ชงศบค.ปรับโซนสีคุมโควิด


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.ชุดเล็กเคาะปรับลดโซนสีคุมโควิด ชงชุดใหญ่ไฟเขียว 22 ก.พ. สมุทรสาครยังเข้ม ลดพื้นที่ควบคุมเหลือ 8 จังหวัด ไทยติดเชื้อเพิ่ม 150 ราย คลัสเตอร์ปทุมธานีลามอีก 9 จ. "อนุทิน" เสียใจหมอเสียชีวิตจากโควิดรายแรก สธ.ชี้เหตุน้ำลายผู้ป่วยแทรกซึมหน้ากาก

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก?ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19)? หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์?การแพร่ระบาด?ประจำวันว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 150 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 142 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 25,111 ราย ผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 249 ราย รวมหายแล้วสะสม 23,946 ราย ยังคงรักษาอยู่ 1,083 ราย โดยไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตคงที่ 82 ราย ทั้งนี้ ภาพรวมการติดเชื้อในประเทศ พบในสมุทรสาคร 88 คน, กทม. 5 คน, ปทุมธานี 45 คน นครปฐม 1 คน มหาสารคาม 1 คน พระนครศรีอยุธยา 1 คน
    พญ.อภิสมัยกล่าวถึงการติดเชื้อคลัสเตอร์ จ.ปทุมธานี ว่าทีมควบคุมโรคกระจายการตรวจจากตลาดพรพัฒน์ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตลาดสุชาติ ตลาดรังสิต และชุมชนที่พักอาศัย โดยการตรวจค้นหาเชิงรุก 4,000 คน พบผู้ติดเชื้อ 437 คน นอกจากนี้ยังกระจายไปอีก 9 จังหวัด รวมพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้เป็น 10 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นครนายก กทม. เพชรบุรี สมุทรปราการ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครราชสีมา และนนทบุรี หลังจากนี้จะตรวจคัดกรองใน จ.ปทุมธานี ให้ครบหมื่นคน
    สำหรับภาพรวมการติดเชื้อเป็นรายสัปดาห์ พบว่าในช่วงต้นเดือน ก.พ. พบผู้ติดเชื้อใน 16 จังหวัด สัปดาห์นี้ขยับเพิ่มเป็น 19 จังหวัด โดยมีจังหวัดสีเขียวที่ไม่พบผู้ป่วยต่อเนื่องเกิน 7 วัน จำนวน  44 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ยังเป็นสีแดง พบผู้ติดเชื้อในรอบ 1-3 วัน มีจำนวน 13 จังหวัด
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ซึ่งจะมีการเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ พิจารณาก่อนมีผลใช้บังคับ โดยปรับระดับสีจังหวัดและพื้นที่ควบคุมโรคโควิด-19 แบ่งเป็นโซนสีต่างๆ ดังนี้
    1.สีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ จ.สมุทรสาคร เหมือนเดิม 2.สีส้ม พื้นที่ควบคุมสูงจาก 20 จังหวัด ลดลงเหลือ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก และราชบุรี 3.สีเหลือง พื้นที่เฝ้าระวังสูงจาก 17 จังหวัด เหลือ 14 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ชลบุรี ระยอง ชุมพร สงขลา ยะลา และนราธิวาส 4.สีเขียว พื้นที่เฝ้าระวังจาก 38 จังหวัด เป็น 54 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบูรณ์ สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครพนม ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี อ่างทอง สระแก้ว จันทบุรี สิงห์บุรี ตราด ปราจีนบุรี และลพบุรี
    "การปรับระดับพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม เป็นมาตรการที่ EOC กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมหารือตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. และเฝ้าติดตามสถานการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น แม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบในวันที่ 22 ก.พ.นี้" พญ.อภิสมัยระบุ
    พญ.อภิสมัยยังกล่าวถึงนโยบายเบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่ามีการหารือกันในที่ประชุม ศบค.ชุดเฉพาะกิจ ว่าการกระจายวัคซีนเป้าหมายที่สำคัญคือ ทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 จึงเน้นย้ำว่าไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยถาวร หรือแม้กระทั่งแรงงานต่างด้าวที่เราต้องดูแลเขาในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งใน 2-3 วัน จะมีแผนรายละเอียดออกมารายงานให้ทราบอีกครั้ง นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้หารือว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะต้องได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อการเดินทางระหว่างประเทศ เหมือนที่เคยทำในการรับรองวัคซีนโรคไข้เหลือง โดยจะมีรายละเอียดในวันที่ 22 ก.พ.นี้
    เมื่อถามว่า หากภาคเอกชนหรือผู้ที่มีความพร้อม จะสามารถนำเข้าวัคซีนได้หรือไม่ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า หลักการคร่าวๆ ศบค. เห็นด้วยในการที่จะให้ภาคเอกชนสามารถจัดหาวัคซีนได้ แต่มีสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ ใครเป็นผู้ที่จัดหาได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำว่าต้องเป็นสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ลักษณะเป็นโรงพยาบาล สถานบริการที่มีแพทย์ และให้บริการในภาวะฉุกเฉินได้ และวัคซีนต้องมีที่มา ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่ามีความปลอดภัยก่อนนำไปฉีดให้ประชาชน
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ อายุ 66 ปี อดีตแพทย์ รพ.มหาสารคาม เสียชีวิตจากโควิด-19 ว่านับเป็นบุคลากรทางแพทย์รายแรกที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยจากการสอบสวนโรค พบว่า นพ.ปัญญาเป็นอดีตอายุรแพทย์ ประจำหน่วยไตเทียม รพ.มหาสารคาม หลังเกษียณอายุราชการได้มาเป็นแพทย์ประจำคลินิก 2 แห่ง เกี่ยวกับหน่วยไตเทียมและคลินิกทั่วไป โดยมีโรคประจำตัวทั้งมะเร็งต่อมลูกหมาก ไขมันในเลือดสูง ถุงลมปอดโป่งพอง
    ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อ มาจากการให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คน ที่มาจากคลัสเตอร์โต๊ะแชร์ ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 3 คนนี้ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าติดเชื้อโควิด เมื่อรู้แล้ว นพ.ปัญญาเข้ารับการตรวจหาเชื้อ และระวังตัวอย่างดี ตรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ม.ค. แต่ไม่พบว่าติดเชื้อ แต่มีอาการไข้นิดหน่อย จึงตรวจหาเชื้อซ้ำ ในวันที่ 1 ก.พ. จากนั้นอาการไม่ดีขึ้น และได้รับการรักษาใน รพ. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. แต่อาการไม่ดีขึ้น ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
    นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรณีของ นพ.ปัญญา จะเป็นบทเรียนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป เพราะทราบจากภรรยาของ นพ.ปัญญาว่าปกติ นพ.ปัญญาจะใส่หน้ากากอนามัยและเฟซชิลด์ขณะตรวจรักษาคนไข้ แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยโควิด 1 คนที่มารับการตรวจ เพราะมีไข้หลายวัน จึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด เช่น ให้คนไข้อ้าปากเพื่อดูการอักเสบในคอ ให้ร้องเสียงอา เพื่อดูการเคลื่อนไหวของลิ้นไก่ ให้หายใจแรงๆ เพื่อดูว่ามีภาวะปอดอักเสบหรือไม่ ทำให้อาจมีละอองฝอยหรือน้ำลายของผู้ป่วยสัมผัสหรือแทรกซึมระหว่างรอยต่อของหน้ากากอนามัย ดังนั้น จึงเป็นบทเรียนให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ไม่ว่าจะปฏิบัติงานที่ไหน จะต้องระวังตัวเองอย่างเข้มงวด ส่วนประชาชน หากตัวเองมีความเสี่ยงไปในที่มีผู้ติดเชื้อ หรือใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ จะต้องแจ้งประวัติกับแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์อย่างตรงไปตรงมาไม่ปิดบัง
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว และรู้สึกแย่ จิตตก เสียใจเป็นอย่างมาก ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความเสียสละ และต้องไปดูไทม์ไลน์ของผู้ป่วยที่มารักษากับ นพ.ปัญญาด้วยว่าเป็นอย่างไร ต้องพิสูจน์ว่าติดเชื้อแล้วหรือไม่ก่อนไปรักษา ซึ่งการเสียชีวิตของ นพ.ปัญญา สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จึงควรเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนก่อน และได้มอบหมายให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ลงไปพื้นที่ไปตรวจหาข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังเป็นอุทาหรณ์ให้กับกลุ่มแพทย์ว่าต้องมีความพร้อมในการป้องกันตัวด้วย ทั้งนี้ จะเดินทางไปคารวะศพ นพ.ปัญญาด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"