ยุคดิจิทัลศตวรรษที่ 21 สถิติคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือ 49.7 ล้านคน หรือ 78.8% กลุ่มไม่อ่านหนังสือ 13.7 ล้านคน หรือ 21% อ้างไม่สนใจการอ่าน สสส.-ภาคีแผนการอ่านฯ ทั่วประเทศ ชวนอ่านสร้างสุข อยู่บ้าน ต้านโควิด-19 ดึงพ่อแม่-คนใกล้ชิดเด็กเล็กใช้พลังการอ่าน การเล่น ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เสริมทักษะชีวิตในภาวะโลกวิกฤติเพื่อสุขภาวะ พัฒนาศักยภาพ สร้างกระบวนการเรียนรู้
(ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม)
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน กลุ่มที่ไม่อ่านมีร้อยละ 21.2 คิดเป็นจำนวนประชากร 13.7 ล้านคน เหตุผลคือ ไม่ชอบ ไม่สนใจการอ่าน ในยุคดิจิทัลศตวรรษที่ 21 และตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่
สสส.ร่วมสานพลังภาคีการอ่านทั่วประเทศ จัดกิจกรรมพิเศษ “อ่านสร้างสุข อยู่บ้าน ต้านโควิด-19” ส่งเสริมการรักการอ่านในกลุ่มเด็กเล็กผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่องทางเฟซบุ๊ก โดยให้ความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีความเข้าใจจนเกิดการทดลองปฏิบัติในเรื่องการอ่าน เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพสมองและกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างทักษะชีวิตกลุ่มเด็กเล็กในอนาคต
“องค์การอนามัยโลกได้แนะนำพ่อแม่และผู้ปกครองควบคุมเวลาหน้าจอสำหรับเด็กไว้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ควรอยู่หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือจอโทรทัศน์ เด็กอายุ 2-4 ปีไม่ควรใช้เวลาอยู่หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมง การเล่านิทานให้เด็กฟังเป็นประจำจะช่วยทำให้เด็กรักการอ่าน ไม่มีพฤติกรรมติดจอ และการอ่านยังมีส่วนสัมพันธ์ต่อการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ทั้งการเรียน การใช้ชีวิต และด้านสุขภาพ ซึ่งคนใกล้ชิดเด็กสามารถอ่านหนังสือให้เด็กฟังได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือแม้กระทั่งเมื่อเด็กอยู่ในท้อง ทุกภาคส่วนจึงต้องสานพลัง ช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้และทำความเข้าใจ เพราะการแก้ไขเรื่องการอ่านไม่ได้อยู่แค่ในระดับองค์กร ต้องให้ความรู้ตั้งแต่ระดับครัวเรือน” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
(สุดใจ พรหมเกิด)
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาอีกครั้ง ทำให้มีผลกระทบเกิดขึ้น ทั้งการประกาศปิดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน ทำให้เด็กๆ ที่หยุดอยู่บ้าน ขาดกระบวนการเรียนรู้และการสร้างเสริมศักยภาพที่จำเป็น ลดลงจากเดิม 20-30% และผลกระทบของพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กในการใช้ชีวิตและการทำงาน การส่งเสริมการอ่านและการเล่นสามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้อย่างรอบด้าน ทั้งทักษะเท่าทันสื่อ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทักษะป้องกันตนเองจากโควิด-19 ดังนั้นแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับภาคีอ่านยกกำลังสุขทั่วประเทศ และเครือข่ายพลังอ่านชายแดน จึงจะได้จัดกิจกรรมพิเศษ “อ่านสร้างสุข อยู่บ้าน ต้านโควิด-19” เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ทางออนไลน์ที่มีรูปแบบหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ทุกภูมิภาค
