เปิดคนจนมีบ้าน เงินไม่พอกู้ร่วม คาด6เดือนหมด


เพิ่มเพื่อน    

ธอส.เตรียมเปิดให้คนจนยื่นขอกู้บ้าน ชี้รายได้ไม่พอสามารถยกครัวกู้ร่วมได้ พร้อมเปิดให้เดินบัญชีกับธนาคารก่อนกู้จริง คาด 6 เดือนปล่อยกู้เต็มวงเงิน โชว์ผลงานปี 2560 ปล่อยกู้เต็มพิกัดเฉียด 2 แสนล้านบาท ตั้งเป้าหมายปี 2561 โกยกำไร 1.2 หมื่นล้านบาท
      นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 ม.ค.นี้   จะเริ่มเปิดให้ขอสินเชื่อในโครงการสินเชื่อบ้านสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 6 หมื่นล้านบาทเป็นวันแรก โดย ธอส.จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ได้รับอนุมัติสินเชื่ออย่างเต็มที่ เนื่องจากเปิดให้สามารถกู้ร่วมโดยใช้บุคคลในครอบครัวที่มีรายได้มากู้ร่วมกี่คนก็ได้ แต่ต้องมีรายได้เป็นไปตามเกณฑ์การขอสินเชื่อจากธนาคาร รวมทั้งในรายที่หลักฐานรายได้ไม่เพียงพอ ก็จะเปิดให้มีการเดินบัญชีกับ ธอส. 6-9 เดือน ซึ่งหากลูกค้าสามารถทำได้ตามเงื่อนไข ก็จะอนุมัติสินเชื่อให้
          ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ถือบัตรคนจน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท กู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรกที่ 2.75% ผ่อนชำระต่อเดือนไม่เกินไม่เกิน 4 พันบาท คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้หมดภายใน 6 เดือน โดยมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบให้ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการปล่อยสินเชื่อในวงเงินไม่สูงมาก 
         นอกจากนี้ ยังมีวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน ที่ขอกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ที่ 4 ปีแรก และวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับบุคลากรภาครัฐ สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ราชการ อาทิ ข้าราชการ พนักงานราชการพนักงานมหาวิทยาลัย และพนักงานรัฐวิสาหกิจ อัตราดอกเบี้ย MRR-3.75% ต่อปี หรือปัจจุบันเท่ากับ 3% ต่อปี นาน 4 ปีแรก
         นายฉัตรชัยกล่าวว่า ในปี 2561 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 1.89 แสนล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน โดยเฉพาะในไตรมาส 1/2561 ธนาคารมั่นใจว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท มาจากสินเชื่อผู้มีรายได้น้อย 6 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อ HOME FOR ALL อัตราดอกเบี้ย 2.9% ที่ยังมียอดค้างอนุมัติสินเชื่อจากไตรมาสก่อนอีก 2.4 หมื่นล้านบาท รวมทั้งดำเนินการตามตัวชี้วัดตามแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้าใจทางการเงิน หรือ โรงเรียนการเงิน นำร่อง 1 หมื่นรายที่ต้องการกู้เงินให้มาเดินบัญชีล่วงหน้ากับธนาคาร
          สำหรับผลการดำเนินงานปี 2560 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 1.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.06% สูงกว่าเป้าหมาย 1.85 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.24% ขึ้นเป็นท็อป 3 ของธนาคารที่มีการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ด้านสินทรัพย์รวม 1.06 ล้านล้านบาท เงินฝากรวม 8.58 แสนล้านบาท มีเอ็นพีแอลจำนวน 4.31 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.21% โดยปี 2561 คาดว่าเอ็นพีแอลจะลดเหลือ 4% โดยมีกำไร 1.2 หมื่นล้านบาท จากปี 2560 มีกำไร 1.1 หมื่นล้านบาท
          อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในไตรมาส 1/2561 จะยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยธนาคารจะพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด และจะพยายามคงไว้ให้ถึงไตรมาส 2/2561 แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาขึ้น เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ ส่วนหลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จะต้องติดตามสภาพตลาดในขณะนั้นอีกครั้ง 
          นางญาณี แสงศรีจันทร์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย ณ สิ้นไตรมาสแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-29 ธ.ค.2560 ส่วนราชการสามารถเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวม อยู่ที่ 8.97 แสนล้านบาท ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 2.9 ล้านล้านบาท หรือคิด 31% สูงกว่าเป้าหมาย 0.71%
          ทั้งนี้ เป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 8.1 แสนล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2.24 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 36.2% สูงกว่าเป้าหมาย 3.2% ขณะที่รายจ่ายลงทุน (กรณีไม่รวมงบกลาง) เบิกจ่ายได้ จำนวน 8.71 หมื่นล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 5.77 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15.10% ต่ำกว่าเป้าหมาย 7.01%
          สำหรับผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้ว 6.96 หมื่นล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 3.15 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 22.1% โดยมีการก่อหนี้แล้วทั้งสิ้น 2.08 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 66.1%
     ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทำไมรัฐบาลจึงจะจัดทำงบประมาณกลางปีพิเศษเพิ่มปี 2561 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ทั้งๆที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เหตุผลในการจัดทำงบประมาณกลางปีของรัฐบาลในอดีต เป็นเพราะรัฐบาลในขณะนั้นจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าหมาย จึงออกงบประมาณกลางปีฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการลงทุนอะไรตามมาบ้าง ผิดกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีแต่แผนการใช้เงิน แต่ไม่มีโครงการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน 
    "น่ากลัวว่าจะกลายเป็นการแจกเงินครั้งเดียวแล้วจบ เช่น เตรียมงบประมาณจ่ายเงินชดเชยเพื่อให้ชาวสวนยางเลิกปลูกยางไว้ถึง 40,000 ล้านบาท ไม่ทราบว่ามีแผนรองรับหรือไม่ว่าพอเลิกปลูกยางแล้วจะให้เขาไปทำมาหากินอะไรต่อ ไม่อย่างนั้นชาวบ้านจะได้รับเงินครั้งเดียว แต่หมดงานหมดอาชีพ โดยที่ราคายางในตลาดก็ไม่ได้สูงขึ้น เพราะถึงประเทศไทยจะลดกำลังการผลิตยางลง แต่ประเทศอื่นเขาก็ยังผลิตได้อยู่ จึงไม่ได้ส่งผลต่อราคายางในตลาดโลก"
    ร.ท.หญิงสุณิสาบอกว่า รัฐบาลควรยอมรับความจริง เหมือนอย่างที่กระทรวงการคลังเองก็เพิ่งออกมายอมรับว่าที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ประชาชนจึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น และมีแต่บริษัทใหญ่ๆ ได้รับผลประโยชน์จากโครงการเศรษฐกิจของรัฐบาล ในขณะที่การท่องเที่ยวก็ขยายตัวเป็นกระจุกเฉพาะในเมืองหลักๆ เท่านั้น รัฐบาลจึงควรเปลี่ยนวิธีคิดได้แล้ว เพราะไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ฐานรากอย่างแท้จริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"