จวก ทส.ฉีกข้อตกลง ชาวบ้านไม่ได้ทำผิดเงื่อนไข จี้สอบเบื้องหลังยุทธการจับชาวบางกลอย


เพิ่มเพื่อน    

22 ก.พ.64 - ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่รัฐประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กองร้อย ตชด.144 ทหาร ฉก.ทัพพระยาเสือ ทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจาน กองกำกับการ 5 บก.ปทส. กองร้อยน้ำหวาน อช.แก่งกระจาน กองการบิน ทส. หน่วยฯ พญาเสือ สำนักป้องกันฯ กรมอุทยานฯ ได้สนธิกำลังเปิด “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จับกุมชาวบ้านบางกลอยจำนวน 7 คนที่อพยพกลับถิ่นฐานเดิมในหมู่บ้านบางกลอยใจแผ่นดิน

นายประยงค์ ดอกลำไย หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอยู่ระหว่างลงพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง กล่าวว่า จริงๆแล้วชาวบ้านบางกลอยยังอยู่ในเงื่อนไขของการตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาลว่า ในช่วงของการค้นหาข้อเท็จจริงและแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ภายใน 45 วัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้แล้วเสร็จ ก็ได้มียุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรเกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

นายประยงค์ กล่าวว่า สิ่งที่อุทยานฯนำมาเป็นอ้างคือชาวบ้านทำผิดเงื่อนไข 2 ข้อคือเรื่องขยายพื้นที่ไร่หมุนเวียนและมีการเผาไร่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในข้อตกลง แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญคือชาวบ้านก็ไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขใดๆ ข้อมูลที่อุทยานฯนำมาแถลงโดยที่ปรึกษารัฐมนตรี ทส. กล่าวหาว่าขยายพื้นที่นั้น จริงๆแล้วข้อตกลงที่ทำร่วมกันทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งก่อนหน้าที่ชาวบ้านจะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล ได้ถางไร่แปลงสุดท้ายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ แต่อุทยานฯอ้างว่าถางใหม่เพราะเอาข้อมูลที่เคยถ่ายภาพไว้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม มาเปรียบเทียบกับข้อมูลเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ส่วนเรื่องการเผาไร่นั้นก็เป็นกระบวนการหนึ่งของการทำไร่หมุนเวียน เท่าที่ดูแปลงที่เผาเป็นแปลงที่ถางมาเป็นเดือนเศษและมีไม้แห้งแล้ว ชาวบ้านต้องเผาเพราะหากฝนตกก็เผาไม่ได้และทำการปลูกข้าวไม่ได้

“มีความพยายามเชื่อมโยงชาวบ้านบางกลอยว่ามีการกระทำความผิด 2-3 เรื่อง เช่นคดีมีการจับลูกตะกั่วได้ ทั้งๆที่คนนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาวบ้านที่อพยพขึ้นไปเลย ที่สำคัญคือใครทำผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีเป็นรายไป มันไม่เกี่ยวกับชาวบ้านที่อพยพขึ้นไปเลย เช่นเดียวกับคดีพบซากเก้ง ถึงตอนนี้พนักงานสอบสวนก็ยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ และชาวบ้านบางกลอยต่างก็ยืนยันว่าพวกเขาไม่ทำผิดเช่นนั้นเด็ดขาดเพราะรู้ว่าถูกจับจ้องอยู่ หากทำเช่นนั้นก็เสียความชอบธรรม”นายประยงค์ กล่าว

นายประยงค์ กล่าวว่า ปฎิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรครั้งนี้ ได้มีผู้บริหารระดับสูงในพื้นที่แจ้งข่าวกับชาวบ้านให้กลับลงมาภายในเวลา 18.00 น.ของวันนี้ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เช้า 8.00 น.เป็นต้นมาได้มีเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ขนกำลังเจ้าหน้าที่ไปยังบางกลอยบน สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่อุทยานฯพูดกับชาวบ้านนั้น ไม่สามารถเชื่อถือได้เลย ที่สำคัญเรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของคณะทำงานฯเป็นอย่างมาก

“วันนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯพูดกับชาวบ้านไว้เสียงดังฟังชัดว่า เขาไม่สนใจข้อตกลงที่ทำไว้แล้วเพราะเลยจุดนั้นมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของฝ่ายบริหาร ทั้งรัฐมนตรี ทส.และอธิบดีกรมอุทยานฯ ไม่มีความหมายอะไรเลย ในปฎิบัติการที่บอกว่าใช้เจรจาแต่กลับขนเจ้าหน้าที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปจำนวนมาก ซึ่งเท่ากับเป็นการข่มขู่คุกคามชาวบ้านอย่างมาก คณะทำงานที่มีทั้งผู้แทนสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร สิ่งที่พวกเรากำลังการศึกษากันอยู่จะมีความหมายหรือ ก็ในเมื่อแม้แต่ข้อตกลงที่รัฐมนตรีลงนามไว้แล้ว ยังไม่ได้รับความสนใจ เราคงต้องกลับไปเริ่มต้นเจรจากันใหม่ ขณะนี้ขบวนการภาคประชาชนทั้งพีมูฟ และกลุ่ม saveบางกลอย ต่างก็รู้สึกไม่เชื่อถือในวุฒิภาวะของรัฐมนตรี ทส.ในการบริหารกระทรวงและดูแลปัญหาของประชาชน” นายประยงค์ กล่าว

นายประยงค์ กล่าวถึงการที่เจ้าหน้าที่นำตัวชาวบ้านลงมาและจับกุมตั้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานโดยเข้าไปในเขตอุทยานฯไม่ได้รับอนุญาต ว่าการปฎิบัติการเช่นนี้ยิ่งก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน คือคณะทำงานฯ ทำหน้าที่ค้นหาปัญหาเต็มที่ หากต่อไปจัดทำเป็นข้อเสนอแล้วจะได้รับการตอบสนองอย่างจริงจังหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการสนองก็เป็นมวยล้ม ซึ่งขณะนี้ส่อว่าจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้นเราจึงเรียกร้องให้ยุติการอพยพชาวบ้านก่อนโดยเราได้ทำหนังสือถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สั่งยุติการดำเนินการเพราะกระทบต่อการแก้ไขปัญหา และขอให้มีการสืบสวนสอบสวนเบื้องหน้าเบื้องหลังของยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร

นายประยงค์ กล่าวว่า ข้อค้นพบที่มาลงพื้นที่ 2-3 วันที่ผ่านมา ได้เห็นถึงขยะที่ซุกไว้ใต้พรมเยอะพอสมควร ทั้งเรื่องการสำรวจที่ดินทำกินและการปฎิบัติการอพยพชาวบ้านเมื่อปี 2554 ที่มีข้อมูลบางส่วนไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง แม้แต่การอพยพเมือปี 2539 ชาวบ้านก็ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินตามสัญญา และเกินร้อยละ 50 เป็นที่ดินที่ทำกินไม่ได้เพราะความอุดมสมบูรณ์ต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่าการอพยพปี 2554 ไม่ได้มีการจัดสรรพที่ดินให้ชาวบ้านที่กลับลงมาเลย ชาวบ้านต้องอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่ลงมาปี 2539 ทำให้บ้านบางหลังอยู่กัน 2-3 ครอบครัวจนแน่นเหมือนสลัม ทุกครัวเรือนต้องซื้ออาหารกิน

“ข้อมูลที่อ้างว่าชาวบ้านมีรายได้ดี 3 แสนบาทต่อครัวต่อปี หรือตกเดือนละ 3 หมื่นบาทนั้น ข้อเท็จจริงคือชาวบ้านร้อยละ 80 อยู่ในโครงการสวัสดินการแห่งรัฐซึ่งต้องมีรายได้ไม่เกิน 3 พันบาทต่อเดือนแล้ว แล้วข้อมูลตัวเลขนี้มาจากไหน มีบางฝ่ายพยายามให้ข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์เพื่อปกปิดบาดแผล เช่น เรื่องการจัดที่ดินในอดีต บอกว่าจัดให้หมดแล้ว พอขอดูแปลงที่ดินเขาก็ไม่มีหลักฐาน” นายประยงค์ กล่าว

วันเดียวกันในหลายพื้นที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมให้กำลังชาวบ้านบางกลอย ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานได้ร่วมกันเปิดยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรและจับกุมชาวบ้าน โดยการจุดเทียนและเปิดแฟลชโทรศัพท์ ทั้งที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยตัวแทนที่มาชุมนุมต่างวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯนอกจากนี้ที่บริเวณหน้าหอศิลป์ ยังได้มีการเผาหุ่นนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"