21 ก.พ.2564 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่สภาฯลงมติ 272 ต่อ 206 เสียง ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ไปพร้อมด้วยรัฐมนตรีรวม10คนว่า เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์สามารถชี้แจงได้กระจ่างชัดทุกประเด็น ทำลายน้ำหนักของฝ่ายค้าน เหนืออื่นใดคือความมุ่งมั่นและจริงใจในการบริหารประเทศ โดยปราศจากผลประโยชน์ใดๆ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีทุกคนที่มีความตั้งใจในการทำหน้าที่ ประกอบกับข้อมูลของฝ่ายค้านที่ไม่น่าเชื่อถือ ดังที่ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.7 ระบุ ว่าการอภิปรายพูดเรื่องเดิมๆ รู้อยู่แล้ว เอาข้อมูลจากสื่อมาพูด ขาดหลักฐานใหม่ จึงไม่แปลกที่ร้อยละ 97.5 ระบุ รู้สึกผิดหวังต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งเท่ากับเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกลายเป็นจุดอ่อนของฝ่ายค้าน กลายเป็นเวทีที่ประจานตนเอง ให้ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายค้านในการทำหน้าที่ต่อไป
“ในขณะที่รัฐบาลหลังผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ประชาชนเชื่อมั่นและอยู่ยาวจนครบเทอม ซึ่งนับจากนี้จะได้ตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” น.ส.ทิพานัน กล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สิ่งน่าผิดหวังที่สุด คือความพยายามพูดพาดพิงสถาบันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่จำเป็น และไม่เกิดประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ ซึ่งประชาชนรู้เท่าทัน แม้แต่ส.ส.ของพรรคก้าวไกลเอง ก็ยังแสดงออกด้วยการลงมติสวนทางกับพรรคถึง4 คน สะท้อนถึงการต่อต้านกรณีดังกล่าว แต่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กลับตะแบงอ้างว่า "การอภิปรายพูดถึงบุคคลภายนอกในสภาผู้แทนราษฎรกระทำได้" โดยยกรัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 3 และข้อบังคับการประชุมสภาข้อ 39 ที่ให้บุคคลภายนอกผู้เสียหายมีสิทธิขอเข้ามาชี้แจงได้ภายใน 3 เดือน และมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ มาอ้าง โดยพยายามหา "รูลอด" ช่องกฎหมาย แบบนักกฎหมาย "ศรีธนญชัย" เพราะที่ยกมาอ้างนั้นเป็นเพียงมาตรการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นของบุคคลภายนอกที่ถูกละเมิดเท่านั้น ไม่ได้หมายความตามที่นายปิยบุตรตีความเข้าข้างตัวเอง
ใจความสำคัญของเอกสิทธิ์ ส.ส. ในเรื่องนี้นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 2 บัญญัติชัดเจนว่า “เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดฯ ปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น” และรัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 3 บัญญัติชัดเจนว่า “ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล” และข้อบังคับการประชุมข้อที่ 69 ที่กำหนดว่า ’ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น’ ฉะนั้น ผู้อภิปรายย่อมตระหนักดีว่า การอภิปรายมีการถ่ายทอดทางวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภาอยู่แล้ว จึงไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองให้พูดพาดพิงถึงบุคคลภายนอกและพาดพิงสถาบันฯ โดยไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอื่นได้
ฉะนั้นไม่ว่าจะในกฎหมายแม่บท คือรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับการประชุมก็ไม่มีข้อไหนเปิดช่องให้ทำได้ตามที่นายปิยบุตรพยายามบิดเบือนแต่อย่างใด ซึ่งนายปิยบุตรเองก็คงทราบดีว่านำข้ออ้างดังกล่าวไปอ้างในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่เห็นนายปิยบุตริเสนอตัวเป็นทนายแก้ต่างในคดีมาตรา112 ให้แกนนำม็อบราษฎรเลย เพราะรู้ดีว่าอย่างไรก็ไม่รอด ดังนั้นขอให้นายปิยบุตรหยุดทำตัวเป็น “ทะแนะ” พูดบิดเบือนกฎหมายหลอกประชาชน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |