องค์การนาซาของสหรัฐประสบความสำเร็จในการส่งยานสำรวจ "เพอร์เซเวียแรนซ์" ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อวันพฤหัสบดี หลังจากใช้เวลาเดินทางจากโลกนาน 7 เดือน เตรียมเริ่มภารกิจค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในอดีตบนดาวเคราะห์เพื่อนบ้านของโลกดวงนี้
ภาพจากนาซา ทีมงานในห้องควบคุมภารกิจมองดูภาพพื้นผิวดาวอังคารชุดแรกที่ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ส่งกลับมายังโลกเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 (Photo by Bill Ingalls/NASA via Getty Images)
ข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) เป็นห้องปฏิบัติการทดลองชีวดาราศาสตร์ที่ก้าวหน้าที่สุดที่มนุษย์ส่งไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่น ยานหุ่นยนต์สำรวจตัวนี้ถูกส่งขึ้นไปเมื่อ 7 เดือนก่อน โดยเดินทางเป็นระยะทาง 472 ล้านกิโลเมตร ก่อนจะพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศของดาวอังคารด้วยความเร็ว 19,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อลงสู่พื้นผิวของดาวแดงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ตามเวลาสหรัฐ
บรรดาผู้จัดการภารกิจนี้ที่ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (เจพีแอล) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ต่างเฝ้าลุ้นระทึกว่ายานลำนี้จะรอดพ้นช่วงเวลาวิกฤติ 7 นาทีแห่งความหวาดหวั่นของการลงสู่พื้นผิวดาวอังคารหรือไม่ และทันทีที่คลื่นวิทยุส่งสัญญาณกลับมาถึงโลก พวกเขาพากันโห่ร้องปรบมือหรือชูกำปั้นด้วยความดีใจ
"ยืนยัน ทัชดาวน์แล้ว" สวาตี โมฮัน ผู้นำปฏิบัติการนี้ประกาศในห้องควบคุมเมื่อเวลา 15.55 น.ตามเวลาท้องถิ่นฝั่งตะวันออกของสหรัฐ "เพอร์เซเวียแรนซ์ปลอดภัยบนพื้นผิวของดาวอังคาร"
เนื่องจากความล่าช้า 11 นาที กว่าที่คลื่นวิทยุที่ส่งจากดาวเทียมหลายดวงที่โคจรรอบดาวอังคารจะเดินทางจากดาวแดงมายังโลก ช่วงเวลาที่สัญญาณมาถึงโลกนั้น ยานหุ่นยนต์ 6 ล้อขนาดรถเอสยูวีลำนี้แตะพื้นผิวดาวเรียบร้อยแล้วและเริ่มต้นถ่ายภาพบริเวณนั้น แล้วส่งภาพขาว-ดำหลายภาพกลับมา ภาพหนึ่งเห็นเงาของยานหุ่นยนต์ทาบบนพื้นแห้งแล้งที่เต็มไปด้วยก้อนหิน
จุดที่ยานลงจอดคือบริเวณปล่องเจเซโร ที่เชื่อว่าเคยเป็นก้นทะเลสาบที่อันตรธานไปนานมากแล้ว จุดที่ยานหยุดอยู่นี้อยู่ห่างราว 2 กิโลเมตรจากหน้าผาสูงตรงปลายของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำรูปพัดที่หลงเหลืออยู่ในมุมหนึ่งของปากปล่องภูเขาไฟลูกนี้เมื่อ 3,500 ล้านปีก่อน และถือเป็นจุดที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาชีวภูมิศาสตร์บนดาวอังคาร
ในอีกหลายปีนับจากนี้ เพอร์เซเวียแรนซ์ ที่เดินทางไปพร้อมกับโดรนเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กซึ่งมีชื่อเรียกว่า อินเจนูอิตี (Ingenuity) จะรวบรวมตัวอย่างดินและหินเก็บใส่ท่อปิดผนึก ซึ่งจะส่งกลับมายังโลกภายในทศวรรษปี 2030 เพื่อวิเคราะห์ในห้องแล็บหาสัญญาณของจุลชีพดึกดำบรรพ์ในรูปฟอสซิลที่อาจมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารเมื่อราว 3,000 ล้านปีก่อน เมื่อดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ของระบบสุริยะดวงนี้ยังมีความอบอุ่นกว่านี้ เปียกชื้นกว่านี้ และมีสภาพที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
เพอร์เซเวียแรนซ์เป็นยานหุ่นยนต์สำรวจลำที่ 5 ที่แล่นบนพื้นผิวของดาวอังคาร ทั้งหมดเป็นยานของนาซา โดยยานลำแรกที่ทำสำเร็จคือเมื่อปี 2550 ส่วนลำล่าสุดก่อนหน้านี้คือยานคิวริออสซิตี (Curiosity) ที่ลงจอดเมื่อปี 2555 และยังปฏิบัติงานอยู่ นอกจากยานหุ่นยนต์ นาซายังเพิ่งส่งยานสำรวจอินไซต์ (InSight) ที่เป็นยานลงจอดอยู่ประจำที่ ไปดาวอังคารเมื่อปี 2561 เพื่อศึกษาโครงสร้างส่วนลึกของดาวอังคาร
สหรัฐยังกำลังเตรียมแผนสำหรับภารกิจส่งมนุษย์ไปดาวอังคารในท้ายที่สุด ภายในทศวรรษ 2030 ถึงแม้ว่าแผนนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |