แก้ รธน.-ตั้ง สสร. เดินหน้าหรือสะดุด?


เพิ่มเพื่อน    

 เส้นทางแก้ 256-ตั้ง ส.ส.ร. จบที่รัฐสภาหรือศาล รธน.?

            จบจากศึกซักฟอก-การอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว  การเมืองเรื่องสำคัญที่ตามมาติดๆ รอบสัปดาห์หน้าในช่วงวันที่ 24-25 ก.พ.ก็คือการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) เพื่อพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช...(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ที่มีสาระสำคัญคือ การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภา ที่มี วิรัช รัตนเศรษฐ เป็นประธานกรรมาธิการ ที่เรียกกันว่า กมธ.ร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.เรียงรายมาตรา ที่เรียกกันว่าการพิจารณาในวาระ 2 จากนั้นหากทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะมีการนัดลงมติครั้งสำคัญวาระ 3 ต่อไปในช่วงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญกลางเดือนมีนาคม

 ขณะเดียวกัน ทางศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้รับคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 9 ก.พ. ที่สมาชิกรัฐสภาร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่าง รธน.สามารถทำได้หรือไม่ โดยตุลาการศาล รธน.ได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 4 มี.ค.ที่จะถึงนี้

                ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม-สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 สรุปประเด็นสำคัญของร่างแก้ไข รธน.ที่ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วม รวมถึงความเห็นส่วนตัวกรณีที่ประชุมร่วมรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไข รธน. หลังถูกวิจารณ์ว่าเป็นดีเลย์แท็กติกในการแก้ไข รธน. โดยย้ำว่ากระบวนการพิจารณาของรัฐสภาที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ในวาระ 2 และ 3 ต่อจากนี้ กับกระบวนการพิจารณาของศาล รธน.แยกจากกัน เพราะรัฐสภาก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ของกรรมาธิการ ในวาระ 2 ช่วง 24-25 ก.พ. ซึ่งหลังการลงมติวาระ 2 แล้ว จะต้องพักไว้ 15 วัน จากนั้นถึงจะมีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติในวาระ 3 ต่อไป ก็ต้องเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เท่าที่ทราบที่มีการวางไว้ก็คือช่วง 17-18 มีนาคม

            ...สำหรับร่างแก้ไข รธน.ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการมี 2 ภาคที่สำคัญ ภาคแรก จุดสำคัญ ตามร่างแก้ไข รธน.คือในมาตรา 3 ว่าด้วยอำนาจเดิมของรัฐสภาในการพิจารณาแก้ไข รธน. ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คนที่ออกแบบระบบ รธน.ฉบับปัจจุบันต้องการให้การแก้ไข รธน.เป็นความเห็นพ้องต้องกันของรัฐสภา ที่เป็นตัวแทนประชาชน อันเป็นการสะท้อนหลักการประชาธิปไตย ที่ให้ปกครองโดยเสียงข้างมาก แต่รับฟังเสียงข้างน้อย เสียงข้างน้อยในรัฐสภาก็คือฝ่ายค้านในสภาและ ส.ว.

...จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า พวกมากลากไป เผด็จการรัฐสภา คือเสียงข้างมากของรัฐสภาหรือเสียงข้างมากของสภา ที่เป็นฝ่ายเลือกรัฐบาลอยู่แล้วก็คือพวกเดียวกัน การออกแบบ รธน.ปี 2560 จึงป้องกันไม่ให้เสียงข้างมากในรัฐสภาพาไปไหนก็ได้ จึงเขียนให้การแก้ไข รธน.วาระแรกต้องมี ส.ว.ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งหากเสียง ส.ว.โหวตเห็นชอบไม่ถึง 1 ใน 3 การแก้ไข รธน.ก็ทำไม่ได้ รวมถึงการโหวตเห็นชอบในวาระ 3 รัฐธรรมนูญก็บัญญัติว่าให้มีฝ่ายค้านลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองฝ่ายค้านรวมกัน ซึ่งก็คือการออกแบบมาเพื่อให้รับฟังเสียงข้างน้อย ไม่ให้เสียงข้างมากลากไปไหนก็ได้ เสียงข้างน้อยไม่ว่าจะน้อยขนาดไหนก็ตามจึงมีผลต่อการแก้ไข รธน. อย่างไรก็ตาม กติกาดังกล่าวในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ฝ่ายการเมืองคือฝ่าย ส.ส.เห็นว่าควรปลดเงื่อนไขนี้ออก เพราะ รธน.ควรแก้ไขได้ ที่เขียนอยู่ปัจจุบันล็อกตายเกินไป บางคนให้ความเห็นว่า เป็นการเอาเสียงข้างน้อยมาปกครองเสียงข้างมาก เพราะหากเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยก็จะแก้อะไรไม่ได้เลย เลยเสนอว่าให้แก้ไขเป็นเสียงเห็นชอบการแก้ไข รธน. ให้เอาเสียงข้างมากของรัฐสภาก็พอ

            "สุดท้ายที่ประชุมกรรมาธิการมีมติให้เขียนในร่างออกมาว่า การแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แต่ก็มีสมาชิกรัฐสภาบางคนที่ยังเห็นว่า ควรเป็น 3 ใน 5 หรือไม่ก็เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งก็พอ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาที่ขอสงวนคำแปรญัตติไว้แล้วแก้ในชั้น กมธ.ไม่สำเร็จ เขาก็ขอสงวนความเห็นเพื่อไปอภิปรายในวาระ 2 ต่อไป"

            ดิเรกฤทธิ์-โฆษกคณะกรรมาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาคที่ 2 ที่เป็นเรื่องสำคัญในร่างของคณะกรรมาธิการ คือเรื่องของการแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่ให้มีหมวดว่าด้วยการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ โดยร่างของคณะกรรมาธิการได้ข้อสรุปให้สมาชิกสภาร่าง รธน.มี 200 คน และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และให้กรอบเวลาการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ภายในไม่เกิน 240 วัน โดยเมื่อ ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.แล้วเสร็จ ให้นำร่าง รธน.ส่งกลับมาที่รัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไป เช่นอภิปรายว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับมาตราใดที่ ส.ส.ร.ร่างขึ้นมา ซึ่งเมื่อมีการประชุมแล้วมีการถ่ายทอดการประชุมออกไป ประชาชนได้ติดตามได้ฟัง จะได้ทราบถึงความเห็น ข้อดี-ข้อเสียต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นประโยชน์ตอนส่งร่าง รธน.ไปให้ประชาชนลงประชามติ 

                -เหตุใด กมธ.เห็นด้วยกับการให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด 200 คน เพราะร่างของพรรคร่วมรัฐบาลก็ให้แค่ 150 คน?

            สาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ในความเห็นผมก็เห็นว่าไม่ใช่ประเด็นเนื้อหาเป็นหลัก แต่เป็นเรื่อง ที่มาของรัฐธรรมนูญ บางคนบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ เป็นรัฐธรรมนูญของ คสช. และการทำประชามติทำในช่วงที่อยู่ในอำนาจเผด็จการถูกดำเนินคดี แสดงออกทางความเห็นโต้แย้งไม่เต็มที่ เลยบอกกันว่ามันไม่แฟร์ เมื่อต้นไม้มันเป็นพิษ รัฐธรรมนูญมันเป็นพิษ คลอดอะไรออกมา ตัวนายกรัฐมนตรีก็ดี ระบบอะไรต่างๆ ก็ดี องค์กรอิสระ ศาล ก็เลยเป็นพิษไปหมด เราจึงต้องแก้ไขปัญหาโดยการตัดต้นไม้แล้วปลูกใหม่เลย

            ...กรรมาธิการจึงเห็นกันว่า ก็ให้ตัวแทนประชาชน 200 คนเข้ามาร่าง รธน.ฉบับใหม่เลย เพราะหากเอาตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้มี ส.ส.ร. 150 คนมาจากการเลือกของประชาชน และอีก 50 คนแยกมาจากฝ่ายต่างๆ เช่น จากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดี ถ้าเป็นแบบนี้ หากได้คนบางกลุ่มเข้ามาแล้วมีกระแสไม่ยอมรับ เช่นบอกว่าคนเหล่านี้จะเข้ามาร่าง รธน.เพื่อให้มีการสืบทอดอำนาจ มีการเข้ามาแฝงตัว ก็จะทำให้ไม่ได้รับการยอมรับอีก เพื่อขจัดปัญหาในจุดนี้ เพราะจะกลายเป็นว่าตีโจทย์ไม่แตกเรื่องต้นไม้พิษ ผลไม้พิษ จนทำให้ รธน.ไม่ได้รับการยอมรับ

ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการก็เลยให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 200 คนโดยตรงไปเลย รวมถึงการให้คณะกรรมการยกร่าง รธน.มาจาก ส.ส.ร.เท่านั้น

                -กรอบยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ที่ให้เวลา ส.ส.ร. 240 วัน ถือว่านานเกินไปหรือไม่?

            สมาชิกสภาร่าง รธน.ต้องไปพิจารณาทุกเรื่อง เช่น เรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ กลไกตามรัฐธรรมนูญต่างๆ เช่น การใช้อำนาจของศาลต่าง ที่เป็นอำนาจอธิปไตยจะให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างไร โดยแต่ละเรื่องต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชน จึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการยกร่าง ถามว่าอยากให้การร่าง รธน.เสร็จเร็วหรือไม่ ก็อยากให้เสร็จเร็ว แต่หากให้เวลาน้อยเกินไป หากเกิดว่า ส.ส.ร.ยกร่างไม่เสร็จภายในกรอบเวลา จะทำให้การร่าง รธน.ตกไป จะเป็นการไปบีบตัวแทนประชาชนเกินไปหรือไม่ หรือรีบทำๆ แต่ไม่มีคุณภาพ แบบนั้นจะน่าเสียดายมากกว่าหรือไม่ แต่หากวางกรอบเวลาไว้ 240 วัน แต่หากเขายกร่างเสร็จภายใน 180 วันหรือไม่ ก็ย่อมทำได้ กรรมาธิการมีการหารือกันก็เห็นว่า การกำหนดกรอบเวลาในการร่าง รธน.แบบเร่งรัดเกินไปจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะจะไปบีบเวลาการทำงานของ ส.ส.ร.มากเกินไป เพราะหากทำออกมาแล้วไม่มีคุณภาพมันจะยุ่ง กรอบเวลา 240 วันในการร่าง รธน. ของ ส.ส.ร.ผมก็เห็นว่าไม่ได้ยาวเกินไป

                -การที่ศาล รธน.รับคำร้อง ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขมาตรา 256 ไว้วินิจฉัย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีผลต่อการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ของรัฐสภาในการโหวตวาระ 2 และ 3 หรือไม่?

                การรับคำร้องดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่คาดการณ์ได้ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ที่เวลาศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็ต้องนำข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรัฐสภาในประเด็นที่มีการยื่นเป็นญัตติที่มีรายละเอียดและเหตุผลในการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ที่มีการอ้างอิงถึงแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ส่วนประเด็นที่ศาลต้องหาเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องของผู้เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และความคิดเห็นทางวิชาการและกฎหมายมหาชน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องก็มี 4 คนตามที่ศาล รธน.ได้ขอให้ส่งเอกสารความเห็นมายังศาล รธน. (มีชัย ฤชุพันธุ์, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, สมคิด เลิศไพฑูรย์, อุดม รัฐอมฤต) ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริง ความคิดเห็นต่างๆ ครบถ้วน จนเห็นว่าไม่มีข้อเท็จจริงอื่นเพิ่มเติม ก็สามารถวินิจฉัยได้เร็ว โดยหากวินิจฉัยได้เร็ว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐสภา อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของรัฐสภาในวาระสอง 24-25 ก.พ. ที่จะพิจารณาร่างของคณะกรรมาธิการก็จะดำเนินต่อไป พอจบจากวาระ 2 ก็ต้องเว้นไว้ 15 วัน ซึ่งอย่างเร็วก็คือจะมาประชุมรัฐสภาอีกครั้งกลางเดือนมีนาคม

ซึ่งถ้าจะเป็นประโยชน์ ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถวินิจฉัยออกมาก่อนการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ โดยหากศาลวินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไข รธน.ทำไม่ได้ เราก็จะได้มาทบทวนทำให้ถูกต้องกันใหม่ อาจจะแก้ญัตติหรือยื่นญัตติใหม่ เราก็จะได้ไม่ต้องไปเดินทางผิด แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำได้ การพิจารณาก็จะทำได้อย่างสบายใจ การดำเนินการต่อไปก็จะมีความชัดเจน

                -ถ้ารัฐสภาโหวตวาระสามไปแล้ว แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยย้อนหลังออกมา?

            ก็ต้องดูว่า ณ เวลานั้นมีการทำอะไรไปแล้ว ถ้าชอบด้วยกฎหมายก็ทำต่อ ถ้าไม่ชอบก็ต้องหยุด ก็คือเดินต่อไปไม่ได้ ไม่ต้องมีการเลือก ส.ส.ร.แล้วก็กลับมาคุยกันที่รัฐสภา ถ้ายังอยากแก้ไข รธน.ต่อจริงก็เสนอเข้ามา แล้วมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภารับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อไปประมวลความเห็นประชาชนมาเสนอต่อรัฐสภาก็ได้แล้วแต่ ทำได้ทั้งนั้น ต้องดูแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ก็คงมีคำชี้แนะมา  เช่นผิดหรือไม่ผิด หากวินิจฉัยว่าไม่ผิดก็แล้วไป แต่หากวินิจฉัยว่าผิด ก็ต้องดูว่าผิดเพราะอะไร ซึ่งหากโดยที่เรายังไม่แน่ใจ แล้วไปลงทุนกับค่าใช้จ่ายต่างๆ อะไรที่จะเกิดขึ้นอีกเยอะแยะมันอาจจะสูญเปล่า ถามว่าเราอยากตัดสินด้วยตัวเองไหม ก็อยากตัดสินด้วยรัฐสภาเองจะได้ไม่มีปัญหา  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้เราตัดสินเอง รัฐธรรมนูญให้หน่วยงานอื่นมาตรวจสอบเรา ไม่ใช่ว่าเราเป็นตัวแทนประชาชนแล้วจะทำได้ทุกอย่าง-ก็ไม่ได้ สิ่งนี้คือการปกป้องสิทธิของประชาชนที่มอบอำนาจให้ โดยต้องมีขอบเขต ต้องถูกตรวจสอบ

ทางออกหากแก้ 256 ตั้ง ส.ส.ร.สะดุ?

            ทั้งนี้ ดิเรกฤทธิ์-สมาชิกวุฒิสภา คือหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อในญัตติและร่วมออกเสียงเห็นด้วยให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาล รธน.เพื่อให้วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไข รธน.มาตรา 256 โดย ส.ว.-ดิเรกฤทธิ์ ให้ความเห็นว่า การแก้ไข รธน.ที่มีการเสนอญัตติให้รัฐสภาเห็นชอบวาระแรกเมื่อช่วงเดือน พ.ย.63 พบว่าสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มีความเห็นออกเป็นสองส่วน คือมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไข รธน.

...ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่าที่ผ่านมาทุกอย่างมันดีอยู่แล้วและกำลังเดินไปได้ด้วยดี เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการนำปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตมายกร่าง รธน.ให้สอดคล้องกับสังคมไทย เพียงแต่ก็มีบางคนไม่ยอมรับในประเด็นต่างๆ เช่น คนที่ร่างรัฐธรรมนูญ-บรรยากาศการลงประชามติที่บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เลยต้องการแก้ไขเท่านั้นเองโดยไม่ได้ดูเนื้อหาเลย ก็โอเค เราก็คล้อยตาม  อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกพวกหนึ่งก็อยู่กลางๆ ผมก็อยู่กลางๆ  คือเห็นว่ารัฐธรรมนูญก็ควรแก้ไขได้ และหากแก้ก็ต้องแก้ให้สอดคล้องกับสังคมไทย แต่ผมเป็นนักกฎหมายมหาชน  ประวัติผมก็คลุกคลีกับเรื่องเหล่านี้มาก่อน เราเห็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนใน รธน.ฉบับปัจจุบันที่ปรากฏในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องดูอย่างเคร่งครัดเพราะอำนาจของมหาชนเราจะทำอะไรตามใจไม่ได้ โดยเมื่อพิจารณามาตรา 255 และ 256 ประกอบกัน รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้

...อย่างมาตรา 255 บัญญัติว่า "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้" ส่วนมาตรา 256 ให้แก้ไข รธน.ในเรื่องอื่นๆ ได้ถ้าไม่กระทบมาตรา 255 อีกทั้งมาตรา 256 ก็ได้บัญญัติวิธีการแก้ไข รธน.เอาไว้ แต่เป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.เท่านั้นเอง ไม่ได้พูดถึงการให้มี รธน.ใหม่ทั้งฉบับ เมื่อรัฐสภายังมีอำนาจแค่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐสภาจะไปมอบอำนาจให้คนอีกคนหนึ่ง ส.ส.ร.ตอนนี้ยังอยู่ในอากาศ แต่ ส.ส.ร.จะมีอำนาจได้ ก็ต้องให้รัฐสภามอบอำนาจ โดยมีการไปแก้ไข รธน.แล้วเขียนออกมาให้ ส.ส.ร.มีอำนาจ แล้วถามว่าองค์กรใหม่ (ส.ส.ร.) จะมีอำนาจมากกว่าตัวเอง (รัฐสภา) ได้ยังไง

                “ขนาดรัฐสภาได้แค่แก้ไขรายมาตรา แล้ว ส.ส.ร.จะไปแก้อะไรทั้งฉบับได้ยังไง ตรงนี้ก็มีเหตุผลอยู่ ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับถาวรทั้งหลายส่วนใหญ่ก็จะไม่บอกวิธีแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้มาล้มรัฐธรรมนูญตัวเอง  เพราะไม่อย่างนั้น มาล้มได้ง่าย ทำเรื่อยๆ บ้านเมืองไม่มีหลักเลย

...เมื่อ รธน.เขียนแบบนี้ เราเป็น ส.ว.ที่คอยกลั่นกรองให้ข้อคิดเห็นเรื่องเหล่านี้ แล้วจะมาเมินเฉยได้หรือ โดยบอกว่า รธน.เขียนแบบนี้ก็จริง แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ให้แก้ไข รธน.ทั้งฉบับ เราก็เอาตามเสียงส่วนใหญ่ไป โดยเราไม่ทักท้วง ทำได้ไหม ก็ตอบว่าไม่ได้ เราก็เห็นข้อเท็จจริงแล้วว่าตอนร่างแก้ไข รธน.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาวาระแรก มีคนอภิปรายคัดค้านหลายคน ส.ว.เองก็มีจำนวนมาก  อภิปรายกันแบบมีเหตุมีผลทั้งสิ้น และแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2555 บอกไว้ชัดว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจ  แต่หากรัฐสภาจะดื้อทำ ให้ไปถามประชาชนก่อน โยนไปหาอำนาจสูงสุด ไปถามประชาชนว่าให้ทำได้หรือไม่ เป็นที่มาของการให้ทำประชามติก่อน คนที่ค้านว่าจะมาแก้ไข รธน.เพื่อนำไปสู่การร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับทำไม่ได้ แต่ผู้เสนอร่างแก้ไข รธน.และเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาบอกว่าทำได้ คำถามก็คือแล้วจะหาข้อยุติกันอย่างไร หลักกฎหมายบอกว่าไม่มีองค์กรใดที่ใช้อำนาจประชาชนจะไม่ถูกตรวจสอบ รัฐสภาเองจะทำอะไรตามใจชอบก็ไม่ได้ มีระบบตรวจสอบอยู่ ไม่ใช่รัฐสภาจะตัดสินได้ทุกอย่าง ทำตามอำเภอใจได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็เข้าสู่หลักเผด็จการรัฐสภา หลักประชาธิปไตยคือทุกอำนาจต้องถูกตรวจสอบได้

            ดิเรกฤทธิ์-ส.ว. กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ผมก็เห็นว่าเถียงกันให้ตายก็ไม่จบ จะใช้เสียงข้างมากก็ไม่ได้ เมื่อหาข้อยุติไม่ได้ในรัฐสภา ก็มีรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินได้ ชี้ได้ว่ามันถูกหรือไม่ถูก ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การส่งเรื่องไปยังศาล รธน.ไม่ใช่การเตะถ่วง เป็นเรื่องของการทำให้เกิดความถูกต้องชัดเจน ในเมื่อเราอยู่ในรัฐสภา มีช่องทางให้เราหารือได้  ทำไมเราไม่ทำให้มันถูก ทำไมเราจะไม่ส่งเรื่องไปหารือศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเราอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ โดยการหารือแต่แรกเพื่อไม่ให้คนไปร้องทีหลัง แล้วศาลรัฐธรรมนูญออกมาชี้ภายหลัง การไปหยุดกระบวนการทีหลังเสียหายน้อยกว่า เพราะยังไงก็เป็นการกระทำที่ทำไปแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญชี้เร็วมันก็เป็นประโยชน์มากกว่า

            ...สำหรับมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่โหวตเห็นชอบให้ส่งศาล รธน. 366 เสียง มองว่าพรรคการเมืองหลายพรรคได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนมีการยกร่างแก้ไข รธน.ออกมาแล้ว เขาก็ไม่เห็นด้วยที่จะส่งศาล รธน.เพราะอยากให้เดินต่อไป ซึ่งผมมองว่าแบบนั้นมันอันตรายมากกว่า แต่ก็เคารพความเห็นของเขา อย่างเขาบอกว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะมีการยกเว้นไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 จึงย่อมแสดงให้เห็นว่าไม่ได้แก้ไข รธน.ทั้งฉบับ จึงไม่ขัด รธน. เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว หรือเมื่อรัฐสภาแก้ 256 เสร็จแล้ว ก็ยังต้องไปถามประชามติ เขาก็บอกว่ามันก็เข้าเงื่อนไขที่ศาล รธน. เคยมีคำวินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้ ว่าหากจะแก้ไข รธน.จริงๆ ให้ทำประชามติ แต่ความเห็นผมที่ดูตามลายลักษณ์อักษรผมเห็นว่าขัด รธน. และการยื่นเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย ไม่ทำให้กระบวนการรัฐสภาต้องหยุดชะงัก มีแต่ทำให้เกิดความชัดเจน 

            การส่งเรื่องให้ศาล รธน.ไม่ใช่การดีเลย์แท็กติก แต่ทำให้เกิดความชัดเจนและทำให้เกิดความชอบธรรมมากที่สุด  เพราะเมื่อทำแบบนี้แล้วทุกคนที่เกี่ยวข้องจะสบายใจ ตอนประชุมร่วมรัฐสภาโหวตวาระ 2 และวาระ 3 จะได้รับเสียงสนับสนุนมากมาย ส.ว.ที่เคยไม่เห็นด้วย เคยไม่แน่ใจ ก็จะเกิดความแน่ใจ แต่หากไม่ส่งเรื่องไปยังศาล รธน. คิดว่าข้อกังวลมันยังคงอยู่ เพราะหากวาระ 3 ถ้ามีการลงมติเห็นชอบจนผ่านไปแล้ว มีการไปรับสมัครคัดเลือก ส.ส.ร.แล้ว หากมีคนไปร้องต่อศาล รธน. ซึ่งหากศาลชี้ว่าที่ทำมาขัด รธน. กระบวนการที่ทำจะเสียหายเยอะ ถ้าเป็นแบบนั้นไม่เอาเสียดีกว่า ไม่ต้องผ่านเลยก็ได้ เพราะหากมีปัญหาอะไร ก็เสนอแก้ไข รธน.รายมาตราได้อยู่แล้ว รธน.ฉบับปัจจุบันมีอยู่ 279 มาตรา หากจะเสนอแก้ไขก็เสนอแก้ได้ อะไรที่เป็นปัญหา แก้ไปแล้วประชาชนได้ประโยชน์ ก็เสนอมา  ถามว่าใครจะไปคัดค้านหากเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน

                -ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเช่นฝ่ายค้าน ก็เกรงกันว่าหากสุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกล้มกระดานทั้งหมด จนอาจทำให้เกิดสภาวะวิกฤติรัฐธรรมนูญ ทำให้ม็อบกลับมาอีกครั้งหลังเงียบหายไปนาน อาจเกิดเหตุเผชิญหน้าแบบเมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.พ.ที่บริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวง?

                ผมว่าอยู่ที่เจตนาและความเข้าใจ ผมวิงวอนให้นักการเมืองที่เกี่ยวข้องทุกคนร่วมมือกันทำเรื่องนี้ ยืนยันไม่ใช่การหยุดยั้ง ไม่ใช่การเตะถ่วง แต่เป็นการทำให้เกิดความชอบธรรม เป็นการที่ต้องเคารพกติกาประชาธิปไตย เคารพคนอื่น ถ้าเราไม่เคารพคนอื่นแล้วไปเที่ยวเรียกร้องให้คนอื่นมาเคารพเรา ฟังเสียงเรา ประชาธิปไตยจะเกิดได้หรือไม่ การแก้ไข รธน.ต้องการความเห็นพ้อง ความเข้าใจ ไม่ใช่การแก้ไขด้วยความขัดแย้ง ไม่ใช่การแก้ไขด้วยพลังมวลชน หรือเอาความคิดของคนฝ่ายเดียวเพื่อเอาชนะฝ่ายอื่น แต่ควรต้องฟังความคิดเห็นของกันและกันด้วย แน่นอนว่าหนทางการเปลี่ยนแปลงย่อมถูกใจหรือไม่ถูกใจกันบ้าง อาจมีขมขื่น ดีใจบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับคนอื่นด้วย ถ้าแบบนี้บ้านเมืองก็จะไม่ลุกเป็นไฟ ถ้าคนที่เกี่ยวข้องยอมรับกติกา เมื่อเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็รอฟังผลคำวินิจฉัย.

                                                            โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"