“นิทานมีภาพประกอบที่ช่วยเสริมจินตนาการ เกิดทักษะในการคิด วิเคราะห์ ตีความ มีการใช้ศัพท์ที่ง่าย ทำให้เด็กเข้าใจและรักการอ่าน เพียงแค่เริ่มใช้เสียงในการอ่านหนังสือนิทาน และการปฏิสัมพันธ์กับเด็กในครอบครัว ให้เด็กได้เข้าใจและเปล่งเสียงออกมา จะช่วยพัฒนาทักษะด้านการพูด การอ่าน สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆ ได้ในอนาคต นำไปสู่การสร้างพลังพลเมืองที่ตื่นรู้ ก้าวสู่สังคมที่เปลี่ยนแปลง หวังว่ากิจกรรมพิเศษ “อ่านสร้างสุข อยู่บ้าน ต้านโควิด-19” จะช่วยเป็นแนวทางให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กได้นำทักษะการเล่านิทาน การเล่นเกมไปใช้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ได้อย่างสะดวกมากขึ้น” นางสุดใจกล่าว
สำหรับการจัดกิจกรรมพิเศษ “อ่านสร้างสุข อยู่บ้าน ต้านโควิด-19” จะมีทุกวันศุกร์ เวลา 18.00-19.00 น. ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อ่านยกกำลังสุข” ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ครอบครัวและผู้ดูแลเด็กที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.happyreading.in.th
อนึ่ง สถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย (0-5 ปี) ในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น เด็กปฐมวัย 1 ใน 3 ของเด็กเล็กในประเทศมีพัฒนาการล่าช้า ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก พัฒนาการภาษาล่าช้าถึง 20% พัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้าสังคมอีก 5% พัฒนาการทั้งสองด้านจะมีผลต่อระดับสติปัญญา ทำให้ส่งผลต่อการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ดังนั้นความรัก ความเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการที่ดีให้กับลูก ซึ่งพ่อแม่ทุกคนทำได้โดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ รอบตัวเรา.
Happy reading
อ่านสร้างสุข อยู่บ้าน ต้านโควิด-19 มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย และอ่านสร้างสุข #Read Aloud #มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน #อ่านหนังสือออนไลน์ได้ที่นี่ค่ะ www.happyreading.in.th
มอบความรัก ความห่วงใย “ด้วยหนังสือ” บอกรักด้วยหนังสือ
หนังสือแนะนำ วิ่งสู้ชีวิตใหม่ฉบับการ์ตูน ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เขียนแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เรื่องหอยชักตีน นักเดินทางตัวจิ๋ว กลุ่มละครมาหยา สโมสรลูกปูดำ อ่านสร้างสุข ๒๙:วรรณกรรมยาใจ มหัศจรรย์แห่งการอ่าน อลิศในวันมหัศจรรย์ เม่นน้อยหลงทาง นางฟ้ากับแม่มด ของใหม่เพื่อนเก่า
(9 เทคนิคปลูกฝังลูกรักการอ่าน)
อ่านหนังสือกับลูก
การอ่านคือการเปิดโลกของความสุข และโลกของการเรียนรู้ที่มีมากมายไม่รู้จบ ถ้าลูกมีนิสัยรักการอ่าน เท่ากับลูกมีต้นทุนของการหาความสุขเป็น สามารถค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเสริมจินตนาการ ความบันเทิง หรือวิชาการ เป็นคุณสมบัติที่ดีต่อการเติบโตในโลกกว้างอย่างมีคุณภาพ
การที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นการเชื่อมโยงหนังสือกับความสุข ไม่ว่าจะเป็นความสนุกจากเนื้อเรื่อง จากการเล่าด้วยน้ำเสียงสูงต่ำชวนให้ติดตาม หรือแค่พ่อแม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับลูก เท่านี้ก็เป็นช่วงเวลาคุณภาพที่จะประทับความรัก ความอบอุ่นไว้ในหัวใจลูก และทำให้ลูกรู้สึกว่าชั่วโมงของการอ่านนั้นมีความสุข
พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานก็ได้ ไม่ต้องอ่านหลายเล่มก็ได้ ขอเพียงแค่ลงมืออ่านเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ มีเวลาน้อยก็อ่านน้อย มีเวลามากก็อ่านนาน ใช้เวลาเพียงครั้งละ 10-15 นาทีเท่านั้น จะใช้เวลาช่วงเช้า หรือทุกคืนก่อนนอน ตอนเย็น บนรถตอนรถติดบนท้องถนน ขณะรอคิวที่ร้านอาหาร หรือตอนออกไปเที่ยวนอกบ้าน การที่มีหนังสืออยู่ใกล้มือหรือติดกระเป๋าไว้ เมื่อมีโอกาสตอนไหนก็หยิบมาอ่านให้ลูกฟังได้ทุกเวลา
อ่านทุกวัน พบมหัศจรรย์ในครอบครัว
1.หนังสือนิทาน เป็นหนังสือขวัญใจของเด็กๆ ทุกคน ในร้านหนังสือมีหนังสือนิทานให้เลือกมากมายและหลากหลาย แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะ ซื้อเท่าที่พอมีกำลังซื้อ อ่านเท่าที่เรามี อ่านซ้ำกี่รอบก็สนุก หรือจะชวนลูกไปอ่านหนังสือนิทานในห้องสมุดใกล้บ้าน เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกหนังสือด้วยตัวเอง ปริมาณหนังสือไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีเวลาอ่านด้วยกันทุกวันก็เพียงพอแล้ว
2.หนังสือทำมือด้วยรักจากใจพ่อแม่ พ่อแม่สามารถทำหนังสือจากภาพวาด หรือติดภาพถ่ายครอบครัวนำมาเล่าเรื่อง ตัดภาพจากนิตยสาร ปฏิทิน มาสร้างสรรค์เป็นหนังสือภาพเล่าเรื่องได้มากมาย
3.อ่านรอบตัว อ่านได้ทุกที่ การอ่านไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของหนังสือเป็นเล่ม คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกอ่านได้ตั้งแต่กล่องนม ขวดสบู่ หลอดยาสีฟัน เมนูอาหาร ป้ายชื่อร้านค้า ป้ายบอกทาง หัดอ่านวันละนิด ทุกที่ ทุกเวลา และเชื่อมโยงสู่การใช้งานได้ในชีวิตจริง
อ่านหนังสือดีต่อลูก
1.ลูกเรียนรู้จากการฟังและการดู ตาของเด็กจะได้มองภาพสวยๆ ไปพร้อมกับเรื่องราวที่ได้ฟังจากที่พ่อแม่เล่าหรืออ่านให้ฟัง ทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าภาพที่เห็นคืออะไร เรียกว่าอะไร มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ทั้งเรื่องที่ใกล้ตัวเด็ก เช่น ร่ายกายของตัวเอง สัตว์ต่างๆ มีสีสัน รูปร่าง รูปทรง หรือเรื่องที่ไกลตัวออกไปเรื่อยๆ
2.ลูกเกิดจินตนาการ จากการติดตามเนื้อเรื่องที่ได้ฟัง เป็นเรื่องแฟนตาซีที่ไม่มีอยู่จริงก็ได้ ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เพราะจินตนาการคือพื้นฐานสำคัญก่อนที่จะต่อยอดไปสู่การคิดหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผลในขั้นตอนต่อไป
3.สมองของลูกถูกกระตุ้นให้คิดและเรียนรู้ เมื่อพ่อแม่เล่านิทานแสนสนุกและชวนคิดชวนถามให้ลูกตอบ กระตุ้นการใช้ความคิด ชวนให้สนใจ อยากรู้อยากเห็น ยิ่งลูกคิดบ่อยๆ มากเท่าไหร่ สมองของลูกก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้น
4.ลูกเกิดการเรียนรู้ภาษา การใช้ภาษาหรือคำพูดของพ่อแม่ในการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ทั้งสำเนียงการพูด ภาษาที่มีความหลากหลาย ภายใต้น้ำเสียงที่อ่อนโยน มีการเติมสีสันด้วยจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ลูกจะค่อยๆ จดจำสำนวนภาษาแบบต่างๆ เพิ่มคลังคำศัพท์ รู้จักการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องตามพ่อแม่ นำไปสู่การเรียนรู้ภาษาจากประสาทสัมผัสทางหู ลูกจะเก็บคำที่ได้ยิน และเมื่อมีการชี้ตามคำในแต่ละหน้าจะทำให้เด็กคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ตัวอักษรต่างๆ เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนจะมีผลทางบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อทักษะการอ่าน การเรียนรู้ เช่น ภาษา การคำนวณ การคิด และมีแนวโน้มด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่มีใครอ่านหนังสือให้ฟัง
5.ลูกมีความสุขที่ได้อยู่กับพ่อแม่ การอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืนเป็นเวลาที่แสนสงบและแสนสุขระหว่างพ่อแม่ลูก ทำให้เกิดความผูกพันและสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ซึ่งจะประทับอยู่ในใจของลูกไปจนเติบโต สายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นนี้ช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้ลูกทำอะไรออกนอกลู่นอกทางจนยากที่จะแก้ไขได้
เคล็ดลับการอ่านหนังสือนิทาน
1.ตั้งใจอ่านอย่างอบอุ่น ด้วยการจับลูกนั่งตัก อยู่ในท่าที่สบายๆ บรรยากาศผ่อนคลาย กอดหอมกันตามใจชอบ แล้วลงมืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง เติมสีสันการอ่านด้วยน้ำเสียงที่สนุกสนานหรือตื่นเต้น ชี้นิ้วไปตามรูปภาพหรือตัวอักษร คอยซักถามชวนลูกคิดตามไปด้วยหลังจากอ่านจบเรื่อง
2.สร้างกิจกรรมหลังการอ่าน เมื่ออ่านเรื่องไดโนเสาร์ก็พาลูกไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ อ่านเรื่องผีเสื้อก็ชวนลูกไปดูผีเสื้อจริงๆ ชวนวาดรูป ระบายสี หรือพับกระดาษเป็นผีเสื้อ เพื่อกระตุ้นและฝึกหัดให้ลูกรู้จักการคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นเวลาสนุกสนานกันทั้งครอบครัว
3.เลือกหนังสือให้เหมาะสมกับวัย วัยก่อน 1 ปี เลือกหนังสือที่มีภาพขนาดใหญ่ ทนทาน ทำความสะอาดได้ ทำด้วยวัสดุที่ปลอดภัย มีสีสันสดใส ช่วง 1-2 ปี มีภาพคนและสัตว์ เรื่องราวสั้นๆ มีคำคล้องจองกัน ใช้อักษรตัวโตๆ กระดาษหนาทนทาน ให้เด็กเปิดอ่านเองได้ง่ายๆ ช่วง 2-3 ปี เนื้อหาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งรอบตัวและกิจวัตรประจำวันง่ายๆ ที่ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วงวัย 4-6 ปี เนื้อหาหรือเรื่องราวต้องทำให้ลูกเกิดอารมณ์ร่วม เพราะกระทบความรู้สึกนึกคิดบางอย่าง หรือเชื่อมโยงกับการเรียนรู้รอบๆ ตัว มีภาษาที่สละสลวย ไพเราะ คำคล้องจองที่อ่านอย่างมีจังหวะนั้นเหมาะสำหรับลูกในวัยนี้ ตัวอักษรที่ใหญ่ ชัดเจน มีหัว เพื่อลูกจะได้จำรูปแบบตัวอักษร รูปแบบคำ รูปแบบประโยคอย่างถูกต้อง การเลือกหนังสือเพื่อบ่มเพาะนิสัยที่ดี การดูแลสุขภาพ การมีวินัย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |