สภาคือสะพาน


เพิ่มเพื่อน    

         เอาจนได้

            การประชุมสภาวานนี้ มีการอภิปรายพาดพิงไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

            ก็เป็นลูกเล่นของ นายรังสิมันต์ ที่บอกว่าไม่ได้พาดพิง

            แค่กล่าวถึงหน่วยงานราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

            และการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ได้พูดในเชิงเสียหาย

            แต่.....

            การอภิปรายตบท้ายของนายรังสิมันต์ ได้เปลือยแนวคิดในการอภิปรายได้ทั้งหมดว่า ส.ส.คนนี้คิดอะไรและโจมตีใคร

                "ในการทำหน้าที่ ส.ส. ผมรู้ว่าครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่อันตรายที่สุดในชีวิต

                แต่เมื่อประชาชนเลือกมาแล้วก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่

                ผมไม่รู้ว่าผลจากการทำหน้าที่ในวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ไม่รู้ว่า ๓ วันข้างหน้ามีอะไรรออยู่ ไม่รู้ว่า ๓ เดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น จะยังพูดแทนประชาชนได้หรือไม่

                แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมก็ไม่เสียใจที่ได้ทำหน้าที่ของผมในวันนี้"

            หมายความว่าอะไร?

            ในอดีตมี ส.ส.อภิปรายโจมตี ประจานรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี มานักต่อนักแล้ว

            บางรัฐบาลต้องยุบสภาหนี

            หลายรัฐบาลต้องปรับ ครม.เพื่อต่ออายุรัฐบาล

            แต่ไม่เห็นมีใครต้องหวาดผวาว่าอีก ๓ วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต

            ยกเว้นกรณี "ฆ่าชิปปิ้งหมู" หรือ นายกรเทพ วิริยะ ที่เชียงราย

            คดีนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

            เหตุเกิดหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี ๒๕๔๕ เสร็จสิ้นลง

            ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นผลสืบเนื่องจากการซักฟอกประเด็นสงครามยาเสพติด

            ถ้าไม่นับกรณีนี้ หากการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการทำหน้าที่ที่อันตรายที่สุดในชีวิต อภิปรายจบคงมีการจัดงานศพ ส.ส.กันเกลื่อนครับ

            การซักฟอกรัฐบาลทุกครั้งจบคือจบ 

            การเมืองเดินหน้าต่อ

            ฉะนั้นสิ่งที่นายรังสิมันต์ต้องการสื่อออกมา ไม่ใช่การเมืองของนักการเมือง

            เป็นความพยายาม สร้างความเข้าใจผิด ให้ประชาชนเห็นว่าการอภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งอันตราย

            แน่นอน นายรังสิมันต์ไม่ได้พูดโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง

            แต่การตบท้ายว่าชีวิตอาจไม่รอด คือเจตนาที่แท้จริงของนายรังสิมันต์

            แน่นอน...มีจุดประสงค์อื่น

            มีความกังวลก่อนหน้านี้ถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีเนื้อหานำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง

            เมื่อฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะแก้ไขญัตติ สิ่งที่นายรังสิมันต์อภิปรายจึงถูกนำไปบิดเบือนขยายความต่อในหมู่ขบวนการล้มล้างสถาบัน

            อย่าไปถามหาความรับผิดชอบในเรื่องนี้กับพรรคเพื่อไทย เพราะถูกพรรคก้าวไกลเหยียบหัวไปนานแล้ว

            "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ยังไม่ยอมพูดเรื่อง แกนนำ ๓  นิ้ว ๔ คนติดคุก แต่ออกมาโหนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแทน

            โพสต์เฟซบุ๊กไว้ตามนี้ครับ

                ....."การอภิปรายพูดถึงบุคคลภายนอกในสภาผู้แทนราษฎรกระทำได้" ระบุว่า การอภิปรายพูดถึงบุคคลภายนอกในสภาผู้แทนราษฎรกระทำได้ ต่อให้พูดแล้วบุคคลเสียหายก็ยังทำได้

                เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๔ วรรค ๓ และข้อบังคับการประชุมสภาข้อ ๓๙ กำหนดไว้ชัดเจนว่า “บุคคลภายนอกผู้เสียหายมีสิทธิขอเข้ามาชี้แจงได้ภายใน ๓ เดือน และมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้”

                ในอดีต ส.ส.ฝ่ายค้านมักอภิปรายถึงบุคคลภายนอก  ในกรณีที่บุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีซึ่งถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ การกล่าวถึงจึงเป็นเรื่องปกติ โดยมีกรณีที่การกล่าวถึงบุคคลภายนอกนั้น ถูกพูดถึงได้ และส่งผลถึงขั้นทำให้รัฐบาลต้องยุบสภา

                เช่น ในกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล วันที่ ๒๙  กันยายน ๒๕๓๙ โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำรัฐบาล  ประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีการอภิปรายถล่ม สุชาติ  ตันเจริญ และ “กลุ่ม ๑๖" ข้อกล่าวหาที่ถูกตั้งไว้คือ กรณีเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน)

                โดยพูดถึงคนนอก ทั้งธนาคาร ทั้งกรรมการผู้จัดการ  ส่งผลสะเทือนให้รัฐบาลพรรคชาติไทยตัดสินใจยุบสภาในเวลาต่อมา และทำให้ประชาชนไปถอนเงินจากธนาคารเพราะมีความไม่น่าเชื่อถือ การอภิปรายครั้งนั้นเป็นการพูดถึงบุคคลภายนอกอย่างชัดเจน

                นอกจากนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทย มีการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์กันโดยตลอด ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เพิ่งมายุคนี้ที่ประท้วงกันมากจนน่าสงสัย ดูบันทึกเอกสารการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องสถาบันฯ ได้อย่างตรงไปตรงมา ได้ที่นี่

                ดังนั้น การอภิปรายถึงบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อประโยชน์ของการรักษาผลประโยชน์ชาติ ย่อมทำได้ และยิ่งต้องทำด้วย และผู้อภิปรายต้องรับผิดชอบในการอภิปรายของตนเอง".....

            "ปิยบุตร" เสนอให้ยกเลิก ม.๑๑๒ ไม่ใช่แก้ไขนะครับ  เสนอให้ยกเลิก ออกมาแสดงความเห็นว่าสามารถพาดพิงสถาบันในญัตติซักฟอกรัฐบาลได้ โดยอ้างการกล่าวถึงบุคคลภายนอกในอดีต     

            หากประเทศไทยมีนักกฎหมายแบบนี้เยอะๆ ฉิบหายครับ

            การอ้าง รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๔ วรรค ๓ และข้อบังคับการประชุมสภาข้อ ๓๙ นั่นไม่ผิด แต่อ้างไม่หมด

            ข้อบังคับการประชุมสภาข้อ ๓๙ นั้นเกิดขึ้นหลัง            ข้อ ๖๙ ที่กำหนดว่า

            "การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามไม่ให้นำเอกสารใดๆ มาอ่านให้ที่ประชุมฟัง โดยไม่จำเป็น และห้ามไม่ให้นำวัตถุใดๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะอนุญาต ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น"

            แต่เมื่อพาดพิงไปแล้ว และเกิดความเสียหาย ก็นำไปสู่ข้อ ๓๙ 

            และข้อ ๓๙ ไม่ใช่การอนุญาตให้ใช้สภาด่าคนนอก

            "...ในกรณีที่สมาชิกกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น อันอาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกได้รับความเสียหาย บุคคลนั้นมีสิทธิร้องขอต่อประธานสภาภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่มีการประชุมครั้งนั้น เพื่อให้มีการโฆษณาคำชี้แจง การยื่นคำร้องต้องทำเป็นหนังสือพร้อมคำชี้แจงประกอบข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนและอยู่ในประเด็นที่ผู้ร้องอ้างว่าก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น..."

            หมายถึงเมื่อพลาดไปแล้ว ก็ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาข้อ ๓๙ 

            การซักฟอก กรณี แบงก์บีบีซี ในอดีต เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกมากมาย เพราะเนื้อหาทุจริตเกี่ยวเนื่องไปถึง

            และประธานในที่ประชุมคือผู้วินิจฉัยว่าให้พาดพิงได้

            เหมือนกรณี "หมอวรงค์" ลากไส้ขบวนการโกงจำนำข้าว ที่ลากคนนอกสภาติดคุกหลายคน

            แต่การอภิปรายของนายรังสิมันต์ มาจากมโนว่าคนนอกสภาเข้าไปเกี่ยวข้อง สาเหตุเพียงเพราะอคติที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

            สรุปคือในคำอภิปรายของนายรังสิมันต์ ต้องไปพิสูจน์ว่าผิด ม.๑๑๒ หรือไม่

            แต่คนกลุ่มนี้อยากให้แก้ ม.๑๑๒ หรือยกเลิกไปเลย

            ถ้าทำสำเร็จคิดหรือว่า สภาจะไม่ถูกนำมาเป็นเวทีล้มล้างสถาบัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"