสมคิดกล่าว
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ายังไม่เห็นชะตากรรม แม้หลายคนเชื่อว่าถ้าไม่แก้แล้วรัฐบาลอยู่ไม่ได้ แต่มองว่าประชาชนมีความด้านชาแล้ว คงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการตั้ง ส.ส.ร.จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ คาดว่า โอกาสจะไม่เกิด 50 ต่อ 50 แต่ถ้ามี ส.ส.ร.จะเป็นอีกสนามหนึ่งที่ประชาชนจะไปสนใจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |