ผู้ประท้วงหญิงชาวเมียนมาวัย 20 ปีที่โดนยิงศีรษะระหว่างร่วมชุมนุมที่กรุงเนปยีดอเมื่อวันที่ 9 ก.พ. เสียชีวิตแล้วเมื่อวันศุกร์ หลังจากนอนโคม่านาน 10 วัน เป็นผู้ประท้วงคนแรกที่สังเวยการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ขณะอังกฤษและแคนาดาแซงก์ชันนายพลหลายคน อายัดทรัพย์และห้ามเดินทางเข้าประเทศ
แฟ้มภาพ ผู้ประท้วงในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถือป้ายข้อความกล่าวโทษว่าตำรวจยิงผู้ประท้วงระหว่างการชุมนุมที่เมืองหลวงเป็น "อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"
ข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า เมีย ตแวะ ตแวะ ไคง์ ซึ่งเพิ่งอายุครบ 20 ปีเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว อยู่ในอาการโคม่าต้องใช้เครื่องพยุงชีวิตมาตั้งแต่ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จากบาดแผลโดนยิงที่ศีรษะ ซึ่งแพทย์หลายคนลงความเห็นว่าเกิดจากกระสุนจริง แพทย์และพี่ชายของเธอยืนยันเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ว่าเธอเสียชีวิตแล้วในวันนี้
แพทย์ที่ยืนยันการตายของเธอกล่าวกับเอเอฟพีว่า แพทย์จะผ่าชันสูตรศพของเธอ เนื่องจากเป็นกรณีของความอยุติธรรม แพทย์จะตรวจสอบสาเหตุการตายและจะเดินหน้าทวงถามความยุติธรรม
เธอเป็นผู้ประท้วงคนแรกที่สังเวยชีวิตในการสลายการชุมนุมนับแต่ชาวเมียนมาออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐประหารในหลายเมืองติดต่อกันทุกวัน โดยวันศุกร์นี้จะครบ 2 สัปดาห์พอดี
การชุมนุมประท้วงตามเมืองเล็กเมืองใหญ่ทั่วเมียนมาส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ แต่มีบ้างที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมเช่นยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง รวมถึงรายงานการใช้กระสุนจริงที่เนปยีดอ ซึ่งคร่าชีวิตผู้ประท้วงหญิงรายนี้และทำให้อีก 1 คนบาดเจ็บสาหัส กองทัพแถลงเมื่อวันก่อนด้วยว่า มีตำรวจเสียชีวิต 1 นายจากอาการบาดเจ็บระหว่างการปะทะกับผู้ประท้วง
เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษและแคนาดาเป็นสองประเทศล่าสุดที่ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรนายทหารเมียนมา โดยอังกฤษอายัดทรัพย์สินนายพล 3 คน ฐาน "ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง" จากบทบาทภายในกองกำลังความมั่นคงของเมียนมา และห้ามบุคคลเหล่านี้เดินทางเข้าอังกฤษ ส่วนแคนาดาแซงก์ชันเจ้าหน้าที่ทหาร 9 คน และกล่าวหารัฐบาลทหารว่ามีส่วนร่วม "ในการรณรงค์ปราบปรามอย่างเป็นระบบผ่านมาตรการทางกฎหมายที่บีบบังคับและการใช้กำลัง"
การคว่ำบาตรของอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเก่าของพม่า กับแคนาดาในครั้งนี้ เกิดไล่หลังการประกาศคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐในสัปดาห์ก่อน รวมถึงคำสั่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ตัดไม่ให้พวกนายพลพม่าสามารถเข้าถึงกองทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่น, อินเดีย, สหรัฐ และออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ในกลุ่มพันธมิตรที่เรียกว่า "ควอด" ออกแถลงการณ์ร่วมประกาศจุดยืนว่า เมียนมาต้องรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว และคัดค้านความพยายามใช้กำลังบังคับเพื่อทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่เลวร้ายลง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |