อาจารย์ช่วยไม่ได้! 4 แกนนำ 3 นิ้วนอนคุกต่อ ศาลไม่ให้ประกันตัวเพราะอาจไปก่อเหตุภยันตรายเดียวกันกับที่ถูกฟ้องอีก "ชาญวิทย์-พนัส" หลับหูหลับตาเชื่อ ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันถูกต้องตามหลักวิชาการประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์ระดับสากล ยินดีช่วยผลักดันต่อ
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมายื่นประกันตัวนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 1-4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ซึ่งถูกคุมขังไม่ได้รับการประกันตัวจากคำสั่งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ หลังถูกยื่นฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา ม.112, ยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่นๆ
นายชาญวิทย์เผยว่า ตนกับนายพนัสเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก เรียนหนังสือด้วยกัน เรามีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิด ในแง่วิชาความรู้ที่เราเรียนมา เราสองคนต้องการยืนยันหลักวิชาการ อย่างนายพนัสระบุถึงหลักนิติศาสตร์สากลควรเป็นอย่างไรในแง่คดีความ ส่วนของตนใช้หลักประวัติศาสตร์สากลว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนเชื่อว่าสิ่งที่คนทั้ง 4 กำลังทำอยู่ และคนรุ่นใหม่กำลังทำอยู่ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์สากลของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั่วโลกที่ยังคงอยู่เป็นจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ
เขากล่าวว่า สถาบันกษัตริย์ที่มั่นคง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน ยกตัวอย่างที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก คือสหราชอาณาจักรอังกฤษ สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษนั้นก็ได้ปฏิรูปมาจนกระทั่งมั่นคงอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างที่ใกล้เราที่สุดก็คือญี่ปุ่น สถาบันจักรพรรดินั้นหลังจากที่ได้ถูกใช้อ้างอิง ใช้โหนโดยฝ่ายรัฐบาล รัฐทหารของญี่ปุ่น จนกระทั่งเข้าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องแพ้สงครามด้วยการโดนระเบิดปรมาณู 2 ลูกอย่างที่เราทราบกันดี ตนคิดว่าสถาบันพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นปัจจุบัน ก็คือสถาบันที่ได้รับการปฏิรูปไปแล้ว
"ผมเชื่อว่าข้อเสนอของเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ รวมทั้ง 4 ท่านที่เรากำลังพูดถึง คือข้อเสนอซึ่งถูกต้องตามหลักวิชาการประวัติศาสตร์ ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์ระดับสากล เพราะฉะนั้นผมจึงต้องพูดว่า ทั้งอาจารย์พนัสและผมยินดีมากที่จะเป็นคนช่วยผลักดันในเรื่องนี้"
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสเรียกร้องให้ออกมานำการชุมนุมเอง นายชาญวิทย์ตอบว่า "เป็นไปไม่ได้หรอก ผมอายุ 80 แล้ว นายพนัสก็เหมือนกัน เราเป็นคนรุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะฉะนั้นโดยอายุอานามเราแก่เกินไปแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือ การเอาหลักวิชาการ เอาประสบการณ์ของตัวเองออกมาช่วยชี้แนะ ไม่ใช่พ่อยกนะ ผมก็ชอบดูทราย เจริญปุระ แม่ยกแห่งชาติ เพราะนอกจากจะเก่ง กล้าหาญ แล้วยังสวยอีกต่างหาก แต่เราเล่นบทนั้นไม่ได้ อย่างดีเราก็เป็นผู้ให้กำลังใจ"
"ผมคิดว่าคนรุ่นที่กำลังจะหมดอายุขัยไปแล้ว ตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ คนเดือนตุลา แน่นอนบางคนอาจจะยังมีกำลังกาย กำลังใจแข็งแรง ทำงานได้อยู่ แต่ว่าส่วนใหญ่จะหมดรุ่นของตัวเองไปแล้ว ดีที่สุดก็คือสนับสนุนให้กำลังใจ เอาประสบการณ์ของเราเองมาบอกเขาว่าทำได้ไหม อาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) บอกว่าอย่าเป็นไทยมุง อย่าเป็นไทยเฉย จำได้ไหม อาจารย์ป๋วยบอกว่าการต่อสู้จะได้ประชาธิปไตย ต้องสันติประชาธรรม"
เมื่อถามต่อไปว่า อาจารย์ยังดูแข็งแรง อายุอาจไม่น่าใช่อุปสรรค จะมีโอกาสขึ้นเวทีสนับสนุนหรือไม่ นายชาญวิทย์กล่าวว่า ดูแข็งแรงเป็นภาพลวงตา เป็นคำชมที่ตนก็ชอบใจเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วสุขภาพไม่อำนวย ไปไหนมาไหนก็ยาก ขับรถเองก็ลำบาก
ด้านนายพนัสเปิดเผยว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยมีสิทธิ์ทางกฎหมายในการขอปล่อยชั่วคราว ตามหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่วนความหวังว่าจะได้ประกันตัวหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมาย เขาควรได้รับการประกันตัว เชื่อว่าไม่หลบหนีไปไหน และพยานหลักฐานก็ไม่ซับซ้อน เป็นอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการเมืองตนไม่มีความเห็น และคนเรามีอุดมการณ์สำคัญที่สุด
ต่อมานายกฤษฎางค์ ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลให้เหตุผลว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ไป อาจจะไปก่อเหตุภยันตรายเดียวกันกับที่ถูกฟ้องอีก จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ยกคำร้อง คือยังไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ทั้ง 4 คนต้องถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปจนกว่าคดีจะเสร็จ
นายกฤษฎางค์เผยว่า นายอานนท์ฝากบอกให้เรารู้ว่าไม่ต้องกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องปล่อยชั่วคราว อย่าให้การที่เขาถูกขังโดยคำสั่งศาลจะทำให้การต่อสู้ของประชาชนข้างนอกเปลี่ยนแปลงหรือเสียหายไป ยืนยันว่าถ้าศาลไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวอีก อยากให้เพื่อนฝูงที่อยู่ข้างนอกสู้กันต่อไป และเขาจะสู้จากข้างในโดยวิธีการของเขา แต่ตนไม่ทราบว่าเขาจะสู้อย่างไร และขอขอบคุณอาจารย์ที่มาช่วยประกันตัวจำเลยทั้งสี่
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "ราษฎร" โพสต์ข้อความระดมพลนัดชุมนุมรอบใหม่ โดยนัดชุมนุมวันอังคารที่ 23 ก.พ. ที่แยกราชประสงค์ เวลา 17.00 น. โดยติดแฮชแท็กว่า "มาล้มช้างด้วยกัน #ผู้พิทักษ์สันติราษฎรจะฟาดตั๋วช้าง"
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจว่า "ไม่มีความขัดแย้งอะไรหรอก เดี๋ยวก็ทำให้มันถูกต้อง บางครั้งเอกสารบางอย่างมันก็ไม่ควรจะออกมา เพราะมันเป็นเรื่องการดำเนินการภายในของตัวเอง ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้ง"
"ผมเองก็เคยพูดไปแล้วว่าใครจะเสนออะไรมาก็ได้ แต่ก็เป็นเรื่องการพิจารณาของ สตช. ได้หรือไม่ได้ก็ว่ากันไปตามนั้น ผมในฐานะประธาน ก.ตร.ก็อนุมัติตามที่คณะกรรมการ ก.ตร.เสนอขึ้นมา ซึ่งคณะกรรมการมีหลายคณะ และมีคณะอนุกรรมการตรวจสอบคัดกรองคุณสมบัติต่างๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าขออะไรมาแล้วก็ได้หมด แต่ยอมรับว่าห้ามคนขอเป็นเรื่องยาก ขอร้องอย่าไปเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ ยืนยันว่าไม่เกี่ยว"
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเรียก พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) มาพูดคุยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "เอาไว้ฉันทำของฉันอยู่แล้ว นายกฯ ทำทุกเรื่องอยู่แล้ว ถ้าจะทำให้เร็วขึ้นตอบคำถามให้ได้ พวกเธอก็เรียกเขามาคุยเองซิ เธอเป็น ผบ.ตำรวจแห่งชาติหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เป็นก็ไม่ต้องพูดมาก โอเคนะ"
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กลุ่มราษฎรประกาศนัดชุมนุมในวันที่ 23 ก.พ.ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในประเด็นการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกแทรกแซง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการชุมนุมต่างๆ ถ้ามันไม่ผิดกฎหมายก็ชุมนุมไป แต่ถ้าสร้างความเดือดร้อน สร้างความรุนแรง หรือมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายเท่านั้นเอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |